xs
xsm
sm
md
lg

ถามถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โจทย์ใหญ่ที่ไม่มีใครพูดถึง “ติดหนี้” BTS 40,000 ล้าน ดอกอีกปีละ 2.8 พันล้าน จะแก้ยังไง? **บทสรุป “เนตร นาคสุข” ที่สั่งไม่ฟ้องคดี “บอส” จบที่ให้ออกจากราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**ถามถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โจทย์ใหญ่ที่ไม่มีใครพูดถึง “ติดหนี้” BTS 40,000 ล้าน ดอกอีกปีละ 2.8 พันล้าน จะแก้ยังไง?

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันแล้วชาว กทม. ก็จะได้ทราบกันว่า ใครจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ตอนนี้ก็รอลุ้นกันไปก่อน แต่ไม่ว่าใครจะเข้าวิน ทำนายกันล่วงหน้าได้เลยว่าหนักหนาสาหัสแน่ เพราะ กทม.ใน พ.ศ.นี้ มีปัญหาสะสมพะเรอเกวียน

ช่วงหาเสียงขับเคี่ยวกันที่ผ่านมา ก็ได้รู้กันไปแล้วว่าแต่ละคนชูนโยบายอะไรบ้าง จะเข้ามาทำอะไรกันหลังได้ตำแหน่ง แต่แทบจะไม่มีใครพูดถึงปัญหาภาระ “หนี้ กทม.” โดยเฉพาะหนี้ที่กรุงเทพมหานคร และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทในสังกัด กทม. ติดค้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS อยู่เฉียดๆ 40,000 ล้าน !!!

ถามว่า หนี้ก้อนนี้ มาจากไหน?

ตอบว่า ก็มาจากการให้บริการเดินรถในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า “สายสีเขียว” ของกรุงเทพมหานครเองนั่นแหละ
โดยภาระหนี้ประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา กับ อีกส่วนเป็นค่าขบวนรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ สื่อสาร และ ระบบตั๋ว

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
หนี้สองส่วนนี้ เริ่มสตาร์ทตั้งแต่ปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ ตั้งแต่ตอนนู้นจนถึงบัดนี้ ผ่านมา 5-6 ปี ทั้ง กทม.และ กรุงเทพธนาคม ทำเป็นแบะๆ ไม่รู้ไม่ชี้ หนี้ก็พอกหางหมูขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกวัน ว่ากันว่า อย่างต่ำๆ ก็วันละประมาณ 24 ล้านบาท

งานนี้ก็ต้องบอกว่า “บีทีเอส” เป็นบริษัทเอกชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา กรุงเทพมหานครว่าจ้างให้เดินรถ และ บีทีเอส ก็ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนตลอด ทำไมต้องมาแบกรับภาระที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

บีทีเอส จึงทำเท่าที่ทำได้ มีการทวงถามหนี้กับกรุงเทพมหานครหลายครั้ง พร้อมกับยื่นฟ้องเพื่อให้กรุงเทพมหานครจ่าย แต่ก็ยืดเยื้อกันมา

ฟังว่า “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” และผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร เคยนำเรื่องเข้าที่ประชุม เพื่อจะขออนุมัติงบประมาณมาชำระหนี้ และเพื่อจะดำเนินโครงการต่อ แต่สภา กทม. ไม่เห็นชอบ ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะไม่มีงบประมาณเพียงพอ

ครั้นถามไปที่มหาดไทย ที่กำกับดูแล กทม. “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ก็เล่นบท “เสือเงียบ” ไม่รู้ๆ ไม่อนุมัติงบมาให้ กลายเป็นเรื่องคาราคาซังที่ไม่มีทางออกให้เอกชน

เช็กยอดหนี้ กทม. ที่เป็นหนี้ บีทีเอส ยอด ณ วันที่ 22 พ.ค. เมื่อปีที่แล้ว เห็นว่ามีจำนวน 33,222 ล้านบาท

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา 12,218 ล้านบาท ขณะที่ค่าขบวนรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ สื่อสาร และ ระบบตั๋ว 21,004 ล้านบาท

ถึงวันนี้ก็ลองคำนวณทบต้นทบดอกกันดู เฉียดๆ 40,000 ล้านดังว่า ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง
ถ้าปล่อยไว้ให้เป็นแบบนี้ต่อไป เจอดอกเบี้ย 7% ต่อปี ก็ตกอีกปีละ 2,800 ล้านอย่างต่ำๆ หนี้โดยรวมจะบานตะไทแค่ไหน คิดดูกันได้

หากปล่อยไว้อีก 10 ปี แค่ดอกเบี้ยอย่างเดียวก็จะร่วมๆ 3 หมื่นล้านแล้วจ้า

ว่ากันว่า ทุกวันนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายของ BTS ยังขาดทุนอยู่ราว 5-6 พันล้านบาท ต่อปี เมื่อบวกกับหนี้ก้อนท่วมหัว ถามว่าผู้ว่าฯ กทม.และมหาดไทย จะประสานสะสางเรื่องนี้กันยังไง ?

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่มีใครพูดถึง!!



**บทสรุป “เนตร นาคสุข” ที่สั่งไม่ฟ้องคดี “บอส” จบที่ให้ออกจากราชการ

เนตร นาคสุข
กรณี “เนตร นาคสุข” อดีตรองอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้อง “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหาคดีขับรถชน “ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ” ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ มีการตั้งกรรมการสอบมาแล้วหลายคณะ แต่ก็ยังไม่ถึงบทสรุป

กระทั่งมาถึงยุค “พชร ยุติธรรมดำรง” เป็นประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง “เนตร นาคสุข” และถึงวันนี้ก็มีบทสรุปออกมาแล้ว โดยที่ประชุม ก.อ. (18 พ.ค.) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 14 คน ลา 1 คน ในจำนวนนี้ มี ก.อ.ที่เคยถูกตั้งเป็นกรรมการสอบสวนวินัย “เนตร” อยู่ 6 คน ที่ประชุมจึงให้งดออกเสียง โดยกรรมการที่มีสิทธิลงมติจึงเหลือ 8 คน ซึ่งกรรมการทั้ง 8 คน มีมติเป็น “เอกฉันท์”

เห็นว่า “เนตร” ขาดความระมัดระวัง ความละเอียดรอบคอบ ในการรับฟังข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่สำคัญในคดี จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ...ถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

พชร ยุติธรรมดำรง
แต่ทางสอบสวน ไม่ปรากฏพยาน หลักฐานบ่งชี้ว่า “เนตร นาคสุข” ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องถูก “ไล่ออกจากราชการ” และเห็นพ้องกันว่า ควรลงโทษ “ปลดออกจากราชการ” แต่เมื่อพิจารณาถึงประวัติการรับราชการ พบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยถูกลงโทษในการกระทำความผิดทางวินัยมาก่อน และกรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดทางวินัยครั้งแรก อีกทั้งได้รับราชการมานานกว่า 40 ปี ทำคุณประโยชน์แก่ราชการไว้มาก กรณีจึงมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้ ก.อ.จึงมีมติและคำสั่งลงโทษเป็น “ให้ออกจากราชการ”

สำหรับโทษ “ให้ออกจากราชการ” ยังคงได้รับบำเหน็จ บำนาญ ต่างจากโทษ “ไล่ออก” ที่ไม่ได้รับบําเหน็จ บํานาญ

แน่นอนว่า การลงโทษ “ให้ออก” ย่อมมีเสียงวิพาษ์วิจารณ์ตามมา ทำนองว่าเป็นโทษสถานเบา เป็นการปกป้องพวกพ้องกันเอง...เพราะก่อนหน้านี้ “เนตร” ก็เคยยื่นลาออกมาแล้วถึง 2 ครั้ง

โดยครั้งแรก เมื่อเดือน ส.ค. 63 หลังจากคณะกรรมการชุด “วิชา มหาคุณ” สรุปผลสอบเสนอ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แต่ “อรรถพล ใหญ่สว่าง” ประธาน ก.อ.ในขณะนั้น บอกว่าหนังสือลาออกยังไม่มีผล และสามารถยับยั้งได้ 3 เดือน

ต่อมาในเดือน ก.ย. 64 “เนตร” ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการอีกครั้ง หลังจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้ชงความเห็นต่อที่ประชุม ก.อ.ว่า “เนตร” มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เพราะไม่พบการทุจริต แต่เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ อาจพิจารณางดบำเหน็จ หรือไม่เลื่อนขั้นเป็นระยะเวลา 2 ปี และไม่เสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอัยการอาวุโส

วรยุทธ อยู่วิทยา
แต่ปรากฏว่า ที่ประชุม ก.อ.มีมติ 9 ต่อ 2 เสียง ให้สอบวินัยร้ายแรง ซึ่งมีโทษสูงสุด คือ “ไล่ออก” ... การลาออกของเนตร ในครั้งที่ 2 จึงยังไม่มีผล กระทั่งล่าสุดที่ ก.อ.มีมติ “ให้ออกจากราชการ” ซึ่งก็ไม่ต่างกันนักกับความประสงค์ของ “เนตร” ที่แสดงความจำนงค์ก่อนหน้านี้

ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้ “พชร ยุติธรรมดำรง” ยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือกัน เพราะในหมู่อัยการรู้นิสัยของ “เนตร” ว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ควรจะขาดความรอบคอบ แต่คณะกรรมการสอบสวนก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการสั่งคดีนั้นมีการทุจริตตรงไหน จึงลงโทษไปตามสมควรแก่ความผิดดังกล่าว

“องค์กรอัยการเราอยู่มาถึง 140 กว่าปี ถ้าเราไม่ได้รับความเชื่อถือต่อสังคม เรารับไม่ได้เพราะองค์กรจะต้องอยู่ต่อไป เราเป็นทนายแผ่นดิน เป็นข้าแผ่นดิน ถ้าทนายแผ่นดินเชื่อถือไม่ได้ ก็ไม่รู้จะสรรหากระบวนการยุติธรรม ไหนที่เชื่อถือได้อีกแล้ว” ประธาน ก.อ.กล่าวยืนยัน

เป็นอันว่าตอนนี้ถือว่า สิ้นสุดในกระบวนการสอบสวนทางวินัยแล้ว หาก “เนตร” ไม่เห็นด้วยกับมตินี้ ก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ แต่เชื่อว่า “เนตร” คงไม่ด้นรนแล้ว ... ส่วนการดำเนินคดีอาญา ในส่วนของสำนักงานอัยการไม่มีแล้ว หากจะมีก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่จะฟ้องร้องดำเนินการ




กำลังโหลดความคิดเห็น