xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” ถกทวิภาคีแสวงหาความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ ในเวทีโลกที่เจนีวา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย “อนุทิน” พร้อมคณะ หารือทวิภาคีเพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศต่อเนื่อง ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

วันนี้ (24 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 75 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะ ได้พบหารือแบบทวิภาคีกับกับ Ms. Azhar Giniyat รมว.สาธารณสุข ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเป็นการหารือคู่ขนานระหว่างการเข้าร่วมประชุมเพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านสาธารณสุขของไทยกับนานาประเทศ ต่อเนื่องจากวานนี้ (23 พ.ค.) ที่ได้หารือกับ รมว.สาธารณสุขมาเลเซีย และผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ การหารือระหว่างไทยและคาซัคสถาน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) และนโยบายการดูแลสุขภาพประชาชนขั้นปฐมภูมิ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินทั้ง 2 นโยบายมาต่อเนื่องในเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน โดยประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลไกที่แข็งแกร่งในการดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ มีการพัฒนาระบบให้แข็งแรงและยั่งยืน และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ แนวทางปฏิบัติแก่ประเทศอื่นๆ ด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จากนั้นเวลา 11.00 น. นายอนุทิน พร้อมคณะ ได้หารือกับ นาย Birodh Khatiwada รมว.สาธารณสุข ประเทศเนปาล โดยฝ่ายไทยได้แสดงความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาด้านสาธารณสุข การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์แก่เนปาล ตลอดจนสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเนปาลต้องการความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เนื่องด้วยภูมิประเทศอยู่ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติบ่อยครั้ง

พร้อมกันนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้หารือถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลมายาเทวี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับการคลอดบุตร (Maya Devi Maternity Hospital) ในเขตลุมพินี ประเทศเนปาล ซึ่งล่าสุด คณะกรรมาธิการร่วมไทย-เนปาล ได้มีข้อตกลงในการร่วมกันผลักดันให้โครงการบรรลุผลสำเร็จเร็วที่สุด โดยในตอนท้ายการหารือ นาย Birodh ได้แนะนำผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งผู้อำนวยการ WHO ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเนปาล ต่อคณะจากประเทศไทยด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า WHO ภูมิภาคฯ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นประเทศจากอาเซียน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา และ อินโดนีเนีย ส่วนอีก 8 ประเทศอยู่นอกอาเซียน โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียใต้ อาทิ อินเดีย บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ภูฏาน โดยผู้อำนวยการ WHO ภูมิภาคฯ คนปัจจุบันได้แก่ Dr. Poonam Khetrapal Singh จากอินเดีย ได้ดำรงตำแหน่งมา 2 วาระแล้ว และจะหมดวาระในเดือน ม.ค. 2567 ซึ่งประมาณเดือน มี.ค. 2566 WHO จะเริ่มประกาศรับสมัครผู้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการคนใหม่ และมีการเลือกตั้งในระหว่างการประชุมคณะกรรมการ WHO ภูมิภาคฯ สมัยที่ 76 ที่ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในเดือน ก.ย. 2566

ในการร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกในครั้งนี้ คณะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุขของไทย ได้พบหารือเพื่อรับการแนะนำผู้ที่จะสมัครตำแหน่งผู้อำนวย WHO ภูมิภาคฯ จาก 2 ประเทศ ได้แก่ เนปาล และ บังกลาเทศ












กำลังโหลดความคิดเห็น