xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนปี 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.ประกาศ 6 บุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนปี 64 ทั้ง “พงศธร-นิพนธ์ ปิยะ-กูปัทมา” ขณะ อบต.แม่แดด มูลนิธิกระท่อมพระสิริ รับประเภทองค์กร

วันนี้ (2 มิ.ย.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางปรีดา คงแป้น แถลงผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 หลังจากเมื่อวันที่ 3 ส.ค.- 28 ต.ค. 64 ได้ประกาศรับสมัครและเชิญชวนให้เสนอชื่อบุคคลและองค์กร ซึ่งมีบุคคลและองค์กรที่สมัครและได้รับการเสนอชื่อ รวมทั้งสิ้น จำนวน 118 ราย แบ่งเป็นประเภทบุคคล จำนวน 76 ราย ประเภทองค์กรภาครัฐ จำนวน 35 ราย และองค์กรภาคเอกชน จำนวน 7 ราย โดย กสม.มีมติรับรองผลการรวมทั้งสิ้น 8 รางวัล ประกอบด้วย ประเภทบุคคลทั่วไป จำนวน 6 รางวัล ได้แก่ 1. นายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้ก่อตั้งและ ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส องค์กรในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านป้องกันเอชไอวี (HIV) และเอดส์ (AIDS) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงด้านสุขภาพทางเพศและสิทธิทางเพศในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเป็นผู้มุ่งมั่นทำงานเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแก่คนข้ามเพศและบุคคลหลากหลายทางเพศมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น การผลักดันให้มีกฎหมายคู่ชีวิต ที่เปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้เหมือนคู่สมรสหญิงชายทั่วไป

2. นายนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป ผู้ดำเนินรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS ผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนมามากกว่า 27 ปี และได้นำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตสารคดีเชิงข่าวผ่านรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS เช่น การนำเสนอประเด็นสิทธิชุมชนในการร่วมดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สิทธิของกลุ่มเปราะบางอย่างคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประเด็นสถานะบุคคลของสามเณรไร้สัญชาติจำนวนหลายพันรูปที่เข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล หรือประเด็นผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหลายประเด็นที่นำเสนอก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม

3. น.ส.ภูษา ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการโครงการเลี้ยงดูทดแทน มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา (Step Ahead Foundation) และผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต เมื่อครั้งทำงานในฐานะข้าราชการ มีผลงานด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองเด็กและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวนมาก เช่น การประสานความร่วมมือในกลุ่มประเทศริมน้ำโขงเพื่อรับตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กลับคืนสู่ภูมิลำเนา ปี 2555 ภายหลังลาออกจากราชการ ได้เข้าทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศหลายแห่ง โดยขับเคลื่อนให้เกิดการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ปัจจุบันรณรงค์ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเด็กกับการเลี้ยงดูทดแทน

4. นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เริ่มงานในฐานะครูข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือตอนบน โดยสนับสนุนให้เด็กเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ด้อยโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้สูงอายุผ่านการประดิษฐ์ของเล่นไม้จากวัสดุธรรมชาติ นอกจากนี้ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ได้จัดกิจกรรมอบรมครู เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปส่งเสริมเยาวชนในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและการผลิตสื่อสร้างสรรค์ รวมทั้งยังทำงานกับเครือข่ายประชาชนชายแดนไทย เมียนมา และลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาโดยไม่เลือกชาติพันธุ์

5. นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับชุมชนในเขตอำเภอเมืองและอำเภอกุยบุรี เพื่อปกป้องทรัพยากรชายฝั่งจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก และผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์” เพื่อดูแลปกป้องทรัพยากรชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ในปี 2551 ยังได้สนับสนุนจัดตั้ง “สมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย” ซึ่งดำเนินกิจกรรม “ธนาคารปู” ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับ เคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้ชาวประมงพื้นบ้านในประเทศไทยอีกหลายกรณี

6. น.ส.กูปัทมา กาลีกาตะโป อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อาจารย์ที่รับผิดชอบรายวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2560 โดยได้นำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาบูรณการในการเรียนการสอนของนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกลุ่ม “สตรีเพื่อชุมชน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิสตรีที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลาม รวมทั้งองค์ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก และกฎหมายที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวแก่ชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้

ส่วนประเภทองค์กรภาครัฐ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีผลงานเด่นในการริเริ่มโครงการจำแนกที่ดิน-ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในเขตพื้นที่ตำบลแม่แดด ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพชีวิตให้กับราษฎรในพื้นที่กว่า 1,236 ครัวเรือน ซึ่งดำรงชีวิตที่พึ่งพากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาหลายชั่วอายุคน แต่ไร้ซึ่งสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมตำบลแม่แดดเพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Database : Geographic Information System) ด้านการใช้ประโยชน์จากที่ดิ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตำบลแม่แดดทั้ง 8 หมู่บ้าน ผลงานดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบป่าไม้กับชุมชนเพื่อลดความขัดแย้งและนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนในการบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดำรงชีวิตและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ประเภทองค์กรภาคเอกชน จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ มูลนิธิกระท่อมพระสิริ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ให้ได้เข้าพักฟื้นและเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมด้านอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมายเมื่อกลับสู่สังคมภายนอก มูลนิธิฯ เริ่มให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่พัทยา อำเภอบางละมุง ต่อมาได้ขยายพื้นที่การให้ความช่วยเหลือไปทั่วทั้งจังหวัดชลบุรี และทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง ผู้ป่วยเอดส์ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ พนักงานบริการทางเพศ เด็กผู้รับผลกระทบจากครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงผู้ป่วยเอดส์ที่ถูกทอดทิ้งไร้ที่พักพิง ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มีคนยากจน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และคนไร้บ้านที่อยู่ในความดูแลกว่า 40 ราย โดยมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการรับบริจาคเงินและสิ่งของจากประชาชนทั่วไปและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยมุ่งหวังให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้และกลับสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

นายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส

นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย

นางสาวกูปัทมา กาลีกาตะโป อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

นายนิพนธ์ ตั้งแสงประทีป ผู้ดำเนินรายการ Big story เรื่องใหญ่ ThaiPBS

นายวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

นางสาวภูษา ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการโครงการเลี้ยงดูทดแทน มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา (Step Ahead Foundation) และผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต
กำลังโหลดความคิดเห็น