xs
xsm
sm
md
lg

น่าคิด! “เชาว์” ยก “ทักษิณ” ซุกหุ้น เทียบ “ชัชชาติ” อย่าใช้คะแนนนิยมกดดัน “ไพศาล” ฟาด ไม่ยอมรับเสียง ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้องแยกแยะ! “เชาว์” ยกคำวินิจฉัยคดี “ทักษิณ” ซุกหุ้น เทียบป้ายหาเสียงกระเป๋า “ชัชชาติ” แยกคะแนนนิยมกับทำผิด “ไพศาล” ฟาดเห็บเหาเผด็จการไม่ยอมรับเสียงข้างมากของ ปชช. “กูรู” ชี้ให้เวลารับรองผลนานไป
 
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (29 พ.ค.) นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก Chao Meekhuad เรื่อง กระเป๋าป้ายหาเสียง “ชัชชาติ” กับคะแนนกว่า 1.3 ล้านเสียงของคนกรุง

เนื้อหาระบุว่า “มีสื่อมวลชนโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์ ประเด็นกระเป๋าป้ายหาเสียงของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เพิ่งได้รับเลือกจากคนกรุงเทพฯไปด้วยคะแนนกว่า 1.3 ล้านเสียง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากผมเคยได้แสดงความเห็นทางกฎหมายต่อสาธารณะไปตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่า เรื่องนี้หมิ่นเหม่ที่จะถูก กกต.แจกใบเหลืองได้

เพราะอาจเข้าข่ายเป็นการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมตามมาตรา 108 วรรคสอง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562

โดย กกต.เคยมีคำวินิจฉัยเรื่องทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว ในเคสของ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากผู้ช่วยหาเสียงไปโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเก็บป้ายหาเสียงของนายชานุวัฒน์ไปใช้ประโยชน์ได้ฟรี โดยขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

นายเชาว์ กล่าวว่า หลายคนตำหนิ นายศรีสุวรรณ จรรยา ที่นำเรื่องป้ายกระเป๋าของนายชัชชาติไปร้องต่อ กกต. พร้อมระบุว่า หาเรื่องไม่เข้าท่า เขาได้คะแนนมากว่า 1.3 ล้านคะแนน จะไปเอาอะไรกับเขาอีก สมมติว่าผิด เลือกตั้งใหม่เขาก็ชนะกลับมาเข้ามาอีกอยู่ดี

ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับความคิดลักษณะนี้ โดยอยากให้แยกเรื่องนี้ออกเป็นสามประเด็นคือ 

1. นายศรีสุวรรณ มีสิทธิที่จะร้องในเรื่องที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีป้ายกระเป๋าหาเสียง ที่สามารถนำกลับไปใช้ได้อีก ไม่ใช่มีแค่ทีมงานของนายชัชชาติเท่านั้นที่จะนำป้ายที่มีแพทเทิร์นกระเป๋านำกลับไปใช้ได้ แต่ประชาชนก็นำกลับไปใช้ได้ด้วย แม้จะมีการมาระบุหลังเลือกตั้งว่าผิดกฎหมายก็ตาม แต่ก่อนหน้านี้ในโพสต์ของนายชัชชาติผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ข้อความว่า

“ทีมงานเพื่อนชัชชาติ ไม่อยากให้ป้ายไวนิลหาเสียงกลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง เราจึงมีแผนนำกลับมาหมุนเวียน (Recycle) โดยตัดเย็บเป็นกระเป๋าหรือผ้ากันเปื้อน ไว้ใช่ต่อกันเองในทีม ป้ายใหม่ที่กำลังติดตั้งเพิ่มจะมีลาย Pattern ตัดเย็บให้เห็นลางๆ ลองตามหากันดูนะครับ” (ตามลิงก์ที่แนบ) https://mobile.twitter.com/chadchart_trip/status/1512422813994713094

คำว่า ป้ายใหม่ที่กำลังติดตั้งเพิ่มจะมีลาย Pattern ตัดเย็บให้เห็นลางๆ ลองตามหากันดูนะครับ เป็นการชี้ชวนหรือไม่ กกต.จะต้องพิจารณา เพราะหลังเลือกตั้งจะเห็นภาพคนกรุงเทพฯจำนวนหนึ่งเก็บป้ายหาเสียงนายชัชชาติไปทำกระเป๋ากันอย่างคึกคักเลยทีเดียว

2. นายชัชชาติ ได้คะแนนเสียงจากคนกรุงเทพฯมากกว่า 1.3 ล้านเสียง จะไปหาเรื่องเขาทำไม อันนี้ยิ่งไม่ถูกใหญ่ คะแนนเสียงคือความนิยม ซึ่งต้องแยกจากพฤติกรรม หากมีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะมีคะแนนนิยมมากเท่าไหร่ ก็มิอาจลบล้างความผิดนั้นได้ และองค์กรที่มีหน้าที่ชี้ถูกผิด ต้องไม่หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้ แต่ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา


ขอยกตัวอย่างที่น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น คือ ในยุคของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี หอบเอาคะแนนเสียงกว่า 11 ล้านคะแนนทั่วประเทศมาด้วย ซึ่งในขณะนั้นมีคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ คือ กรณีซุกหุ้นอันลือลั่น พร้อมวลี “บกพร่องโดยสุจริต” ก็มีการนำคะแนนนิยมที่ได้มาสร้างกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้าย นายทักษิณ รอดพ้นคดีด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2544 โดยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ใช้เรื่องคะแนนนิยมดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการตัดสินคดีด้วย ในที่นี้ตนขออนุญาตหยิบยกคำวินิจฉัยส่วนตนของท่านประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญผู้ล่วงลับ ท่านให้หลักไว้อย่างดีมากในตอนท้ายของคำวินิจฉัย ความว่า

“..เมื่อผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีข่าวที่ค่อยๆ เบี่ยงเบนประเด็นที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาทีละน้อยๆ และเป็นระยะๆ ว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจจนร่ำรวยด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่มีการทุจริต ผิดกฎหมาย ผู้ถูกร้องเป็นคนแรกที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ถูกร้องสมัครใจยื่นรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมเอง หากศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องกระทำผิดก็เป็นการทำผิดโดยสุจริต ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ชะลอการตัดสินคดี หรือยกโทษให้ผู้ถูกร้อง ไม่ควรลงโทษผู้ถูกร้องซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน 10 กว่าล้านคน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีใครดีกว่าผู้ถูกร้อง ประเทศไทยขาดผู้ถูกร้องไม่ได้ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ศาลกระทำได้

และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมิใช่เป็น การแสดง “ความเห็นแก่ตัว” ของคน”

3. เลือกตั้งใหม่ นายชัชชาติ ก็กลับมาอยู่ดี จะร้องไปทำไมให้เสียเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณด้วยหากจะต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ อันนี้ผมยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะสังคมไทยต้องจรรโลงไว้ซึ่งศีลธรรม และกฎหมาย ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก สังคมจึงจะอยู่ได้อย่างสงบสุข ถ้าเราจะกดจริยธรรม มองข้ามกฎหมายไป เพียงเพราะใครคนหนึ่งได้รับความนิยมจากประชาชน หลักกฎหมายจะค้ำยันบ้านเมืองต่อไปได้อย่างไร

และที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ตัดสินไปเองแล้วนายชัชชาติ ผิด เพียงแต่ชี้ว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา คำวินิจฉัยของ กกต.ต้องอธิบายเหตุผลได้ บนหลักกฎหมาย ไม่ใช่เบี่ยงเบนไป เพราะกระแสกดดัน” (จากสยามรัฐออนไลน์)

ภาพ นายไพศาล พืชมงคล จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมายอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า พวกซากเดนเห็บเหาเผด็จการไม่ยอมรับเสียงข้างมากของประชาชน

กำลังรณรงค์ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จะเกิดรัฐประหาร และจะปิดบ้านปิดเมือง

หมายความว่า นอกจาก “พวกกู” แล้ว ประชาชนจะเลือกใครเป็นรัฐบาลไม่ได้

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจเลยว่า แม้ ชัชชาติ ชนะเลือกตั้งท่วมท้นแล้ว แต่พวกซากเดนเหล่านี้ยังคงพยายามที่จะหาทาง เสกเป่า เพื่อให้ชัชชาติถูกใบแดงให้ได้

ถ้าอับจนปัญญาก็เอาเลย อย่าช้า!!!
นี่แหละที่โบราณท่านว่า
“วินาศกาเล วิปริตะพุทธิ”
เมื่อกาลวินาศมาถึง สติปัญญาก็วิปลาสฟั่นเฟือนไป
(จากสยามรัฐออนไลน์)

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก การเมืองไทย ในกะลา
แชร์ข่าวประเด็น “อ.สิริพรรณ” ชี้ให้เวลา กกต.รับรองผล “ผู้ว่าฯ กทม.” มากไป

เนื้อหาระบุว่า วันที่ 29 พฤษภาคม รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทวีตข้อความระบุว่า การให้ กกต.มีเวลารับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 60 วัน เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.+ ส.ก. 30 วัน เป็นเรื่องไม่จำเป็น

หากไม่พบว่า นับคะแนนผิด รวมคะแนนพลาด ก็ควรประกาศรับรองทันที ส่วนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนสามารถทำภายหลังได้

ปชช. ลุ้นผลเลือกตั้งแล้ว ยังต้องลุ้นว่า กกต. จะใช้อำนาจเที่ยงธรรมหรือไม่


(https://www.matichon.co.th/politics/news_3371797)

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ กระแสสองด้านเกี่ยวกับ การทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของ “ชัชชาติ” ที่มีผู้ร้องเรียน และ กกต.จะต้องพิจารณา กับ ชัยชนะอันล้นหลาม ถล่มทลาย ที่ไม่มีใครเถียง ว่า เป็นความนิยมของประชาชนอย่างแท้จริง

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การซื้อสิทธิขายเสียงจนได้คะแนนเข้ามาเป็นจำนวนมาก นับเป็นประวัติการณ์ แต่เข้าข่ายทำผิดหรือไม่ ตามกฎหมายเลือกตั้งข้ออื่น

ส่วนกระแสสองด้าน ที่เห็นชัดที่สุด ด้านแรก เป็นเพราะมีการต่อสู้ทางการเมืองของ “สองขั้ว” อยู่แล้วในสังคมไทย ดังนั้นการร้องเรียน “ชัชชาติ” ทำผิดกฎหมาย จึงถูกมองว่า มาจากการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของฝ่ายตรงข้าม และเห็นว่า คะแนนนิยมขนาดนี้ ยังหาเรื่องให้ใบเหลืองใบแดง

และอีกด้าน คือ ฝ่ายที่เห็นว่า มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจริง เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ กรณีชักชวนให้นำป้ายหาเสียง มาทำกระเป๋า หรือผ้ากันเปื้อน ฝ่ายนี้อาจมีทั้งกลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม และคนที่เห็นว่า กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ และแยกให้ออกจากคะแนนนิยมของประชาชนที่ล้นหลามถล่มทลาย อย่าง กรณี “เชาว์” ยกเหตุผลมาให้เห็น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อยู่ที่ กกต. ซึ่งคาดว่าจะมีการรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่ ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ และเมื่อกระแสในสังคมออกมาเช่นนี้ ก็นับว่าน่าหนักใจแทน กกต.เหมือนกัน แต่เหนืออื่นใด ถ้า กกต.ยึดกฎหมาและความยุติธรรมอย่างเต็มที่ในการพิจารณา ก็ไม่มีอะไรที่น่าหนักใจ หรือว่าไม่จริง!?


กำลังโหลดความคิดเห็น