xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนถาวรไทยประจำ UN เป็นผู้แทนกล่าวยินดี ผอ.ใหญ่ WHO ได้รับเลือกตั้งสมัยที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (WHO South East Asia Region, WHO SEAR) 11 ประเทศ กล่าวแสดงความยินดีผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2 พร้อมชู 4 ประเด็น คาดหวังของภูมิภาคต่อผู้นำ WHO

วันนี้ (25 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เวลา 14.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา พร้อมผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 2565 ที่ ปาเล เด นาซียง (Palais de Nations) ที่ทำการสำนักงานสหประชาชาติ ประจำนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ นาย Tedros Adhanom Ghrebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ WHO คนปัจจุบันเป็นเพียงบุคคลเดียวที่ได้รับการเสนอชื่อจากประเทศสมาชิกให้ได้รับเลือกตั้ง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้เป็นผู้แทนประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (WHO South East Asia Region) 11 ประเทศ กล่าวถ้อยแถลงที่เป็นการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาค (Regional One Voice) ที่ผ่านความเห็นชอบในเนื้อหาของถ้อยแถลงร่วมกัน และตกลงให้ประเทศไทยเป็นตัวแทนภูมิภาคเป็นผู้กล่าวในห้องประชุมใหญ่ของการประชุมสมัชชาอนามัยโลก

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงได้แสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งในสมัยที่ 2 ของ นาย Tedros โดยผู้แทนจากประเทศไทยได้ชื่นชมในความกล้าหาญและความเป็นผู้นำของผู้อำนวยการใหญ่ WHO สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ใน 5 ปีของวาระแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกเผชิญกับโควิด19 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และ WHO ภายใต้การนำของ นาย Tedros ได้มีนวัตกรรมที่จะเป็นรากฐานที่เป็นความพร้อมตอบสนองต่อการระบาดใหญ่และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ สมาชิก WHO SEAR ทั้ง 11 ประเทศได้มีข้อคาดหวังต่อการปฏิบัติหน้าที่ในสมัยที่ 2 ของผู้อำนวยการใหญ่ WHO ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การเร่งฟื้นฟูทุกประเทศหลังการระบาดใหญ่ โดยผลักดันให้ 70% ประชากรทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในกลางปี 2565 นี้ ส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) และการดูแลสุขภาพด้านปฐมภูมิ ซึ่งนำไปสู่การมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนของประชากรโลก 2) เสริมสร้างกลไกการกำกับดูแลด้านสุขภาพระดับโลก เพื่อให้ WHO ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 75 ปี ปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นผู้นำในการรับมือกับประเด็นความท้าทายด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ รวมถึงสังคมสูงวัย 3) จัดหาแหล่งเงินทุนอย่างยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ WHO ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ 4) สนับสนุนการใช้ Intergovernmental Negotiating Body (INB) ซึ่งเป็นกลไกกลการเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในร่าง เจรจาอนุสัญญา ข้อตกลง หรือเครื่องมือระหว่างประเทศอื่นๆ ภายใต้ธรรมนูญของ WHO อันนำไปสู่ข้อผูกพันระดับโลกเพื่อการรับมือกับการระบาดใหญ่หรือวิกฤตด้านสาธารณสุขในอนาคต

“ผู้แทนจากประเทศไทยได้กล่าวย้ำในตอนท้ายว่าทั้ง 11 ประเทศสมาชิกของ WHO SEAR ไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการยกร่างถ้อยแถลง และ ได้มีการร่วมงานปรับปรุงเนื้อหาจนกระทั้งสมบูรณ์ พร้อมทั้งมอบความไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นผู้กล่าวในห้องประชุมแทนประเทศสมาชิก WHO SEAR ทั้ง 11 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงการร่วมงานกันของประเทศในภูมิภาคนี้อย่างดี อีกทั้งเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศต่างๆในภูมิภาคมีความเชื่อมั่นในศักยภาพด้านสุขภาพโลกของประเทศไทยอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความไว้วางใจอย่างเต็มที่ต่อการเป็นผู้นำ และพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำงานขององค์การอนามัยโลก ภายใต้การนำของนาย Tedros เพื่อประโยชน์สูงสุดของมนุษยชาติ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

ทั้งนี้ ชาติสมาชิก WHO SEAR ทั้ง 11 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย เมียนมา อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ ศรีลังกา ติมอร์เลสเต เกาหลีเหนือ และ มัลดีฟส์


กำลังโหลดความคิดเห็น