เมืองไทย 360 องศา
จะเรียกว่าไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด สำหรับการเคลื่อนไหวในพรรคเศรษฐกิจไทย ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และล่าสุด กำลังมีการเปลี่ยนแปลงภายใน จะมีการประชุมเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจากที่มีการลาออกของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิม จำนวน 15 คน ทำให้กรรมการบริหารพรรคต้องสิ้นภาพไปทั้งชุดตามข้อบังคับดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็มาจากความขัดแย้งที่ถึงเวลาต้อง “แตกหัก” กันแล้ว ระหว่างเป้าหมาย คือ “เอา” กับ “ไม่เอาลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งหากพิจารณาจากเส้นทาง และแบ็กกราวนด์มันก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมถึงได้มาชัดเจนในเวลานี้
สำหรับคอการเมืองย่อมเข้าใจดีว่า ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าเป็น “เส้นขนาน” ไม่มีทางบรรจบกันได้อย่างแน่นอน แม้ว่าในทางการเมืองมักจะบอกว่า ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรก็ตาม แต่เชื่อว่า สำหรับความเป็นมิตรนั้น คงจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่มีญัตติซักฟอกเมื่อหลายเดือนก่อน ร.อ.ธรรมนัส มีข่าวร่วมขบวนเคลื่อนไหว “ล้มนายกฯ” และนำไปสู่การปลดพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นก็แยกออกมาสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย พร้อมกับกลุ่มก๊วนของเขาจำนวนกว่ายี่สิบคน ที่มีทั้ง ส.ส.และไม่ใช่ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกัน ในกรณีที่เกิดขึ้นมันก็มีภาพซ้อนของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ถือว่าเป็น “พี่ใหญ่” ของกลุ่ม สาม ป.และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย โดยที่ ร.อ.ธรรมนัส ก็เป็น “ลูกน้อง” ของ พล.อ.ประวิตร รวมไปถึง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่แยกตัวออกไป โดยคนแรกไปเป็นเลขาธิการพรรค ขณะที่คนหลังไปเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งดูแล้วมันทับซ้อนไขว้กันไปมาจนน่าเวียนหัว แต่ถึงอย่างไรทั้งคู่ก็เป็นลูกน้องคนใกล้ชิด เพียงแต่ว่าที่มา และเป้าหมายแตกต่างกัน
แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นลูกน้องของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่หากพิจารณาถึงแนวทางแล้วถือว่า พล.อ.วิชญ์ น่าจะสายตรงได้มากกว่า ในเรื่องของ “คำสั่ง” ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสภา โดยเฉพาะในช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง พล.อ.วิชญ์ ก็มีท่าทีในแบบ “สนับสนุนไปก่อน” ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส ยืนกรานว่า ไม่สนับสนุน ซึ่งพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ก่อนหน้านี้ว่า เป็น “เส้นขนาน” และเมื่อเดินมาถึงจุดนี้มันก็ต้องแตกหัก ทางใครทางมัน
เมื่อพิจารณาจากรายชื่อกรรมการบริหาร 15 คน ที่ยกทีมลาออกเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งชุดใหม่ ก็แน่นอนว่า ทั้งหมดล้วนอยู่ในสายของ ร.อ.ธรรมนัส ทั้งสิ้น ดังนั้น ก็ไม่ต้องเดาเลยว่าคณะกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทยชุดใหม่ทั้งหมด ก็คงยังเป็น 15 คนนี้ และหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ต้องเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นั่นเอง เป็นการยึดพรรคแบบเบ็ดเสร็จ ขณะเดียวกัน นี่ยังเป็นการประกาศแยกทางกับ “บิ๊กป้อม” กันอย่างชัดเจนแล้ว
แม้ว่า ที่ผ่านมา สำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมีท่าทีที่ยังคลุมเครือในการแย่งชิงตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอนาคต แต่สำหรับเฉพาะหน้าในความเป็นผู้จัดการรัฐบาล เป็นหัวหน้าพรรคแกนนำ ก็ยังจำเป็นต้องประคับประคองรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป อย่างน้อยก็จนจบวาระสำคัญไปก่อน คงยังไม่ถึงเวลาต้องหักกันในช่วงเวลาแบบนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะ “พัง” กันทุกฝ่าย โดยเฉพาะในกลุ่ม “สาม ป.” ย่อมไม่เป็นผลดีแน่
เมื่อเป็นแบบนี้ หากมองในอีกมุมหนึ่งมันก็ถือว่ามีความชัดเจนไปอีกระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ได้เห็นแล้วว่าในญัตติซักฟอกที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็ต้องตัดชื่อกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคเศรษฐกิจไทยได้เลย ไม่ต้องลุ้น ต้องเจรจากันอีกต่อไปให้เสียเวลา ขณะที่บรรดาพรรคเล็กๆ นาทีนี้ก็ถือว่าเป็นช่วง “นาทีทอง” ของพวกเขาที่ต้องการ “กล้วย” เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
แต่สิ่งที่หลายคนอยากรู้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ หลังจากนี้เส้นทางของ ร.อ.ธรรมนัส กับพวกจะเดินไปทางไหน แม้ว่ายังไม่ชัดเจนเป็นทางการ รวมไปถึงยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องประกาศ แต่พิจารณาจากแนวโน้ม และย้อนกลับไปในอดีตมันก็มองได้ไม่ยากว่า มีโอกาสร่วมกับ พรรคเพื่อไทย หรือร่วมเป็นเครือข่ายเดียวกับพรรคเพื่อไทย ทั้งในระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง อย่างน้อยก็ได้เห็นจากการ “เคลม” เมื่อครั้งที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แบบแลนด์สไลด์ ที่ขอเข้าร่วมเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” มาแล้ว
รวมไปถึงภารกิจของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาก็ยังอยู่ที่สิงคโปร์ มันก็ทำให้เกิดความระแวงได้เหมือนกันว่า นี่เป็น “ดีลลับ” กับใคร หรือไม่
นั่นเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองของเฉพาะกลุ่ม เฉพาะตัวบุคคล ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับชาวบ้านเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าต้องการชี้ให้เห็นที่มาที่ไปว่าเป็นแบบไหนกันแน่ แต่ขณะเดียวกัน งานนี้ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่เสียงสนับสนุน “ปริ่มน้ำ” และอีกด้านหนึ่งมันก็กลายเป็นการเพิ่มพลังให้กับฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะในกลุ่มฝ่ายค้าน นั่นคือ พรรคเพื่อไทย ในเครือข่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่แม้ว่าวันนี้ยังไม่ได้ประกาศร่วมมือกันชัดเจน แต่เส้นทางข้างหน้ามันคงบรรจบกันได้ไม่ยาก !!