xs
xsm
sm
md
lg

มท.จ่อเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวไทย-ลาว อำนวยความสะดวก 2 บริษัทฝั่งไทย เข้าพื้นที่สร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย จ่อออกประกาศเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว ไทย-ลาว อำนวยความสะดวก 2 บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน-ผู้รับจ้างก่อสร้างฝั่งไทย เข้าพื้นที่ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) มูลค่าทั้งโครงการ 3.9 พันล้านบาท หลังไฟเขียวจ่ายค่าที่ปรึกษาแล้ว กว่า 77 ล้านบาท

วันนี้ (11 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย เตรียมออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว เพื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อต้นเดือนที่แล้ว รับทราบการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อดำเนินการก่อสร้าง

ทั้งนี้ เป็นไปตามที่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 ได้ตรวจพิจารณาร่างประกาศดังกล่าว โดยรับฟังข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นชอบตามร่างประกาศดังกล่าวตามที่กองการต่างประเทศ สป. เสนอ และให้แก้ไข

พิจารณาแล้วเห็นว่า การขอเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว เพื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระหว่างบ้านดอนยม ต.ไคสี อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ราชอาณาจักรไทย กับ บ้านถ้วยอุดม เมืองปากชัน แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประซาซนลาว

สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว โดยการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวฯ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากร ยานพาหนะ เครื่องจักร/อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง และจะส่งผลให้สามารถดำเนินการก่อสร้างฯ ได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์และภายในระยะเวลาที่กำหนด

“เมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว กระทรวงมหาดไทย จะออกประกาศ และเห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ ครม.รับทราบการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดจะต้องปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวทันที”

ทั้งนี้ มอบให้กระทรวงคมนาคม ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำเงื่อนไข ข้อกำหนด และการควบคุมดูแลไม่ให้มืผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการใดๆ จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อความมั่นคง

โดยต้องปฏิบัติตามมติ ครม. (12 ต.ค. 2542 และ 10 พ.ค. 2548 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการก่อสร้างถนนหรือกระทำกิจการใดๆ บริเวณชายแดน และ เรื่อง การระงับการก่อสร้างถนนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์) อย่างเคร่งครัด

ต้นเดือนที่แล้ว ครม. ได้รับทราบการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ที่จะดำเนินการโดย กรมทางหลวง ได้ว่าจ้างบริษัทวิศกรที่ปรึกษาควบคุมงาน และบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง และได้ลงนามสัญญาจ้างเพื่อการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว

“สำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ ใช้งบประมาณ 77 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 สัญญาว่าจ้าง เลขที่โครงการจากกรมบัญชีกลางเลขที่คำสั่ง สค.2/2563 ลว.26 สิงหาคม 2563 กับบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอลซัลแต้นส์ จำกัด และ บริษัท เอ็ม เอ เอ คอลซัลแต้นส์ จำกัด”

โครงการนี้จะดำเนินการก่อสร้าง ร่วมกับอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากร ยานพาหนะ เครื่องจักรอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง

ซึ่งการดำเนินการเพื่อเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ สมช. พิจารณาเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อดำเนินการก่อสร้างแล้ว

ขณะที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า การเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวดังกล่าว ควรกำหนดเวลาเปิด-ปิด ในแต่ละวัน รวมทั้งกำหนดประเภทของยานพาหนะ เครื่องจักร/อุปกรณ์ บุคคลเข้าออกและจำกัดอาณาเขตพื้นที่การข้ามแดนให้ชัดเจน

เพื่อมิให้จุดผ่านแดนชั่วคราวถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น รวมทั้งควรเร่งรัดการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

สำหรับวงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 การก่อสร้างถนนฝั่งไทย ระหว่าง กม.0+000-9+400 วงเงิน 831 ล้านบาท

เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ธ.ค. 2565 จากข้อมูล ณ ก.พ. 2565 มีความคืบหน้า 50.903% เร็วกว่าแผน 1.378%

ขณะที่ สัญญาที่ 2 ด่านพรมแดน ศุลกากร อุปกรณ์ต่างๆ และถนนภายในด่าน ระหว่าง กม.9+400-12+082.930 วงเงิน 883 ล้านบาท

เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มี.ค. 2566 จากข้อมูล ณ ก.พ. 2565 มีความคืบหน้า 41.366% ช้ากว่าแผน 2.733%

และสัญญาที่ 3 งาน สะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยกทางหลวงหมายเลข 212 และลานอเนกประสงค์ใต้สะพาน) ระหว่าง กม.12+082.930-13+032.930 วงเงินรวม 1,263 ล้านบาท

แบ่งเป็น ฝั่งไทย วงเงิน 787 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว วงเงิน 476 ล้านบาท โดยได้กู้เงินกับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.

ทั้งนี้ โดยในส่วนของไทย เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 พ.ย. 2566 จากข้อมูล ณ ก.พ. 2565 มีความคืบหน้า 18% ช้ากว่าแผน 2.77% ส่วนของ สปป.ลาว จากข้อมูล ณ ก.พ. 2565 มีความคืบหน้า 25.21% เร็วกว่าแผน 8.11%

สำหรับภาพรวมของโครงการนั้น ในขณะนี้ คืบหน้า 36.756% ช้ากว่าแผน 1.375%

สำหรับ การดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว คาดว่า จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งฝั่งไทย และ สปป.ลาว ภายใน ม.ค. 2567

จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ระหว่างไทย และ สปป.ลาว ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการบำรุงรักษาหลังจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5

โดยคาดว่า จะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2567 หรือก่อนเทศกาลสงกรานต์ 2567


กำลังโหลดความคิดเห็น