xs
xsm
sm
md
lg

อยากแลนด์สไลด์ ต้องยุบสภา-เลือกตั้งปีใหม่ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - ทักษิณ ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

ก็ถือว่ามีความชัดเจน หรือความน่าจะเป็นที่ใกล้เคียงไปอีกระดับหนึ่ง ว่า ในที่สุดแล้วการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า หรือหลังปีใหม่ 2566 ซึ่งก็ใกล้ครบวาระของรัฐบาล และสภา ในเดือนมีนาคม ไม่นานนัก

สำหรับเหตุผลที่มาสนับสนุนความเป็นไปได้ดังกล่าว ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการคาดการณ์ระยะเวลาแบบนี้มาแล้ว เพียงแต่ว่ายังติดในเรื่องความไม่แน่นอน และปัจจัยความเสี่ยงบางอย่าง ทำให้น้ำหนักที่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้าลดลง แต่ล่าสุดเมื่อฟังจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ระบุว่า ร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับ น่าจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม

คำให้สัมภาษณ์ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการ คาดว่า จะบรรจุเข้าวาระ วันที่ 9 มิ.ย.นี้ ส่วนการพิจารณาวาระ 2 ของกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้น คงไม่มีปัญหา เชื่อว่า จะเป็นไปตามคณะกรรมาธิการเสนอ และทุกอย่างจะจบในวันที่ 10 มิ.ย. ในวาระ 3 เมื่อเสร็จแล้วส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งจะพิจารณาไม่เกิน 15 วัน และส่งกลับมา ถ้าไม่มีประเด็นใดๆ ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ส่งให้นายกฯ จากนั้นประมาณ 20 วัน นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ และอีกไม่เกิน 90 วัน ประมาณปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค. กฎหมายคงจะประกาศใช้
เมื่อถามว่า แนวโน้มในวาระ 2-3 จะผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีสะดุด ใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เชื่อว่า เสียงข้างมากในรัฐสภา จะเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการแก้ไข ส่วนกระแสโหวตคว่ำร่างกฎหมายลูกนั้น ในสถานการณ์ หรือบริบทใดๆ ตนถือว่า เป็นไปไม่ได้เลย และเชื่อว่า การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไม่มีการพลิกไปใช้สูตรหารด้วย 500 โดยสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากจะเห็นด้วยกับที่ กมธ.เสนอ ซึ่งเป็นไปตามร่างที่ กกต.ส่งให้ ครม. ถ้าที่ประชุมรัฐสภาลงมติหารด้วย 100 ก็เป็นไปตาม รธน. มาตรา 91 กกต.คงไม่มีเหตุขัดข้อง แต่ถ้าลงมติหาร 500 กกต.คงท้วงว่า ขัดต่อเจตนารมณ์ รธน.

เมื่อถามว่า ในชั้น กมธ. ตัวแทนฝั่ง ส.ว.ส่วนใหญ่ลงมติหารด้วย 500 เมื่อกลับไปในรัฐสภา ส.ว.จะสนับสนุนหารด้วย 500 ทั้งหมด หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า กมธ.ฝั่ง ส.ว.มี 14 คน มี 9 คน ลงมติเห็นด้วยกับหาร 500 และ 2 คน เห็นด้วยกับหาร 100 งดออกเสียง 1 คน ไม่อยู่ในห้องประชุม 2 คน ดังนั้น เสียง ส.ว.ไม่เป็นเอกภาพ อีกทั้ง ส.ว.ในรัฐสภา ถือเป็นเสียง 1 ใน 3 แต่เสียงที่เห็นชอบ ส่วนใหญ่มาจาก ส.ส.ประมาณ 90% ซึ่ง ส.ส.มีตั้ง 476 คน จึงไม่มีปัญหาเรื่องการลงมติ ทั้งหมดคงผ่านด้วยความเรียบร้อย ซึ่งการใช้ 100 หาร ไม่ใช่เรื่องของพรรคใดได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ แต่เป็นไปตาม รธน.มาตรา 91

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่มี รัฐบาลอยู่ครบวาระแน่ และกฎหมายลูกก็ไม่มีปัญหาใดๆ คิดว่า ถ้าลงมติหาร 100 แล้ว คงไม่ได้ไปศาล รธน. เพราะชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ขัด รธน. จึงไม่มีประเด็นที่จะไปศาล รธน.

คำพูดข้างต้น พอสรุปได้สองสามประเด็นหลักๆ คือ มั่นใจว่า รัฐบาลอยู่ครบเทอม กฎหมายสำคัญสองฉบับ น่าจะมีผลบังคับใช้ในราวเดือนตุลาคม และจะใช้สูตรหารด้วย 100 ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลักๆ ก็จะประมาณนี้

แน่นอนว่า คำพูดของ นายไพบูลย์ ก็ย่อมหมายถึงตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นฝ่ายพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา ก็สะท้อนออกมาในแนวทางเดียวกับแกนนำรัฐบาล และพรรคแกนนำ เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เคยย้ำว่า จะมีการยุบสภาในช่วงปลายปีนี้ และจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี หรือหลังปีใหม่ และเมื่อนำมาปะติดปะต่อกับคำพูดที่ว่า ร่างกฎหมายสองฉบับมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม ก็ถือว่ามันก็ใกล้เคียง

นอกเหนือจากนี้ ปัจจัยสำคัญก็คือ “ความต้องการ” ของฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย ที่กำลังลุ้นให้กฎหมายสองฉบับนี้ผ่านสภาออกมารองรับการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าจะได้เปรียบ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะคงไม่อยากล่มรัฐบาลเสียกลางคัน แล้วเสียการใหญ่แน่นอน เพราะเป้าหมายของพวกเขา โดยเฉพาะ “นายใหญ่” นายทักษิณ ชินวัตร คือ “แลนด์สไลด์” นั่นแหละ

เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาในเดือนตุลาคม ถือว่ามันก็ใกล้เคียง เพราะหลังจากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน ถัดมาไม่กี่เดือนที่ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องการให้การประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ผ่านพ้นไปเสียก่อน ซึ่งเวลามันคาบเกี่ยวกันพอดี

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงบรรยากาศในพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานี้ หากสังเกตให้ดีก็จะเห็นชัดเจนว่า ยังไม่มีร่องรอยที่ส่อให้เกิดความแตกหัก หรือขัดแย้งรุนแรง ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้งในช่วงสองสามเดือนนี้แน่นอน ยังอยากใช้งบประมาณบริหารโปรเจกต์ต่างๆ ที่อยู่ในมืออีกมากมาย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงเปิดสภาสมัยสามัญที่กำลังจะเริ่มในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และยาวไปอีก 120 วัน จะมีปัจจัยเสี่ยงมากมายรออยู่ ไม่ว่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่หลายคนกังวลว่าจะถูกคว่ำ ก็น่าจะผ่านไปได้ เมื่อสังเกตจากอาการของพรรคร่วมที่คงต้องกอดคอกันไป ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หรือแม้แต่เรื่อง “ด่านวาระ 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนสิงหาคม ก็เช่นกัน ซึ่งฟังจากท่าทีของบรรดากูรูทางกฎหมาย ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นตรงกันว่าไม่น่ามีปัญหา สามารถอยู่ยาวไปถึงปี 2570 ด้วยซ้ำ

หรือแม้แต่เรื่อง “ญัตติซักฟอก” ที่ฝ่ายค้านหมายมั่นปั้นมือว่าจะคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้จงได้ แต่หากพิจารณากันตามสภาพความเป็นแล้ว มันก็ไม่ต่างจาก “ปาหี่” ดีๆ นี่เอง เพราะเอาเข้าจริง ฝ่ายค้านก็ยังไม่มีการกำหนดเวลาในการยื่นญัตติแต่อย่างใด หลังจากก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะยื่นทันทีเมื่อเปิดสภา แต่ในที่สุดก็เริ่มไม่พูดถึงแล้ว เนื่องจากทุกคนรู้ดีว่า พวกเขาต้องการให้กฎหมายสำคัญสองฉบับผ่านสภาเสียก่อนนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากทุกปัจจัยดังกล่าวมาแล้ว มันก็ทำให้มั่นใจได้เลยว่า การยุบสภาน่าจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ หลังจากกฎหมายสองฉบับผ่านสภามีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม และผ่านการประชุมเอเปก ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้น ก็ยุบสภา แล้วมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า หรือหลังปีใหม่ ตามที่เคยระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งถือว่า “วิน-วิน” กันทุกฝ่าย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น