ศบค.เผย 21 จังหวัด พบขาขึ้นยังสู้โควิด “โอมิครอน” ระบาด อีก 44 จังหวัด กรุงเทพฯ ยังทรงตัว ยังไม่ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น เหตุต้องกดอัตราผู้เสียชีวิตให้ต่ำ
วันนี้ (22 เม.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า กรมควบคุมโรค โดยกระทรวงสาธารณสุขได้แยกกลุ่มจังหวัด พบว่า 21 จังหวัดอยู่ในกลุ่มของตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ขาขึ้น ที่ยังต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาด ประกอบด้วย จังหวัดลำพูน แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ สกลนคร บึงกาฬ เลย อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นนทบุรี นครนายก กาญจนบุรี และ อุทัยธานี ส่วนกลุ่มที่ 2 พบว่า มี 44 จังหวัด เริ่มทรงตัว ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พะเยา พิจิตร ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี ลพบุรี ตาก สมุทรสงครามสมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม อ่างทอง และ สระบุรี ขณะที่ส่วนที่ 2 อีก 44 จังหวัด ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี พัทลุง พังงา ชุมพร ชลบุรี สมุทรปราการ มุกดาหาร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นช่วงขาลง พบว่า มี 12 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระยอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ในภาพรวมการประกาศว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นจะบ่งบอกว่า อัตราจำนวนผู้เสียชีวิต ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะนำมาใช้ในการบอกว่าเราไปถึงระยะนั้นแล้วหรือไม่ เพราะจะต้องน้อยกว่า 0.1% เป็นรายสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ติดต่อกัน นั่นคือสิ่งที่ต้องพยายามทำให้อัตราผู้เสียชีวิตต่ำไปกว่านี้ เราจะได้นำไปสู่การประกาศเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป