เมืองไทย 360 องศา
ประเมินกันด้วยสายตาและความรู้สึกตอนนี้ หลายคนมีความเห็นตรงกันแบบฟันธง ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่เริ่มเข้าสภาในวันนี้ (31พฤษภาคม) คงจะผ่านความเห็นชอบในวาระแรกค่อนข้างแน่ เนื่องจากพิจารณาจากท่าทีที่ชัดเจนของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ที่ยืนยันให้การสนับสนุนอย่างหนักแน่น รวมไปถึงพรรคเศรษฐกิจไทย ที่แม้ว่าจะถูกมองว่า “ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล” ก็ยังมีท่าทีไม่คัดค้าน
ดังนั้น นาทีนี้ตัวแปรหลักที่ทำให้ร่างงบประมาณคว่ำหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ลงมา โดยมีการแถลงผ่านโฆษกพรรค ก็ยืนยันในแนวทางเดียวกัน อีกทั้งยังมีการตอบโต้ฝ่ายที่จ้องคว่ำร่างกฎหมายสำคัญนี้ ว่า มัวแต่ “เล่นการเมือง” มากกว่า “บ้านเมือง” เป็นต้น
แน่นอนว่า ร่างงบประมาณถือว่าเป็นกฎหมายการเงินที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศและของรัฐบาล เพราะหากไม่ผ่านก็จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมา ทั้งในเรื่องความล่าช้าและการหยุดชะงักของการลงทุนในโครงการสำคัญ ทั้งที่เป็นโครงการใหม่ และโครงการที่ต้องลงทุนต่อเนื่อง และยิ่งในภาวะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงวิกฤตและกำลังฟื้นตัวแบบนี้ ยิ่งต้องให้ผ่านการพิจารณาจากสภาตามขั้นตอนโดยเร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน สำหรับรัฐบาลแล้วก็รับรู้กันอยู่แล้วว่า หากร่างงบประมาณฯไม่ผ่าน สำหรับนายกรัฐมนตรี ก็มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา ซึ่งหากออกมาแบบนั้นก็ฟันธงได้เลยว่าต้องเลือกวิธียุบสภาแน่นอน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันด้วยเหตุผลเฉพาะหน้าที่ที่มาสนับสนุนว่าทำใมถึงร่างกฎหมายสำคัญฉบับนี้ต้องผ่านสภาค่อนข้างแน่ ก็เพราะว่าเอาเข้าจริงยังมั่นใจว่า ทุกพรรคยังไม่พร้อมที่จะลงเลือกตั้งกันในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไหนก็ตาม โดยเฉพาะหากเป็นพรรคเพื่อไทย ยังต้อง “รอ” กฎหมายสำคัญสองฉบับที่ว่าด้วยการเลือกตั้งผ่านสภา และมีผลบังคับใช้เสียก่อน
เพราะหากยังฝันถึงเรื่องการชนะแบบ “แลนด์สไลด์” และ “นายใหญ่” อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร จะได้กลับบ้านอย่างเท่ๆ ก็ต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน รออีกสักพัก ซึ่งคงไม่นานนัก เพราะล่าสุดฟังจาก นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่าเตรียมบรรจุเข้าระเบียบวาระต่อท้ายจากร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ ที่จะมีการอภิปรายกันในวันที่ 9-10 มิถุนายน จากนั้นถึงค่อยต่อด้วยการพิจารณากฎหมายสำคัญสองฉบับ ที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งกว่าจะเสร็จขั้นตอนทุกอย่าง ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าอีกสองสามเดือน
แม้ว่า ที่ผ่านมา บรรดาแกนนำฝ่ายค้านในพรรคเพื่อไทย จะย้ำว่า “ไม่รอ” แต่เมื่อพิจารณาในใจลึกๆ แล้ว ก็มั่นใจว่า “ปากไม่ตรงกับใจ” เพราะหากมีการกดดันจนยุบสภาไปก่อน โดยที่กฎหมายสองฉบับยังไม่เสร็จ มันก็เกิดปัญหาในการเลือกตั้งตามมามากมาย และแม้ว่าจะมีทางออกหลายทาง จนสามารถจัดการเลือกตั้งไปได้ แต่อย่างที่กูรูด้านกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุเอาไว้ล่วงหน้าว่า มันจะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ มีข้อโต้แย้งอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากบอกว่ากฎหมายสองฉบับดังกล่าวถือว่า เป็น “ตัวประกัน” สำคัญก็น่าจะกล่าวแบบนั้นก็ได้
ส่วนบรรดาพรรคเล็กบางพรรคที่กำลังเคลื่อนไหวและแสดงท่าทีเหมือนกับว่าต้องการ “โหวตคว่ำ” แต่เชื่อว่า หลายคนมองออกว่า นี่คือ รายการ “เคาะกะลา” เรียกหา “กล้วย” เพราะรู้ดีว่านี่คือช่วงเวลานาทีทองในช่วงท้ายๆ แล้ว และยิ่งมีการยุบสภา หรือมีการเลือกตั้งใหม่ หากใช้กติกาใหม่ บรรดา ส.ส.พรรคเล็กพวกนี้ แทบจะไม่มีโอกาสกลับมาได้เลย
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ล่าสุด ฝ่ายค้านโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย จะระบุแบบไม่เป็นทางการ ว่า ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันที่ 15 มิถุนายน ก็ตาม เพื่อล็อกไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรฺโอชา ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ยุบสภาไปก่อนก็ตาม แต่ตามขั้นตอนก็ต้องรอให้ประธานสภา บรรจุเข้าระเบียบวาระเสียก่อน หรืออีกทางหนึ่งเป็นการบีบให้ยุบสภาเร็วขึ้น แต่หากประเมินแล้วก็ไม่น่าจะยุบก่อน เพราะจะมีผลกระทบต่อร่างงบประมาณ ที่ยังคาสภา ยังไม่ผ่านวาระสาม
แม้ว่าถึงตอนนั้นสำหรับรัฐบาล โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีความเสี่ยงแบบห้าสิบ ห้าสิบ จะไปหรืออยู่มีโอกาสเป็นไปได้พอๆ กัน แม้ว่านาทีนี้ หากพิจารณากันตามความรู้สึก แบบที่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนมากนัก ก็ยัง “เหลื่อม” ให้ผ่าน มากกว่าไม่ผ่าน แต่ก็ต้องลุ้นกันตัวโก่งเหมือนกัน เพราะยังมีตัวแปรจากพรรคเศรษฐกิจไทย ที่พิจารณาตามอาการแล้วน่าจะจับมือพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ส่วนจะเป็นการ “รับงานจากนายใหญ่” หรือไม่ มันก็น่าคิดเหมือนกัน
แต่ตราบใดที่พรรคร่วมรัฐบาลยังผนึกกำลังกันแน่น โดยพรรคร่วมหลักๆ ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่อยากเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ มันก็ต้องกอดคอกันไปก่อน ไม่ต้องพูดถึงพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องยื้อให้นานที่สุด ซึ่งก็ย่อมหมายรวมถึงพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กที่ต้องต่อรองให้มากที่สุด คงไม่อยากสูญพันธุ์ก่อนกำหนดแน่
หากโฟกัสกันที่เรื่องร่างกฎหมายงบประมาณเป็นการเฉพาะหน้าก่อน ก็ยังมั่นใจว่า “ต้องผ่าน” สภาแน่นอน แม้ว่าฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะโหวตคว่ำก็ตาม และหากมองกันตามเกมก็น่าจะออกมาในแนว “ด่าฟรี” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการ “นวด” ให้ช้ำ ก่อนจะถึงดาบสองเมื่อคราว “ศึกซักฟอก” มาถึงซึ่งฝ่ายค้านแย้มออกมาแล้วว่า จะยื่นเข้าสภาในราวกลางเดือนหน้า
ดังนั้น หากมองกันทีละเรื่อง ทีละตอน ก็ต้องฟันธงไว้ก่อนว่ารัฐบาลจะผ่านกฎหมายงบประมาณปี 2566 ไปได้ไม่ยาก เพราะเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลยังแน่นปึ้ก ขณะที่พรรคตัวแปร หรือบรรดา “งูเห่า” ในรัฐบาลที่คาดว่าจะมีก็คงไม่กล้าแสดงตัว แต่ที่ต้องจับตา “งูเห่า” ในพรรคฝ่ายค้านมากกว่า ว่าคราวนี้จะโหวตสวนกี่คนกันแน่ ให้จับตาดูให้ดี เพราะจะมีผลไปถึงศึกซักฟอกที่กำลังจะมาถึงอีกไม่นานข้างหน้า!!