“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2565 ตอน ปลุกผีภาค 2 “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” คน กทม.ฟังแล้วตลก
เข้าสู่โค้งสุดท้ายศึกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ยิ่งดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ผู้สมัครแต่ละคนต่างงัด “กลยุทธ์-หมัดเด็ด” ออกมา แต่ความเคลื่อนไหวสำคัญอยู่ที่บรรดา “แฟนคลับ-นางแบก” ที่ออกมาสนับสนุนผู้สมัครแต่ละคน
จนกลายมาเป็นคำว่า “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” ผ่านการมองภาพสนามการเมืองเป็น 2 ขั้ว แบบการเมืองระดับชาติ ระหว่างขั้วเดียวกับรัฐบาลกับต่างขั้ว
.
การเลือกตั้งสนาม กทม. ครั้งนี้ แต่ละขั้วมีผู้สมัครลงมากกว่า 3 คน แบ่งเป็นฝั่งเดียวกับ “ขั้วรัฐบาล” ได้แก่ “ดร.เอ้”สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ “จั้ม”สกลธี ภัทธิยกุล และ “บิ๊กวิน”พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ลงสมัครในนามอิสระ
สกลธี-อัศวิน ทั้งคู่ก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล เพราะได้รับแต่งตั้งและเติบโตในการบริหาร กทม. ตั้งแต่ยุค คสช.
อีกฝั่งคือขั้วตรงข้ามรัฐบาล โดยมี “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล เป็นระดับ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” รองมาคือ “ผู้พันปุ่น”นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ภายใต้การเดินเกม “หญิงหน่อย”คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตเจ้าแม่นครบาลที่กลับมา “ทวงคืนตำแหน่ง” อีกครั้ง
และ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” ที่ลาออกจากพรรคเพื่อไทย มาลงสมัครในนามอิสระ ทำพื้นที่มากว่า 2 ปี ถือเป็นตัวเต็งนำแทบทุกโพลมาตั้งแต่ต้น
แต่ชัชชาติก็ถูกปรามาสไม่พ้น “เงาพรรคเพื่อไทย” เพราะเคยเป็น รมว.คมนาคม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และที่ทำให้ถูกมองเช่นนี้ คือ พรรคเพื่อไทยกลับไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา “ชัชชาติ” ก็ไม่แสดงท่าทีตรงข้ามรัฐบาลมากนัก
จุดนี้เองทำให้การลงสมัครในนามอิสระของแต่ละขั้ว ถูกวิวาทะทางการเมืองว่าเป็น “อีแอบ” ทำให้เกิดการปั่นกระแส “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ภาค 2 ออกมา
พร้อมเสนอให้ “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” ในฝั่งที่ถูกมองเป็นขั้วรัฐบาล ให้เทคะแนนไปที่ผู้สมัครคนเดียว เพราะเป็นฝั่งที่ “เสียงแตก” มากกว่าฝั่งขั้วตรงข้ามรัฐบาล
แต่การเมืองในลักษณะเช่นนี้ ที่ใช้ได้ผลในการเลือกตั้งสนาม กทม. 9 ปีก่อน ส่วนจะยังทรงพลังหรือไม่ วันที่ 22 พ.ค.นี้ จะเป็น “บทสรุป” ทั้งหมด
แต่เชื่อได้ว่าด้วย “ภูมิทัศน์ทางการเมือง” ที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้การตัดสินใจของคนกรุงเปลี่ยนไปด้วย กลุ่มที่อยาก “ชน” ไปเลยก็มี กลุ่มที่มองเรื่อง “งานบริหาร-นโยบาย” ก็มาก
กลุ่มที่มองเรื่อง “ความเป็นเอกภาพ” กับรัฐบาลก็มีจำนวนหนึ่ง หรือแม้แต่กลุ่มที่มองเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” ก็มีเช่นกัน ดังนั้นจึงตัดสินสนาม กทม. ได้ยาก และการใช้ยุทธศาสตร์เดิม จึงมีโอกาสไม่ได้ผลเช่นในอดีต
อย่างไรก็ตามในช่วงราว 20 ปีที่ผ่านมา ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ยึดครองพื้นที่ กทม. มาตลอด ส่วนขั้วพรรคตรงข้ามตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย พ่ายให้กับ ปชป. จึงถูกมองว่าเป็นอีกเหตุผลของ “ชัชชาติ” ลงสมัครในนามอิสระหรือไม่
ตามกระแสของ “คนกรุง” ที่มีแนวทางเลือกตั้งต่างจากพื้นที่อื่นๆ โดยมีโมเดลจากยุค “มหาจำลอง”พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่เน้น “ความประหยัด-รักษ์โลก” ควบคู่โมเดล “ดร.โจ”พิจิตร รัตตกุล ที่ลงในนาม “กลุ่มมดงาน” ที่มีภาพลักษณ์เป็น “นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” จนได้เป็น ผู้ว่าฯกทม. ซึ่ง “ดร.โจ” ก็มาเป็นทีมสนับสนุน “ชัชชาติ” ด้วย
ทำให้โมเดลของ “ชัชชาติ” ถูกมองว่าลอกแบบอดีตผู้ว่าฯกทม. ที่เคยถูกใจคนกรุงมาแล้ว
แต่คนกรุงเทพยังไม่สิ้นหวัง ที่ไม่รู้จะเลือกใคร เพราะยังมี รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ยืนหนึ่งที่เป็นอิสระของแท้ ไม่มีพรรคการเมือง หรือนายทุนคนใดหนุนหลัง รสนายังมีความโดดเด่นในด้านความซื่อสัตย์ เอาจริง ทำงานเป็น กล้าชน โดยเฉพาะการประกาศจุดยืน หยุดโกง ก็เป็นที่เชื่อถือไปแล้วว่าหญิงเหล็กคนนี้ถ้าหากได้เป็นผู้ว่าฯกทมฺ. ก็จะฟันพวกทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังแน่
นโยบายของรสนา น่าสนใจที่จะเป็นเหตุผลตัดสินใจลงคะแนนให้เธอ เพราะเป็นเรื่องตรงจุด ชัดเจน และจับต้องได้ แทบทุกเรื่องเป็นการแก้ไขปัญหา และพัฒนากรุงเทพมหานคร เช่น ค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอส 20บาทตลอดสาย เป็นเรื่องช็อกความรู้สึกคน เพราะคนอื่นจะเก็บที่ราคา65 บาท
ขณะที่ ปัญหาอย่างเรื่องน้ำท่วมซ้ำซากในเขตกทม. รสนาก็เสนอการขุดลอกคูคลองแม่น้ำให้เป็นที่รับน้ำและทางน้ำ ซึ่งประหยัดได้ผลแน่ แต่ใช้งบประมาณน้อย สร้างงานให้คนมีงานทำอีกต่างหาก ทุกนโยบายของรสนามีที่มาที่ไป เสนอวิธีการแก้ปัญหา พัฒนาไปข้างหน้า ไม่ใช้งบฟุ่มเฟือย เพื่อหวังเงินทอน
รสนาจึงคล้ายเป็นม้าตีนปลาย ในโค้งสุดท้ายมีเสียงสนับสนุนจากมหาชน เป็นกระแส ดังขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนกรุงเทพเห็นสัจธรรมแล้ว ไม่เลือกใครด้วยอารมณ์เอามันส์แล้ว อย่างการปลุกผี ไม่เลือกเรา เขามาแน่ คนกรุงเทพฟังแล้วตลก
ยังรู้ว่า แคมเปญ ที่ขั้วใกล้ชิดรัฐบาลพยายามจะกุมอำนาจบริหารกทม.ไว้ โดยใส่ร้ายป้ายสีผู้สมัครอีกขั้ว เรื่องแบบอดีตอาจจะได้ผล แต่ยุคนี้คนกรุงเทพสะอิดสะเอียน เลยขอเลือกรสนา ของจริงให้ชนะเป็นผู้ว่าฯกทม ดีกว่า
สำหรับกระแสการเลือกตั้งสมาชิก “สภากรุงเทพฯ” ก็แบ่งเป็น 2 ขั้วเช่นกัน แต่เบากว่า “ผู้ว่าฯกทม.” เพราะผู้ลงสมัคร ส.ก. จะถูกให้น้ำหนักในการพิจารณาในแง่ “ตัวบุคคล” มากกว่า ไม่ใช่เพียง “พรรค” หรือ “กลุ่ม” ที่สังกัดเท่านั้น
เพราะเป็นคนที่อยู่ใกล้ชุมชนมากที่สุด ทำให้แต่ละกลุ่มและแต่ละพรรคพยายามดึง “ตัวแม่เหล็ก” มาอยู่กับตัวเอง เช่น พรรค ปชป. พรรคเพื่อไทย พรรคกล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ กลุ่มรักษ์กรุงเทพ เป็นต้น ด้วยความหลายพรรค-กลุ่ม ก็ทำให้ “เสียงยิ่งแตก” มากกว่าการเลือก ผู้ว่าฯ กทม.
หากดูรายพรรค-กลุ่ม จะพบว่าเสียงไปแตกฝั่งขั้วรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล” ที่แข่งกันเองหนักหน่วง ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” เปิดแคมเปญมาว่า “เลือกให้ชนะขาด” ออกมา ที่สุดรับนโยบาย “แลนด์สไลน์” ของพรรคด้วย
ส่วนพรรคก้าวไกลก็ได้เปรียบบนเกมของ “วิโรจน์” ที่พร้อม “ชน-ทุบ” เต็มที่ ตรงกับหน้าที่ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ของท้องถิ่น
ทั้งหมดนี้อยู่ที่ “คนกรุง” ตัดสินใจในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้ และจะเป็นภาพสะท้อน “การเมืองไทย” อยู่ตรงไหน เพราะผลจากเลือกตั้งสนาม กทม. จะถูกใช้ประมวลผลไปสู่ “เลือกตั้งระดับชาติ” ในปีหน้าด้วย
-----------------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1