xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแพ็กคู่ “ตู่-ป้อม” ยุบสภาก่อนซักฟอก !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

นาทีนี้หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้มากที่สุด เชื่อว่า มีโอกาส “ยุบสภา” สูงมาก และยังคาดว่า จะมีการยุบก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่คาดว่า น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่กฎหมายสำคัญสองฉบับผ่านสภา และมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป

แต่ถึงอย่างไรก่อนหน้านั้น ก็มีความเสี่ยงจากร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่มีกำหนดไทม์ไลน์ไว้แล้วในต้นเดือนมิถุนายน แต่ทั้งสองเรื่อง คือ ทั้งพระราชบัญญัติงบประมาณ และกฎหมายสำคัญสองฉบับ คือ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เป็นความฝันของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ที่มั่นใจว่า จะชนะแบบ “แลนด์สไลด์” ก็ต้องดันทุกทางให้ผ่าน ฉะนั้น แม้จะพยายามป่วนอย่างไร ก็คงไม่อยากให้รัฐบาลล้มก่อนกำหนดแน่นอน

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาตามบรรยากาศในตอนนั้น คือ เมื่อกฎหมายสำคัญสองฉบับผ่านสภาแล้ว มันก็คาดเดาเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะต้องมีแรงกดดันจากทุกฝ่ายต้องการให้มีการยุบสภาทันที

แต่เพื่อให้เห็นภาพถึงความเป็นไปได้สำหรับโอกาสยุบสภาที่อาจจะมาถึงก่อนก็เป็นไปได้ เริ่มจาก ร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2566 ที่กำหนดเข้าสภาในราววันที่ 1 มิถุนายน หากกฎหมายการเงินไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ยุบสภา หรือลาออกเท่านั้น ซึ่งน่าจะเลือกยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ มากกว่าการลาออก

อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่า ในด่านแรกคือ เรื่องกฎหมายงบประมาณ น่าจะผ่านไปได้ เนื่องจากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล น่าจะผนึกกำลังให้ผ่าน โดยเฉพาะบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังมีโครงการอยู่ในมือมากมาย ก็ต้องการความต่อเนื่อง และเป็นผลดีกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย

ส่วนด่านที่สองถัดมา ก็คือ กฎหมายสำคัญสองฉบับดังกล่าวก็น่าจะผ่าน เพราะพรรคฝ่ายค้านรวมไปถึงพรรคใหญ่หลายพรรค ต่างมีท่าทีสนับสนุน แม้ว่าในระยะหลังอาจลังเลอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่า จะหารด้วย 100 หรือ 500 อย่างไหนดีกว่ากันแน่ แต่หากสรุปตามความเชื่อที่มีอยู่ ก็ยังคิดว่า “น่าจะผ่าน” แต่หากไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงต้องเลือกยุบสภามากกว่าลาออก อีกนั่นแหละ

ซึ่งหวยออกยุบสภาจากกรณีนี้ มันก็จะยุ่งวุ่นวาย เพราะกติกาเลือกตั้งที่ต้องกลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเดิม ขณะที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบไปแล้ว แต่ก็นั่นแหละระดับชาวบ้านคงไม่ต้องไปกังวลแทน เพราะเชื่อว่ามีทางออกอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นแบบไหน ต้องรอให้เกิดขึ้นเสียก่อน และก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี “กูรูด้านกฎหมาย” ก็เคยยืนยันแล้วว่า มีทางออกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะยุ่งเท่านั้นเอง จึงไม่อยากให้เกิดแบบนั้น

ด่านที่สาม ก็คือ เรื่องกำหนด “วาระนายกฯ 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบเวลา 8 ปี ในเดือนสิงหาคม ซึ่งในกรณีนี้เป็นช่วงเวลาทับซ้อนกับช่วงเวลาที่ฝ่ายค้านอาจจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นไปได้ แต่ตราบใดที่ก็หมายสำคัญสองฉบับยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็คงไม่กล้าป่วนจนพังไปก่อน

และสุดท้ายก็คือ “ญัตติซักฟอก” ที่ฝ่ายค้านจ้องเล่นงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง แม้ว่าหากพิจารณาจากเนื้อหาแล้วก็ยังฟันธงแบบเดิมว่า “ไม่มีน้ำหนัก” ประเภทหักโค่นได้เลย เพียงแต่เชื่อว่าจะใช้ “ความแตกแยก” ขัดแย้งกันภายในรัฐบาล ฉวยโอกาสที่ “เสียงปริ่มน้ำ” มันก็มีโอกาสล่องจุ๊น ได้ตลอดเวลา

ล่าสุด เมื่อพิจารณาจากท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ถือว่า มีเสียง “เป็นก้อน” แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ทั้งพรรคที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เท่าที่มี มันทำให้ “ไม่ชัวร์” อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน เมื่อรวมกับพวกพรรคเล็กบางพรรคที่ฉวยโอกาสทอง ต่อรองเรื่อง “กล้วย” เข้าไปอีก ก็ยิ่งเสี่ยงหนักเข้าไปอีก

เมื่อสองสามวันก่อน ที่แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย คือ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ออกมาสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯคนนอก หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ซึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นจากการซักฟอกมากที่สุด ความหมาย และท่าทีแบบนี้ ก็คือ “ไม่เอาลุงตู่” อย่างชัดเจน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขดังกล่าวทั้งหมด ถือว่า ญัตติซักฟอก นี่แหละมีความเสี่ยงที่สุด และที่สำคัญ ก็ยังเป็นสิ่งที่ “ควบคุมได้ยากที่สุด” และ “เสี่ยงที่สุด” เพราะเมื่อมีการยื่นญัตติและบรรจุเข้าวาระ ก็ทำให้ “เหนือการควบคุม” แล้ว เพราะถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถยุบสภาได้แล้ว หากไม่ผ่านก็ต้อง “ลาออก” สถานเดียว ซึ่งหากเทียบกันข้อถกเถียงเรื่อง “นายกฯ 8 ปี” แล้ว ถือว่าญัตติซักฟอกเสี่ยงกว่ามาก

ส่วนสองอย่างแรก คือ เรื่องงบประมาณ และกฎหมายสำคัญสองฉบับที่ว่านั้น ยังอยู่ในความควบคุมได้ เพราะหากพลาดพลั้ง หรือจะ “ตั้งใจให้พลาด” โดยเฉพาะอย่างหลังที่เป็นกฎหมายสองฉบับ หากมองอีกมุมนาทีอาจจะไม่อยากให้ผ่านมาบังคับในการเลือกตั้งใหม่ก็ได้เหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรหากพลาดขึ้นมาจริงๆ ก็ยังสามารถยุบสภาไปวัดกันใหม่

แม้ว่านาทีนี้เชื่อว่า ทุกคนในรัฐบาลจะต้องการให้รัฐบาลยื้อเวลาไปจนถึงปลายปี แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในช่วงปีใหม่ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยและความต้องการของบางกลุ่ม ที่หวังผลการเมืองเฉพาะหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่อาจรวมหัวกับพรรคเล็กๆ โหวตคว่ำ “บิ๊กตู่” ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจที่น่าจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมไปแล้ว แต่หากเป็น พล.อ.ประยุทธ์ แล้วรู้สึก “ไม่ชัวร์” มีความเสี่ยง เพราะมันไม่สามารถประกันเสียงสนับสนุนได้เต็มร้อย มันก็ต้องตัดเกมเสียก่อน นั่นคือ ยุบสภา ก่อนการยื่นญัตติ

ดังนั้น หากพูดถึงความเสี่ยงเข้าขั้นวิกฤตแล้ว มันก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว แต่หมายรวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วย เพราะแม้ว่าอาจมีความฝันเรื่อง “นายกฯ ส้มหล่น” จากอุบัติเหตุจากสองเรื่องดังกล่าว แต่คำถามคือ จะเป็นไปได้แค่ไหน ศักยภาพทางสังคมจะได้รับการยอมรับแค่ไหน เพราะนี่คือการเมืองยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไม่ใช่การเมืองแบบเก่าที่วัดกันด้วยคอนเนกชันอย่างเดียว มันต้องมีกระแสเป็นปัจจัยหนุนด้วย และที่สำคัญ ตัว “บิ๊กตู่” ก็คงไม่ยอมให้เกิดขึ้นแบบนั้นอย่างแน่นอน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น