xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลเลือกกันเอง 76 ผู้ว่าฯ นั่งประธานคุม “22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ” พ่อเมืองเชียงราย-หนองคาย นั่งประธานลุ่มนํ้าโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดผลเลือกตั้ง “ทางลับ” 76 ผู้ว่าฯ เลือกกันเอง ได้ผู้ว่าฯหัวเมืองใหญ่ “นั่งประธาน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ” เอี่ยวบริหารงบลุ่มนํ้า 3.3 แสนล้าน “ผวจ.เชียงราย-หนองคาย” นั่งประธานลุ่มนํ้าโขง “พ่อเมืองเชียงใหม่/ลำปาง/แพร่/พิษณุโลก” คุม “ปิง วัง ยม น่าน” “ผู้ว่าฯ ขอนแก่น” คุมลุ่มน้ำชี ส่วน “ผู้ว่าฯ โคราช” คุมลุ่มน้ำมูล ด้าน “ผู้ว่าฯ นครสวรรค์” เป็นประธาน คุม “ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา” ตลอดสาย

วันนี้ (12 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้สรุปผลการเลือกประธานกรรมการลุ่มนํ้า “ทางลับ” ในแต่ละเขตลุ่มนํ้า ทั้ง 22 ลุ่มนํ้าเรียบร้อยแล้ว

หลังจากให้ 76 ผู้ว่าราชการจังหวัด เลือกกันเอง จากที่ได้รับทราบบทบาทของกรรมการลุ่มนํ้าในการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า 22 ลุ่มน้ำ ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์

โดยผลการเลือกกันเอง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นประธานกรรมการลุ่มน้ำสาละวิน ผวจ.เชียงราย เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าโขงเหนือ ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานกรรมการลุ่มน้ำปิง

ผวจ.ลำปาง เป็นประธานกรรมการลุ่มน้ำวัง ผวจ.แพร่ เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้ายม ผวจ.พิษณุโลก เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าน่าน

ผวจ.หนองคาย เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานกรรมการลุ่มน้ำชี ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานกรรมการลุ่มน้ำมูล

ผวจ.นครสวรรค์ เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ผวจ.อุทัยธานี เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าสะแกกรัง ผวจ.สระบุรี เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าป่าสัก

ผวจ.สุพรรณบุรี เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าท่าจีน ผวจ.ราชบุรี เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าแม่กลอง ผวจ.เพชรบุรี เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

ผวจ.ฉะเชิงเทรา เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าบางปะกง ผวจ.สระแก้ว เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าโตนเลสาบ ผวจ.ชลบุรี เป็นประธานกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก

ผวจ.สุราษฎร์ธานี เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ผวจ.สงขลา เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา

ผวจ.ยะลา เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และ ผวจ.ตรัง เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้าภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรนํ้าในเขตลุ่มน้ำองคณะกรรมการลุ่มนํ้า เกิดประสิทธิภาพ ทุกจังหวัดทราบและพิจารณาขับเคลื่อนการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการลุ่มนํ้าต่อไป

สำหรับการเลือกกันเองของ 76 ผู้ว่าฯ ดังกล่าว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการลุ่มนํ้าประจำลุ่มนํ้า เมื่อได้มีการจัดทำพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มนํ้า พ.ศ.2564 แล้ว

โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำทุกชุด เลือกกรรมการลุ่มน้ำอีกสองคนเป็นรองประธานกรรมการ โดยให้กระทำ ทุก 3 ปี

ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการลุ่มนํ้าตามกฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มนํ้า ผู้แทนจากหน่วยราชการ 13 แห่ง โดยตำแหน่ง,ผู้แทน (ผู้บริหาร) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดละหนึ่งคน

รวมถึง ผู้แทนกระทรวงกลาโหม (กห.) กรณีที่ลุ่มน้ำมีพื้นที่ติดต่อกับชายแดน ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรณีที่ลุ่มน้ำมีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล

ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรณีที่ลุ่มน้ำอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา โดยตำแหน่ง

ยังมีผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ จากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม รวมทั้ง กรรมการลุ่มนํ้าผู้ทรงคุณวุฒิ ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำแล้ว

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า ในพื้นที่ 22 ลุ่มน้ำ 353 ลุ่มน้ำสาขา สนช.ได้ตั้งงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า ไว้ 59,036 โครงการ วงเงินรวม 330,777 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น