xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ย้ำจัดงบตามสถานการณ์กู้มาเพื่อช่วยช่วงโควิด ต่อยอดวางรากฐานพัฒนาชาติ-โครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ แจงจัดงบตามสถานการณ์ รบ.และโลก กู้เงินล้วนนำมาเพื่อช่วย ปชช.ช่วงโควิด และได้ต่อยอดวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างครบวงจร และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบดิจิทัลเพื่อ ปชช. แก้โควิดลำดับต้นของโลกเกิดจากความร่วมมือ

วันนี้ (2 มิ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ยินดีรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทุกคน ซึ่งหลายอย่างต้องให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงในรายละเอียด จึงขอชี้แจงให้รับทราบอีกครั้งในภาพรวม ว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เป็นแหล่งเงินประเภทหนึ่งของการทำนโยบายรัฐบาล หากมองเฉพาะรายการที่ปรากฏตามเอกสาร และตัดสินเลยว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร หรือประเทศเราไม่ได้อะไรนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานโดยใช้แหล่งเงินหลายอย่าง บางเรื่องรัฐบาลใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่พิจารณาในช่วงเวลานี้มาดำเนินการ บางเรื่องรัฐบาลใช้เงินกู้ดำเนินการ บางเรื่องใช้เงินรายได้รัฐวิสาหกิจ หรือเงินนอกงบประมาณดำเนินการ โครงการลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่ปรากฏอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น รัฐบาลจะดำเนินการโดยการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งมีความก้าวหน้ามาตามลำดับ

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปให้เห็นภาพ ว่า แม้ว่าใช้งบประมาณขาดดุล หรือมีการกู้เงินในช่วงนี้ จำนวนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 หากไม่ต้องใช้ยอดนี้มาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หนี้สาธารณะคงไม่สูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์

โดยรัฐบาลได้สานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรม เป้าหมาย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ใช้งบประมาณมาตามลำดับ โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ และการต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การป้องกันประเทศ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ รวมทั้งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก

ในส่วนของ EEC ยืนยันว่า EEC ทำให้เกิดการกระจายรายได้ การจ้างงาน ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย SME ร้านค้า ชุมชน ต่างๆ เป็นวงกว้าง ทั้งในระดับฐานรากไปจนถึงระดับประเทศ อาทิ (1) สร้างโอกาสงานแก่เยาวชนหญิง-ชาย วุฒิอาชีวศึกษา-ปริญญาตรี-โท-เอก ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เชิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 17,000 ตำแหน่ง, อุตสาหกรรมดิจิทัล 116,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 58,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 11,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต 53,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมระบบราง 24,000 กว่าตำแหน่ง, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อีกมากกว่า 140,000 ตำแหน่ง (2) การจ้างงาน “ภาคธุรกิจ” ไม่น้อยกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี “ภาคแรงงานการก่อสร้าง” ไม่น้อยกว่า 16,000 อัตรา (3) สร้างผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบส่วนแบ่งรายได้และภาษี จากโครงสร้างพื้นฐาน 4 สำคัญ ทั้งรถไฟความเร็วสูง-สนามบิน-ท่าเรือ เช่น สนามบินอู่ตะเภา เพิ่มรายได้รัฐเข้าประเทศมากกว่า 3 แสนล้านบาท สร้างงานเพิ่มกว่า 15,600 ตำแหน่งใน 5 ปี เป็นต้น

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โครงการโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ได้รับการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อเป็นประตูสำคัญ ที่เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ มีการพัฒนา “เมืองแห่งนวัตกรรม” หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเมืองไทย และ “เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม” หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ

สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การเตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน “ทั่วประเทศ” ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนจริง เชื่อมโยงแต่ละภาคของประเทศ และเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียน ทุกทิศทาง ได้แก่ ทางถนน ในปี 2557 มีเส้นทางหลัก 4,271 กิโลเมตร ปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์ สร้างเพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญ คือ บางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี และ พัทยา-มาบตาพุด ทางราง รถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ รวมถึงสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุด ในอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงรถไฟทางไกล-รถไฟความเร็วสูง-รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-รถไฟชานเมือง-สถานี บขส. และสนามบิน ทางน้ำ ทางน้ำ รัฐบาลได้เตรียมการเพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณการขนส่งทางน้ำ จากเดิมปี 2557 ประมาณ 279 ล้านตัน ปี 2564 เพิ่มเป็น 355 ล้านตัน โดยพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเดินเรือเฟอร์รี่ “พัทยา-หัวหิน” ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เพื่อเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ละลดเวลาในการเดินทาง ในทางอากาศ มีการปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 2557 รองรับ 118 ล้านคน ในปี 2564 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ ชี้แจงอีกว่า การพัฒนาเหล่านี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณเพียงปีเดียว และก็ไม่ได้ใช้แหล่งเงินจากงบประมาณอย่างเดียว ใช้ทั้งเงินกู้ เงินร่วมลงทุนภาครัฐ-เอกชน เงินรายได้รัฐวิสาหกิจมาดำเนินการ และต้องใช้เวลาในการดำเนินการ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วขึ้นมาก นอกจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องเน็ตหมู่บ้าน 74,987 หมู่บ้าน รวมทั้งโครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำไทยที่รัฐบาลดำเนินอยู่ เพิ่มขึ้นอีก 2 ช่องทาง ซึ่งจะช่วยเสริมบทบาทของไทยให้เป็น “ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน” อย่างที่ได้วางไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศเชื่อมต่อไปยังจีน อินเดีย และอาเซียน

อย่างไรก็ตาม การเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤตโลกและเป็นมหาวิกฤติครั้งที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทย ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก แต่รัฐบาลทำทุกวิถีทาง นโยบายต่างๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด รัฐบาลยอมเป็นนักกู้อย่างที่ท่านกล่าว แต่กู้มาเยียวยาช่วยเหลือประชาชน กว่า 40 ล้านราย ช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานต่างๆ ถ้าไม่นับเงินกู้โควิด 1.5 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกู้มาเพื่อใช้ในงานด้านรักษา-วัคซีน-เยียวยาประชาชนแล้ว หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 52.84 แต่เมื่อรวมเงินกู้โควิดแล้ว หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ยังอยู่ที่ร้อยละ 60.58 ถึงแม้จะสูงขึ้น แต่ก็ทำเพื่อประชาชน และหลายประเทศก็ตัวเลขสูงกว่าไทยมาก และยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนของการคลังตามกฎหมาย ได้รับการจัดอันดับที่ดีจากสถาบันการเงิน การคลังระหว่างประเทศหลายแหล่ง ยังคงระดับความน่าเชื่อถือการเงินการคลังของประเทศไทย โดยในการใช้จ่ายก็ได้ทยอยใช้หนี้ไปตามระเบียบทุกประการ ทุกปี ซึ่งยังมีความเชื่อมั่นจากหลายประเทศในเรื่องเศรษฐกิจของเรา

ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลได้ส่งเสริมสังคมไร้เงินสด การพัฒนาแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายและการพัฒนาต่างๆ จนประสบความสำเร็จ ปฏิบัติการได้จริง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพร้อมเพย์ และ QR Payment เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม แอปพลิเคชันถุงเงิน สำหรับ SME ขนาดเล็ก การใช้จ่ายเงินดิจิทัล ผู้เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังกว่า 50 ล้านคน รวมถึงร้านค้าและ SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ในโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิม ช้อป ใช้ เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับผลสัมฤทธิ์จากการจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกภาคส่วน นายกรัฐมนตรีไม่เคยอวดอ้างรัฐบาลพูดเสมอว่าเป็นความร่วมมือของคนไทยทุกภาคส่วน ต้องการการระดมแนวความคิด ช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องอาศัยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ได้ช่วยกันเต็มที่ ทำให้องค์กรต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับ และชื่นชมประเทศไทยให้เป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งต้องขอบคุณคนไทยและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่สามารถทำให้ไทยได้รับคำชื่นชม ถือเป็นผลจากความร่วมมือกัน และ “ประเทศไทย” หมายถึง ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกัน ประชาชน รัฐบาล ทำให้ประเทศไทยยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงได้เอง วิจัยได้หลายชนิดในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์โควิดก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ โดยยังส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ ล่าสุดเป็นที่น่ายินดีที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของ “ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่” ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันในเวทีอาเซียนจนประสบความสำเร็จ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่จะเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤตเท่ารัฐบาลนี้ ทั้งการได้รับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้งจากภายนอก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยโลกแบ่งเป็นสองขั้ว ส่งผลให้ทรัพยากรที่เคยสมดุลต้องขาดแคลน มีผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่สุดในวันนี้ คือ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤตพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอดอย่างพอเพียง รัฐบาลจึงได้เข้ามาดูแลประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเท่าที่สามารถจะกระทำได้ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตลอดจนการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม และอื่นๆ อีกมาก

จากความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปขณะนี้ ประเทศต่างๆ เริ่มใช้นโยบายจำกัดการส่งออกในสินค้าประเภทอาหารและปัจจัยในการผลิต เช่น ข้าวสาลี และปุ๋ยเคมี เป็นต้น สินค้าดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าที่ประเทศไทยต้องนำมาใช้ในการผลิตของภาคการเกษตร จากสถานการณ์ดังกล่าวแม้ว่าภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่สถานการณ์ของไทยยังดีกว่าในหลายประเทศ ไทยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นมาทดแทนได้ สามารถนำปลายข้าวมาใช้แทนข้าวสาลีสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ชั่วคราว และเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี รวมทั้งได้เจรจากับต่างประเทศและพันธมิตรของไทยเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้เร่งเจรจากับประเทศผู้ผลิตปุ๋ยเคมีอื่นๆ เพื่อนำปุ๋ยเคมีสำหรับใช้ในฤดูกาลเพาะปลูกที่เริ่มต้นแล้วในขณะนี้ รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นสำหรับการผลิตอาหารสัตว์จากประเทศอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยยังคงสามารถผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ และยังคงส่งออกสินค้าอาหารซึ่งมีความต้องการในตลาดโลกในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้รัฐบาลใช้เงิน และออกมาตรการมาแก้ไขปัญหา บรรเทาผลกระทบจากปัญหา ทั้งนี้ ส.ส.หลายท่านบอกงบประมาณปี 2566 ไม่มีรายการที่แสดงให้เห็นการช่วยเหลือปัญหาเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังประสบอยู่เลย ซึ่งนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า งบประมาณปี 2566 กว่าจะประกาศใช้คือ เดือนตุลาคม 2565 ซึ่งรัฐบาลจะไม่รอจนงบประมาณปี 2566 ประกาศใช้ แล้วจึงมาแก้ปัญหาเพราะจะไม่ทัน

สำหรับเรื่องหนี้ครัวเรือน นายกรัฐมนตรีจะไม่รองบประมาณปี 2566 ประกาศใช้ จึงได้ประกาศให้ทุกหน่วยงานได้มีการปรับแผนและงบประมาณต่างๆ จากการที่ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจและสอบถามข้อเท็จจริง มีมาตรการที่จะสนับสนุนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รัฐบาลได้ปลดล็อคเงื่อนไขหลายประการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและจะทำให้คนรุ่นหลังได้มีกองทุนนี้ใช้ต่อ รวมถึงแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. โดยจะช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของนักเรียนได้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้กฎหมายอยู่ที่สภา ซึ่งจะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ จึงขอให้ช่วยเร่งดำเนินการให้กฎหมายผ่านได้โดยเร็วเพื่อช่วยเหลือนักเรียน

นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว ความยากจนของแต่ละคน แต่ละบ้าน มีที่มาจากปัญหาที่แตกต่างกัน สิ่งที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำอยู่ในตอนนี้ คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว จะมีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันใน 5 มิติ พร้อมกัน ได้แก่ 1) มิติสุขภาพ 2) มิติความเป็นอยู่ 3) มิติการศึกษา 4) มิติด้านรายได้ 5) มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้ารายครอบครัว ทุกอย่างก็จะทยอยดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่ว่าคนจนจะหมดไปในปีนี้ หรือในทันทีได้ จำเป็นต้องอาศัยเวลาพอสมควร และอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน

สำหรับประเด็นที่ต้องเป็นห่วงว่ามีเด็กนักเรียนยากจนที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องหลุดจากระบบการศึกษา นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า รัฐบาลเร่งรัดดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มดังกล่าวที่ยากจนพิเศษทั้ง 1.2 ล้านคน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้แล้วเกือบ 100% ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 รัฐบาลได้พัฒนาระบบสารสนเทศ สำหรับติดตามสถานะเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด ทั้งมิติสุขภาพ มิติพฤติกรรม มิติการเรียนรู้ ทุกอย่างจะถูกบันทึกเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา นอกจากนั้น รัฐบาลยังสนับสนุนเพิ่มเติมเป็นคนละ 800 บาท ในช่วงโควิดนี้ แต่เพื่อให้มั่นใจว่าเด็ก ๆ จะไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา สำหรับนักเรียนกลุ่มรอยต่อการศึกษาคือ จากอนุบาล 3 ขึ้น ป.1 จาก ป.6 ขึ้น ม.1 จาก ม.3 ขึ้น ม.4 หรือเปลี่ยนไปเป็นอาชีวศึกษา และจาก ม.6 ขึ้นอุดมศึกษา รวมแล้วประมาณ 3 แสนคน

สำหรับที่ ส.ส. บางท่านเป็นห่วงว่า งบอุดหนุนการศึกษาลดลงนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะไม่ใช่เป็นการปรับลดงบประมาณ แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณตามจำนวนนักเรียนซึ่งช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงตามอัตราการเกิดของประเทศไทย จากเดิม เคยเกิดเฉลี่ยอยู่ที่ปีละประมาณ 1 ล้านคน แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดลดลง ล่าสุด เฉลี่ยประมาณ 680,000 คนต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ 5.4 แสนคน เป็นปีแรกที่เด็กเกิดน้อยกว่าคนเสียชีวิต ซึ่งอัตราการเสียชีวิตปี 2564 มี 5.6 แสนคน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่า รัฐบาลให้ความสูงสุดในการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ 15 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งค่าเรียนค่าอาหารกลางวัน นม ตลอดจนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี เดือนละ 600 บาท สำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยเฉลี่ยไม่เกินแสนบาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีวิกฤตซ้อนวิกฤตหนักหนาสาหัส แต่ไม่ละเลยในการสร้างอนาคตของประเทศ ซึ่งจะเป็นฐานรายได้ให้แก่ประชาชนและฐานรายได้ภาษีเพิ่มเติมให้กับประเทศต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น