“ดร.อานนท์” ถามหาสำนึก “นร.ทุนพระราชทาน” หลัง “ชัชชาติ” ตอบคำถาม “รุ้ง” เรื่องยกเลิก 112 อย่าใช้เป็นเครื่องมือการเมือง แค้นปฏิวัติ 8 ปี ยังรอได้ “อดีตรองอธิการบดี มธ.” ชำแหละความคิด “กลุ่ม 3 นิ้ว” 7 ประการ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 พ.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โดย กล้วยน้ำหว้า โพสต์ประเด็น เดือด! “ดร.อานนท์” ย้อนถามหาสำนึกนักเรียนทุนพระราชทาน หลัง “ชัชชาติ” ตอบคำถามปมยกเลิก 112
โดยระบุว่า หลังจากเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 65 มีการจัดกิจกรรม ตลาด(นัด)ราษฎร ที่จัดโดยกลุ่มราษฎร นำโดย นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง ซึ่งไฮไลต์ที่สำคัญ คือ การประมูลสินค้าจากแกนนำกลุ่มราษฎร อาทิ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ และ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน
ปรากฏว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย โดยระหว่างนั้น รุ้ง ปนัสยา สอบถามถึงประเด็นการยกเลิก ม.112 กับ นายชัชชาติ ซึ่ง นายชัชชาติ ตอบว่า
ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง ม.112 แต่มีความเห็นว่า ไม่ควรนำ ม.112 มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยก ถ้ามองในแง่ผู้บริหาร จริงๆ แล้ว การเป็นผู้บริหาร ต้องมีความละมุนละม่อมในระดับหนึ่ง มันต้องมีวิธีการในการค่อยๆ ปรับ ถ้าบอกว่าจะยกเลิก ม.112 ตนเองคิดว่า มันจะไปอีกขั้วหนึ่ง มันจึงต้องเริ่มจากการไม่เอา ม.112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยขอให้เริ่มตรงนี้ก่อน แล้วเดี๋ยวมันจะค่อยๆ พัฒนาไป แต่ถ้าพูดในฐานะผู้บริหารมันต้องมีวิธีในการสื่อสาร
“อย่างผม ผมก็อดทนมา 8 ปี ถูกไหม มันก็นาน ที่ปฏิวัติมาจนถึงวันนี้มัน 8 ปี แต่เราต้องมีกลยุทธ์ ต้องมียุทธศาสตร์ในการเดิน เขาบอกว่า อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภาษาอังกฤษว่า Revenge is a dish best served cold. คือ การแก้แค้นหรือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด มันดีตอนที่มันเย็นแล้ว คือ อย่าไปเอาความโกรธหรือความแค้นมาทำ หัดกำหนด Strategy ในการเดิน แล้วเวลาจะอยู่ข้างพวกเรา แต่จะบอกว่า นาทีนี้การยกเลิก 112 ไม่ง่าย แต่ขออย่าเอามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง พูดประเด็นนี้ก่อน ดีไหม ค่อยเป็นสเตปต่อไป”
ล่าสุด ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์แชร์ข้อความดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ พร้อมระบุข้อความว่า
“นักเรียนทุนพระราชทาน เคียดแค้นสถาบัน รอวันล้างแค้นอย่างนั้นหรือ ใช่หรือไม่?”
ขณะเดียวกัน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า...
แปลกใจที่โพสต์ล่าสุดมีคณะทัวร์ 3 นิ้ว มาลงกันอย่างหนาแน่น ทั้งที่เพจผมเป็นเพจส่วนตัว แต่เปิดให้ public เห็นได้ แต่ก็ตั้งค่าไว้ว่า คนที่จะคอมเมนต์ ก็ทำได้เฉพาะเพื่อนและเพื่อนของเพื่อนเท่านั้น แสดงว่า อาจมีคนเอาไปโพสต์ต่อในเพจฝั่ง 3 นิ้วเพื่อให้ทัวร์ลง ก็ไม่ว่ากัน แต่ก็ขออนุญาต block เฉพาะคนที่ใช้คำไม่สุภาพเช่นคำว่า “มึง” และ “เสือก” เป็นต้นนะครับ
ข้อความที่คณะทัวร์มาลง ไม่ใช่เกิดจากตรรกวิบัติ แต่ตรรกะของกลุ่ม 3 นิ้ว กับตรรกะของกลุ่มที่ถูก 3 นิ้วเรียกว่ากลุ่มอนุรักษนิยม หรือสลิ่มนั้น มาจากกระบวนทัศน์ หรือ paradigm ที่แตกต่างกัน ยากที่จะคุยกันรู้เรื่องได้ เมื่ออ่านคอมเมนต์เหล่านี้แล้ว อดไม่ได้ที่จะขอสรุปคุณลักษณะและความคิด หรืออาจเรียกว่าเป็น DNA ของกลุ่ม 3 นิ้ว ที่ทุกคนมีเหมือนกันหมดไว้อีกครั้งดังต่อไปนี้
1. ไม่มีความอดทนพอที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะทำการตอบโต้ เช่น เมื่อเปรียบเทียบรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอก เช่น พลเอก เปรม รวมทั้งรัฐบาล คสช. กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าโดยรวม คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอก มีคุณภาพสูงกว่า ซึ่งไม่ได้เป็นการบอกว่ารัฐบาล “3 ป” ชุดปัจจุบันมีคุณภาพสูงแต่อย่างใด แต่ก็ยังมีคนมาแซะหาว่าผมบอกว่ารัฐบาล “3 ป” มีคุณภาพสูง และถึงกับบอกว่าจะอ้วก
2. ความคิดและกระบวนทัศน์มักไม่ได้มาจากการอยู่ในสถานการณ์จริง แต่เกิดจากการเสพข่าว และข้อความจากโพสต์ฝ่ายตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะการตอบโต้ของเขามักมาจากความเชื่อที่มาจากข้อความที่อยู่ในเพจของ 3 นิ้ว หรือข้อความที่เจ้าลัทธิเคยว่าไว้ เช่น เมื่อใดที่มีคนพูดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว พวกเขาก็มักจะโต้แย้งว่า ตอนทำประชามติที่ผ่านก็เพราะว่า ใครออกมาเชียร์ไม่เป็นไร แต่ใครที่ค้านถูกจับ แต่หากอยู่ในสถานการณ์จริงแล้วจะทราบว่า เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติแล้ว จะไม่สามารถรณรงค์เพื่อชี้นำให้ไปลงประชามติไปในทางใดทางใดทางหนึ่งได้ จะทำได้ก็เพียงรณรงค์ให้คนไปลงประชามติกันมากๆ เท่านั้น ซึ่งการรณรงค์แบบนี้มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ จึงเป็นที่มาของข้อกล่าวหาว่า หน่วยงานของรัฐทำได้ แต่พอประชาชนทำบ้างกลับโดนจับ แต่หน่วยงานของรัฐเขารณรงค์ให้คนไปลงประชามติ ไม่ได้ชี้นำให้ไปให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแต่อย่างใด แต่ที่ว่าประชาชนรณรงค์นั้นรณรงค์ให้คว่ำร่างธรรมนูญซึ่งก็มีเพียงประปราย แต่ก็เป็นการทำผิดตามกฎหมาย
การทำประชามติดังกล่าว มีคนลงคะแนนให้ความเห็นชอบเกือบ 17 ล้านเสียง ทั้งที่มีคนไม่เห็นด้วยกับคำถามแนบท้ายเรื่องอำนาจและที่มาของวุฒิสภาเป็นจำนวนมาก แต่ยังให้ความเห็นชอบ น่าจะเป็นเพราะ คนจำนวนมากไม่ต้องการให้พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้กำกับของคุณทักษิณกลับมามีอำนาจอีก และอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในคำถามแนบท้ายจะมีอยู่เฉพาะใน 5 ปีแรกเท่านั้น และสว.ก็ไม่มีอำนาจลงคะแนนไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลแต่อย่างใด ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงพอกล้ำกลืนรับได้ ใครที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง หรือเป็นพวกที่เชียร์คุณทักษิณก็จะไม่เข้าใจในความรู้สึกดังกล่าวนี้
3. ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตัวเอง เช่น ไม่ยอมรับว่าสถานการณ์มาถึงทางตันก่อนมีการทำรัฐประหาร และมองอย่างเดียวว่า รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ การจะล้มรัฐบาลจะทำได้เพียงในรัฐสภา คือ จากการลงคะแนนเสียงของ ส.ส.เท่านั้น การประท้วงขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เท่ากับเป็นการไม่ฟังเสียงประชาชน ซึ่งความจริง ประชาชนไม่ได้มีฝ่ายเดียว และการประท้วงไม่ได้เกิดขึ้นในปีแรกของการเป็นรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ แต่เกิดขึ้นหลังจากมีการทุจริตคอรัปชั่นกันจนเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะกรณีจำนำข้าว และการประท้วงถึงจุดสูงสุดก็เมื่อมีการพยายามผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย
4. มีความเชื่อว่า ทหารจ้องจะทำรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่า พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ก็ทรงให้การสนับสนุนการทำรัฐประหาร กล่าวหาว่าผู้ที่ร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ พยายามสร้างเงื่อนไขให้ทหารใช้เป็นเหตุผลในการทำรัฐประหาร กรณีนี้ผู้ที่ไปร่วมชุมนุมทุกคนคงบอกได้ว่า จริงหรือไม่ เราไม่อาจรู้ได้ว่าแกนนำ กปปส.คิดอย่างไร ทำอย่างไร แต่สำหรับผู้ร่วมชุมนุมแล้ว เพียงต้องการให้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ออกไปเท่านั้น และเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการทำรัฐประหาร ก็ไม่ได้เกิดจากฝ่ายผู้ชุมนุม เช่น กลางดึกวันหนึ่งที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย มีรถกระบะบรรทุกคนจำนวนหนึ่ง มีอาวุธสงคราม กราดยิงผู้ร่วมชุมนุมที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ ทำให้ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งกรณีนี้ผมได้ไปเยี่ยมและพูดคุยกับผู้บาดเจ็บด้วยตัวเอง นอกจากนั้น ยังมีการปาระเบิดใส่ผู้ชุมนุมอีกหลายต่อหลายครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เหตุการณ์เช่นนี้ คือการสร้างสถานการณ์ของผู้ชุมนุม เพื่อให้เกิดการทำรัฐประหารหรือ
5. เชื่อว่า รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดปัจจุบันก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และตัว พลเอก ประยุทธ์ เองก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่การให้พรรคการเมือง ระบุว่า จะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 ชื่อ ก่อนการเลือกตั้ง ต่างจากการเสนอชื่อผู้ที่จะเป็น ส.ส.บัญชึรายชื่อตรงไหน และพรรคพลังประชารัฐก็ได้คะแนนเสียงที่เป็น popular vote เป็นอันดับ 1 แต่มีจำนวนส.ส.เป็นอันดับ 2 ที่จะมีข้อตำหนิก็ตรงที่ให้อำนาจ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น
6. เชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โง่ ทั้งที่ พลเอก ประยุทธ์ สอบได้ที่ 1 จากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ และสอบเข้าเตรียมทหารได้ ไต่เต้าขึ้นจนได้เป็น ผบ.ทบ. ผู้ที่บอกว่า พลเอก ประยุทธ์ โง่ เคยสอบได้ที่ 1 ไหม เคยสอบเข้าเตรียมทหารหรือไม่ หากจะโจมตี พลเอก ประยุทธ์ น่าจะโจมตีเรื่องความไม่เหมาะสมในการเป็นนายกรัฐมนตรี หรือหาข้อมูลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นหากมี มาโจมตีมากกว่า
7. ผูกขาดความถูกต้อง ยึดความเชื่อเป็นความจริง มองว่า ตัวเองฉลาดและทันโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น จึงมองว่าความเห็นของฝ่ายตรงข้ามซึ่งไม่ตรงกับของตัวเอง เป็นความเห็นที่ผิด และล้าสมัยเสมอ เช่น มีความเชื่อตามที่มีการปั่นว่า สังคมไทยต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำ ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ คือ ต้นแบบของความไม่เท่าเทียมกัน และยังเป็นสถาบันที่ไม่เป็นประโยชน์ การคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน มีความโกรธแค้น เกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ราวกับเป็นความแค้นส่วนตัว ซึ่งความจริงความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงเป็นเพียงวาทกรรม ไม่มีอยู่จริงในโลก
ต้องขอบอกไว้เลยอีกครั้งว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 ผมไม่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เลือกพรรครวมพลังประชาชาติไทย และแน่นอนว่า ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทย ผมไม่เคยเชียร์พลเอก ประยุทธ์ และไม่เคยคิดว่า พลเอก ประยุทธ์ เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ต้องการให้ระบอบทักษิณกลับมาอีก จึงยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกพรรคใดดีในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ไม่ใช่ 3 พรรคข้างต้นแน่ๆ
มีคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า หากระบอบประชาธิปไตยแบบปัจจุบันไม่สามารถทำให้เกิดรัฐบาลที่ดีได้ ทำไมไม่เสนอวิธีอื่นมาล่ะ ความจริงก็เคยเสนอแล้ว นั่นคือ ให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวแทน และแยกอำนาจบริหารออกจากอำนาจนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด คือ ส.ส.ทำหน้าที่ออกกฎหมายเท่านั้น และให้นายกรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งมีความเป็นอิสระในการเลือกคณะรัฐมนตรีอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมาพะวงเรื่องโควต้าของพรรค หรือของกลุ่มการเมืองใด แต่ก็คงไม่มีใครกล้าเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้
ในอนาคตอีกไม่นาน พวกเราคงต้องทำใจ คนที่มีคุณลักษณะ 7 ประการข้างต้นคงจะมีบทบาทในสังคมและในการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้พวกเขายังไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่วันหนึ่งพวกเขาจะเป็น หวังว่าเมื่อมีอายุมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น พวกเขาจะเปลี่ยนไปจากเดิม มากบ้างน้อยบ้างก็ยังดี เพื่อความขัดแย้งในประเทศจะได้มีน้อยลง ประเทศเราจะได้มีความน่าอยู่กว่านี้
แน่นอน, ประเด็นสำคัญ อาจอยู่ที่กรณี “ชัชชาติ” ไปร่วมกิจกรรมของ กลุ่มม็อบ 3 นิ้ว “ตลาด(นัด)ราษฎร” แสดงให้เห็นถึง อะไร? ขอบคุณที่เลือก หรือ ฝ่ายเดียวกัน?
ประเด็นต่อมา คำตอบเรื่องยกเลิก ม.112 ของ “ชัชชาติ” แม้ออกตัวไว้ก่อน ไม่เกี่ยวกับผู้ว่าฯ กทม. และไม่ตอบตรงไปตรงมาว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก
แต่การบอกว่า ไม่ควรเอามาเป็น “เครื่องมือ” สร้างความแตกแยก เครื่องมือทางการเมือง และเห็นว่า เอาแค่นี้ก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปเป็นขั้นเป็นตอน หมายถึงมีพัฒนาการที่จะไปถึงจุดนั้นได้?
รวมถึง “บริบท” ที่นำมาอธิบาย เป็นใครก็คิดได้ว่า อยู่ฝ่ายไหน?
แล้วก็ไม่แปลกที่ ดร.อานนท์ จะตั้งคำถาม จากบริบทที่นำมาอธิบาย ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิวัติ เกี่ยวกับความแค้น เกี่ยวกับความอดทนรอมานาน 8 ปี นั่นกำลังบอกอะไร?
โดย สำนึกของการเป็น “นักเรียนทุนพระราชทาน” ควรตอบอย่างนี้หรือไม่ และถ้าไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก ม.112 เพื่อปกป้องสถาบันฯ เป็นเรื่องที่ลำบากใจอย่างมากใช่หรือไม่ ทุกอย่างมันทำให้คิดเช่นนั้น!?