“พาณิชย์” จับมือ ศอ.บต.สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้ เผยไตรมาส 1 ปี 65 ความเชื่อมั่นอยู่ที่ 52.32 ลดจากไตรมาส 4 ปี 64 ที่ 53.49 เหตุคนกังวลปัญหาค่าครองชีพ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ราคาสินค้าเกษตร เตรียมนำผลเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือต่อไป
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สนค. ได้ร่วมกันจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนใต้เป็นรายไตรมาส เพื่อให้มีเครื่องชี้วัดความเชื่อมั่นและใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 32,739 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่าไตรมาส 1 ปี 2565 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมอยู่ที่ 52.32 ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2564 ที่อยู่ที่ 53.49 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 47.58 ลดจาก 49.82 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 56.94 ลดจาก 57.46
ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงมาจากความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลของประชาชนที่มีต่อปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้น ส่วนผลการสำรวจปัญหาที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด ยังคงเป็นปัญหาเรื่องค่าครองชีพ หรือสินค้าและบริการมีราคาสูง รองลงมา ได้แก่ ปัญหารายได้ตกต่ำ ซึ่งประชาชนมีความกังวลเพิ่มขึ้น และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากภาครัฐด้านการลดภาระค่าครองชีพ และการมีงานทำและรายได้ รวมถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร
“สนค.จะได้นำผลการสำรวจเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เพราะรู้แล้วว่าประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้มีความกังวลปัญหาอะไร และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไร อย่างเรื่องการลดค่าครองชีพ กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการเข้าไปดูแลอยู่แล้ว การสร้างงาน สร้างรายได้ การดูแลราคาสินค้าเกษตร ก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง แต่จะทำให้เข้มข้นและตรงจุดต่อไป” นายรณรงค์กล่าว
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การสำรวจในครั้งนี้ ในด้านการเกษตร ประชาชนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการส่งเสริมการผลิต ด้านเครื่องมือ ปุ๋ย พันธุ์พืช การตลาด เทคโนโลยี แรงงาน และแหล่งน้ำ ส่วนความสนใจการอาชีพ ต้องการให้ช่วยแนะนำ ให้ความรู้การทำอาหาร เบเกอรี ตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องดื่ม เสริมสวย นวดแผนไทย เป็นต้น
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จะใช้ผลการสำรวจเป็นเข็มทิศนำทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ปัญหาอะไรที่ดีขึ้น อย่างเรื่องความมั่นคง ก็จะขยายผลให้ดีขึ้นต่อไป หรือปัญหาที่ยังเป็นที่กังวล ก็จะต้องเร่งแก้ไข ที่เห็นได้ชัด เช่น ค่าครองชีพ ราคาสินค้าแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็ต้องเร่งแก้ไข และต้องมุ่งพัฒนาในภาคต่างๆ ให้ดีขึ้น ทั้งภาคการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมครัวเรือน ที่จะต้องเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน