คปต.ตรวจความก้าวหน้า แผน “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เช่าซีซีทีวี 610 ล้าน ระยะเวลาสัญญา 60 เดือน ในพื้นที่ 6 อำเภอชายแดนใต้ ระยะ 2 ตามแผนเดิมเช่าเอกชนดีกว่าซื้อขาด จ่อเสนอ คปต. บรรจุไว้ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อขอสนับสนุนการดำเนินการในระยะต่อไป
วันนี้ (28 เม.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เช้าวันที่ 29 เม.ย. ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2565 ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นธาน
พบว่า มีระเบียบวาระที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องติดตามความก้าวหน้าตามมติ คปต. และข้อสั่งการสำคัญเรื่อง ความคืบหน้าโครงการเช่าระบบป้องกันความปลอดภัยเขตเมือง (ระยะที่ 2) ด้วย ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่ 6 อำเภอ โครงการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
โครงการดังกล่าว หมดอายุสัญญา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 โดย กอ.รมน. ได้เสนอ โครงการฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ให้มีระยะเวลาสัญญา 60 เดือน มีกรอบงบประมาณ 610,149,060 บาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กอ.รมน. ได้ปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ในจำนวนงบประมาณ 35,000,000 บาท สำหรับในปีงบประมาณต่อไป จะได้ให้บรรจุไว้ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี
“โดย คปต. เห็นชอบในหลักการของโครงการฯ ในกรอบงบประมาณ 610,149,060 บาท”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการบริหารจัดการและการบูรณาการ การใช้ประโยชน์ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กอ.รมน.ได้หารือกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตรวจสอบรายละเอียดข้อเสนอที่เกี่ยวข้องของโครงการให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
“โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กอ.รมน. จะปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณกับ สำนักงบประมาณ เพื่อขอสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว และในระยะต่อไป ให้บรรจุไว้ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ให้ กอ.รมน. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป”
สำหรับโครงการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (Closed Circuit Television : CCTV) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เพื่อป้องกันการก่อการร้าย/การก่ออาชญากรรม และเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการรักษาความสงบของเมือง
“กอ.รมน. ดำเนินโครงการเช่ากล้อง CCTV ในเขตเมืองมาแล้ว ในปี 2558 และ ปี 2561 ดำเนินการโดย บจก.วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ ซีสเต็ม บริษัทย่อยของ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) ใช้งบประมาณ 610.14 ล้านบาท/ปี
มีการปรับเปลี่ยนจาก “การซื้อระบบและบริหารจัดการเอง” เป็นการ “เช่าระบบจากเอกชน” แทน เพื่อตัดปัญหาด้านเจ้าหน้าที่ควบคุม CCTV การดูแลบำรุงรักษาระบบ และประสิทธิภาพของการใช้งาน
ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณของแผ่นดินที่ต้องใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการซื้อระบบ และไม่เป็นภาระในดูแลรักษาและการซ่อมบำรุง
ปัจจุบัน รัฐบาลมีการจัดทำ “แผนแม่บทระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่ จชต. พ.ศ.2561-2565” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา
ปัจจุบันมีจำนวนกล้องที่ต้องนำเข้าระบบบูรณาการมากกว่า 6,665 กล้อง ซึ่งเป็นของหลายหน่วยงาน หลายยี่ห้อ หลายอายุการใช้งาน
มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุม CCTV เป็นส่วนรวมในหลายระดับ จำนวน 46 ศูนย์ ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ปค.มท.) เป็นศูนย์ควบคุม CCTV ระดับอำเภอ และ ระดับจังหวัด
พบว่า ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลใช้งบประมาณ 1,986.8 ล้านบาท เช่าระบบจากเอกชน ระยะเวลาเช่า 5 ปี มีการติดตั้งกล้อง CCTV ใหม่ 4,511 กล้อง และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางจำนวน 3 ศูนย์
วันเดียวกันนี้ คปต. ยังมีวาระพิจารณา โครงการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคง จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่
โครงการสานใจสู่สันติเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2565 และโครงการหนุนเสริมภาคประชาสังคมกับการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม.