เมืองไทย 360 องศา
ทำไปทำมาส่อเค้าว่าฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมีกำหนดจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือรัฐมนตรีในราวเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม แทนที่จะยื่นญัตติ “ซักฟอก” ทันทีหลังจากเปิดสภาในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะจากการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงท่าทีค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ต้องยืดเวลาออกไป โดยอ้างเหตุผลสองสามประการ
เขากล่าวว่า เรามีการประชุมร่วมกันตลอด โดยจะมีการยื่นให้เร็วที่สุด แต่มีเงื่อนไขเพียงว่าต้องดูบริบทโดยรวมว่าการยื่นขอเปิดอภิปรายฯ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ประเทศชาติ และสภา หรือไม่ เช่น การยื่นในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายสำคัญ และทำให้กฎหมายพิจารณาล่าช้าไป หรือขัดขวาง เราก็จะนำเหตุผลเหล่านั้นมาพิจารณากำหนดเวลาในการยื่น
ส่วนในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะมีการยื่นขอเปิดอภิปรายฯ เลยหรือไม่นั้น เรายังไม่กำหนดถึงขนาดนั้น ต้องดูภาพอื่นๆ ประกอบไปด้วย เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ที่กำลังพิจารณาอยู่ จะได้เข้าพิจารณาในช่วงใด หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ชัดเจนแล้วว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระรับหลักการ วันที่ 1-2 มิ.ย.นี้
“ถือเป็นจังหวะคาบเกี่ยวพอสมควร เดิมเราตั้งใจจะยื่นก่อนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ พอกำหนดไทม์ไลน์ พ.ร.บ.งบฯ มาอย่างนี้ ก็ทำให้จังหวะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำได้ไม่ต่อเนื่องอย่างแน่นอน เว้นแต่งบประมาณผ่านไปแล้ว และนำกลับมาพิจารณาใน วาระ 2-3 ช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ เราคิดว่าช่วงกลางๆ นี้ น่าจะเหมาะสม” นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามว่า จะยื่นในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรายังไม่กำหนดถึงขั้นนั้น แต่เราเตรียมพร้อมตลอด นัดประชุมเกี่ยวกับเนื้อหาสาระอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาล จะอยู่ครบเทอม หรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า เป็นเจตจำนงของรัฐบาลที่จะอยู่ให้ครบ4 ปี หรือดึงเวลาให้อยู่ครบเทอมมากที่สุด แต่เท่าที่ดูมั่นใจว่า รัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบเทอม ด้วยปัจจัย 1. ผลงานความต้องการของประชาชนในการแก้ปัญหา 2. รัฐบาลจะยุบสภาก่อนและไปเลือกตั้งช่วงใกล้ครบเทอม อย่างที่เขาแพลนออกมาว่าหลังการประชุมเอเปก เพราะต้องการผลงานในช่วงการประชุมเอเปก รวมถึงถ้าปล่อยให้ครบเทอม จะมีการย้ายพรรคของ ส.ส. ดังนั้น การยุบสภาหลังเอเปก จะเหมาะสม เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งไม่เกิน 60 วัน จึงเป็นจุดสำคัญ
“แต่กฎหมายพรรคการเมือง ระบุว่า กรณีที่มีการยุบสภาให้สังกัดพรรคภายใน 30 วัน ฉะนั้น มีเวลา 30 วัน ที่จะโยกย้ายเปลี่ยนพรรคการเมืองกันแบบสะดวกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอยู่ครบเทอมต้องสังกัดพรรคใน 90 วัน และต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่คิดว่ารัฐบาลมีโอกาส และประโยชน์สูงสุดเขาก็จะเลือกทำแบบนี้”
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาได้ เช่น ครบวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ก็อาจเป็นประเด็นที่จะนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่แน่นอนว่า เราจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้ อย่างแน่นอน แต่จะยื่นช่วงไหนต้องดูอีกที เบื้องต้นคือ พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระรับหลักการ จะมีประเด็นหรือร่องรอยใดที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของส.ส. และไม่เป็นอันหนึ่งเดียวกันกับรัฐบาล โดยเราจะยื่นหลังจากนั้นซึ่งเป็นจุดสำคัญ แต่หากผ่านช่วงนี้ไปได้ ก็จะไปเจอวาระครบ 8 ปี ของนายกฯ 23 ส.ค.นี้ และอีกจุดหนึ่งคือ หลังการประชุมเอเปก” ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุ
แม้ว่าจะอ้างโน่นอ้างนี่สารพัด แต่สิ่งที่พูดมาอย่างยืดยาวนั้น นพ.ชลน่าน และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ “คนแดนไกล” ต้องการให้เกิดขึ้นก่อนก็คือ ต้องรอให้ “กฎหมายสำคัญ” ซึ่งกฎหมายสำคัญดังกล่าวของพวกเขา ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือ หนึ่งร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนนี้
สำคัญอย่างไร สำคัญเพราะเป็นการแก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ทั้งแบบ ส.ส.เขต และแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมกันได้ ส.ส. 500 คน คือ เป็น ส.ส.เขต 400 คน ซึ่งอย่างที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พรรคการเมืองพรรคใหญ่โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องการให้มีการเลือกตั้งระบบนี้ เพราะมั่นใจว่าพวกเขาได้เปรียบ และคนที่ถูกระบุว่าเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง คือ นายทักษิณ ชินวัตร ก็คุยโม้ตั้งแต่แรกว่าในการเลือกตั้งคราวหน้าพรรคเพื่อไทยจะกวาด ส.ส.แบบ “แลนด์สไลด์” ซึ่งต่อมา นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี ประธาน ส.ส.ภาคอีสาน ของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 คน นั่นก็หมายความว่า พรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคลที่คาดว่าจะได้รับการเสนอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่ง ของพรรคคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของครอบครัว หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาของเธอ ที่ใช้เวลาแค่ 49 วัน ทำสำเร็จมาแล้ว
เมื่อสำคัญก็ต้องรอให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน เพื่อความชัวร์ หลังจาก “ปัจจัยเล็กๆ” บางอย่างมีความคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นั่นคือ เรื่อง “บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียว” คือ ใช้เบอร์เดียวกันทั้งผู้สมัครแบบเขต และบัญชีรายชื่อ โหวตแพ้ในชั้นกรรมาธิการ กลายมาเป็นใช้ “สองเบอร์” หรือต่างเบอร์กัน ทำให้โอกาสลด “แลนด์สไลด์” ลงไปได้ไม่น้อย ขณะเดียวกัน ดีไม่ดียังอาจมีการแก้ไขกลับไปใช้ระบบการคิดคะแนนแบบ ส.ส.พึงมี และการใช้จำนวนส.ส.500 คน แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ทุกคะแนนไม่ตกน้ำ อ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งหากออกมาแบบนี้ก็ยุ่งเหมือนกัน และมีโอกาสเป็นไปได้อีกด้วย เพราะเวลานี้หลายพรรคเริ่มมีท่าทีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค รวมไปถึงพรรคขนาดกลาง ไม่เว้นแม้แต่พรรคก้าวไกล ที่ต้องการให้เป็นแบบที่ว่า ไม่ต้องพูดถึงพรรคเล็กที่หนุนแบบนี้สุดตัวอยู่แล้ว
ด้วยเหตุผลนี้ต่างหาก ที่คิดว่า พรรคเพื่อไทยต้องการมีสมาธิกับร่างกฎหมายสำคัญทั้งสองฉบับดังกล่าวให้ผ่านสภาในแบบที่ตนต้องการให้ได้ เรื่องอื่นถือว่าเป็นเรื่องรอง แม้แต่เรื่อง “ซักฟอก” เพราะถึงอย่างไรในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่เดือน ตามวาระของรัฐบาลหากพิจารณากันในความเป็นจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นต้องดึงดันแบบเร่งด่วน
นอกเหนือจากนี้ หากพิจารณากันในใจลึกๆ แล้ว เป้าหมายที่แท้จริงในช่วงเวลานี้ ยังเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะต้องการให้มีการ “ยุบสภา” มากกว่าให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม ซึ่งสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย คือ พรรคเพื่อไทย กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พรรคพลังประชารัฐ เพราะการยุบสภา ทำให้ ส.ส.สามารถย้ายพรรคภายใน 30 วัน ซึ่งพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะมั่นใจว่าจะมี ส.ส.ไม่น้อยต้องการย้ายกลับมา ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงพรรคสาขาบางพรรคเช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่คงต้องการให้ ส.ส.ย้ายพรรคเข้ามาสมทบ เพราะหากอยู่ได้จนครบวาระ ก็ต้องสังกัดพรรค 90 วัน ถือว่า “เดดล็อก” นั่นแหละ
ดังนั้น หากพิจารณาตามไทม์ไลน์ที่เห็นทำให้เข้าใจเหตุผลของพรรคเพื่อไทย ว่า ทำไมถึงต้องเลื่อนการยื่นญัตติ “ซักฟอก” ออกไปราวเดือนกรกฎา-สิงหาฯ เพราะต้องการความชัวร์เรื่องกฎหมายสำคัญเรื่อง “บัตรสองใบ” ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ซึ่งตามเวลาก็น่าจะราวกรกฎาคม รวมไปถึงลุ้นให้ยุบสภาก่อนครบวาระ เพราะอาจได้ “พลังดูด” ส.ส.กลับมา ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ถือว่า สมประโยชน์ วิน วิน !!