xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณทะแม่ง พ.ร.บ.งบฯคว่ำ-ยุบสภา!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา – วิษณุ เครืองาม
เมืองไทย 360 องศา


จะเรียกว่าเป็นด่านท้าทายด่านแรกก็เป็นได้ สำหรับ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 ที่กำหนดวาระเข้าที่ประชุมสภาในวันที่ 1-2 มิถุนายนนี้ หลังการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ที่จะเริ่มวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไป ที่คราวนี้ใช้เวลายาวนานถึง 120 วัน ต่อเนื่องกันไป

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาตามไทม์ไลน์ที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายแจกแจงให้ฟังแล้ว ถือว่าตั้งแต่เปิดสภาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ถือว่ามีวาระงานสำคัญต่อคิวเรียงกันไปต่อเนื่องกันไปหลายเรื่อง นอกเหนือจากเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ ที่กำลังจะพิจารณาเสร็จในชั้นกรรมาธิการและต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2-3 ที่คาดว่าน่าจะเป็นเดือนมิถุนายน รวมไปถึงกฎหมายสำคัญที่ต้องผลักดันออกมาบังคับใช้อีกราว 8 ฉบับ เช่น กฎหมายปฏิรูปตำรวจ กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา กฎหมายกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น รวมไปถึง กฎหมายคู่ชีวิตแล้ว ยังมีกฎหมายสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะเข้าวาระวันที่ 1-2 มิถุนายน ดังกล่าว

ซึ่งกฎหมายงบประมาณนี่แหละ ถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่เป็นอีกจุดชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลเหมือนกัน เพราะหากถูกคว่ำ หรือไม่ผ่านการโหวตในสภา รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ก็มีทางเลือกแค่สองทาง คือ ยุบสภา หรือ ลาออก และหากให้เดายังเชื่อว่า หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ต้องเลือกสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็น่าจะเลือกวิธี “ยุบสภา” มากกว่าลาออกแน่นอน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามขั้นตอนและความเป็นไปได้ นาทีนี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยงพอสมควรเหมือนกัน เพราะในสถานการณ์ที่ “ไม่มีความแน่นอน” แบบนี้มีโอกาสเป็นไปได้พอๆ กันทั้งสองทาง ระหว่างผ่าน หรือไม่ผ่าน เพราะเมื่อพิจารณาจากเสียงสนับสนุนแล้วยังถือว่าหวาดเสียว แต่หากให้คาดการณ์แบบเอาใจช่วยก็ต้องบอกว่า “น่าจะผ่าน” เนื่องจากยังมั่นใจว่า บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคหลักที่เป็นตัวแปรทั้งสองพรรค คือ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ รวมไปถึงพรรคแกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่รับรู้กันว่ายังมีความขัดแย้งภายใน แต่ก็คงไม่อยากให้เกิดการเลือกตั้งก่อนกำหนดเร็วเกินไปนัก

อย่างน้อยพวกเขาก็คงอยากบริหารงบประมาณในโครงการสำคัญแบบต่อเนื่องไปจนนาทีสุดท้ายมากกว่า ทำให้พวกเขาต้องการลากยาวไปจนแทบสุดทางนั่นแหละ และหากพิจารณาความเป็นไปได้ตามความต้องการ ก็คือ น่าจะยุบสภาหลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก นั่นคือ หลังเดือนพฤศจิกายน แล้วมีการเลือกตั้งหลังปีใหม่

แต่ขณะเดียวกัน สำหรับการเมืองประเทศไทยที่ไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างอาจพลิกผันในชั่วข้ามคืน อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในรัฐบาลผสม “เสียงปริ่มน้ำ” แบบนี้ และยิ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของรัฐบาล เป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเจอกับมรสุมรุมเร้า มันก็อาจมีบางพรรคคิดจะเล่น “บทฮีโร” รวมไปถึง ส.ส.จากบางพรรค โหวตคว่ำก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่นาทีนี้หากประเมินน้ำหนักแล้วก็ยังเชื่อว่า “น่าจะผ่าน” มากกว่าไม่ผ่าน ด้วยเหตุผลที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่อยากให้ยุบสภาเร็วเกินไปนัก และอีกเหตุผลสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบกันเพื่อสนับสนุนว่า “ต้องผ่าน” ก็คือ “ร่างกฎหมายลูก” สองฉบับในช่วงเวลานั้นยังไม่เสร็จ ซึ่งพรรคการเมืองต่างก็ต้องการให้เรียบร้อย เป็นกติกาใหม่สำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งไทม์ไลน์กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว น่าจะเข้าสภาในเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม ประมาณนี้

แต่หากเกิด “อุบัติเหตุ” หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯถูกคว่ำ คือ ไม่ผ่านสภามันถึงมาถึงขั้นตอนถัดมาที่นายกรัฐมนตรีน่าจะเลือกหนทางยุบสภามากกว่าลาออก ด้วยเหตุผลที่ว่าให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ผ่านการเลือกตั้ง นอกเหนือจากนี้ หากใช้วิธียุบสภาแล้วตามกฎหมายพรรคการเมือง ส.ส.ต้องหาสังกัดพรรคใหม่เพียงแค่ 30 วันเท่านั้น ผิดกับการเลือกตั้งเมื่อครบวาระที่ต้องสังกัดพรรค 90 วัน ทำให้โอกาสในการย้ายพรรค ทำได้ยาก

ด้วยสาเหตุแบบนี้มันถึงเป็นไปได้มาก ว่า โอกาสที่จะเกิดการยุบสภาจึงมีมากกว่าการอยู่ครบวาระ (หากลากไปถึง) นั่นว่ากันด้วยเงื่อนไขยุบสภา หากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯถูกคว่ำในสภา แต่ถึงอย่างไรอย่างที่บอกก็คือยังมีโอกาสผ่านมากกว่าไม่ผ่าน นอกจากเกิดอุบัติเหตุเหนือการควบคุม หรือคุมไม่ได้แล้วเท่านั้น

ขณะเดียวกัน แม้ว่าโอกาสผ่านมากว่าไม่ผ่านดังกล่าว แต่รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าจะมีทางหนีทีไล่เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อฟังจากคำพูดบางตอนของ “มือกฎหมาย” อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ได้ระบุว่า รัฐบาลได้ “เตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว” แต่หากไม่ผ่านก็ต้องใช้งบประมาณปีก่อน (รัฐบาลใหม่) รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่มีการเตรียมพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อส่งไม้ต่อ เช่น การเตรียมการประชุมเอเปก รวมไปถึงการเตรียมจัดพระราชพิธีสำคัญ เป็นต้น

แม้ว่า ล่าสุด วันที่ 18 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “พร้อมๆ” ทั้งเรื่องชี้แจงพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ในต้นเดือนมิถุนายน และตอบข้อซักฟอกในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปที่จะตามมาก็ตาม แต่นาทีนี้เหมือนกับว่ามีการส่งสัญญาณในแบบ “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” แต่ถ้าให้เดา ก็น่าจะออกทางยุบสภามากกว่า โดยเฉพาะด่านแรกคือกฎหมายงบประมาณฯ และตามมาด้วยญัตติซักฟอกของฝ่ายค้าน

ขณะเดียวกัน หากสังเกตจะเห็นความเคลื่อนไหวของ บรรดา ส.ส.ที่เริ่มหาสังกัดพรรคใหม่ หรือลาออกจาก ส.ส.กันออกมาเรื่อยๆ ซึ่งอีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนได้กลิ่นการเลือกตั้งที่อาจมาเร็ว ซึ่งประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีความอึดอัดอยู่กับพรรคเดิม จึงต้องหาทางออกเพื่อความชัวร์เอาไว้ก่อน ในเรื่องเงื่อนไขเวลาสังกัดพรรค ไม่ว่าออกทางไหนก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ก่อน ประมาณนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น