xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้า ชู 4 นวัตกรรม ช่วย ปชช.มีส่วนร่วมติดตามการเมือง-การเลือกตั้ง กทม.มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันพระปกเกล้า ชู 4 นวัตกรรม ช่วย ปชช.มีส่วนร่วมติดตามการเมือง-การเลือกตั้ง กทม.มากขึ้น เชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

วันนี้ (6 พ.ค.) สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “เลือกตั้งมหานคร นวัตกรรมการเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ในการเลือกตั้ง กทม. โดย นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวตอนหนึ่งว่า จะเห็นได้ว่าในสนามเลือกตั้งจริง นอกจากภาควิชาการแล้ว ผู้สมัครพรรคการเมืองต่างๆ ก็สร้างนวัตกรรมเช่นกัน การหาเสียงรูปแบบใหม่ๆ นวัตกรรมป้ายหาเสียง หรือนวัตกรรมภาคสื่อมวลชนเอง ก็มีนวัตกรรมการนำเสนอคอนเทนต์เนื้อหาในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย จนผู้บริโภคเสพแทบไม่ไหวเลยก็ว่าได้ และตนเชื่อว่า สนามเลือกตั้งระดับชาติครั้งหน้าที่จะมาถึงอีกไม่นาน เราจะเจอทั้งนวัตกรรมของนักการเมือง และนวัตกรรมของสื่อมวลชนที่ล้ำหน้าไปมากกว่านี้อีก

นายสติธร กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมของสถาบันพระปกเกล้า มี 4 นวัตกรรม คือ 1. แอปพลิเคชั่น BKK Follow-Up ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูล เจาะข้อมูล กทม. โดยจะมีข้อมูลที่จำเป็น เป็นชุดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ กทม. ทั้งเรื่องอำนาจหน้าที่ผู้บริหาร อำนาจหน้าที่ของ ส.ก. ตลอดจนเงินงบประมาณของ กทม.ย้อนหลัง เพราะเราไม่อยากให้นักการเมืองเป็นผู้เสนอนโยบาย โดยประชาชนเป็นผู้เลือกอย่างเดียว แต่ควรมีปฏิสัมพันธ์กันแบบสองทาง ระหว่างนักการเมืองและผู้เลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นบรรยากาศการเมืองที่จะนำไปสู่การเมืองที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

2. แอปพลิเคชั่น Politicmate หรือการจับคู่ผู้ว่า สำหรับคนที่ไม่รู้จะเลือกใคร คนที่ยังมีข้อมูลผู้สมัครน้อย ต้องดูว่าใจตรงกับผู้สมัครคนไหน ซึ่งแอปพลิเคชั่นจะประมวลผลเป็นเปอร์เซ็นต์ บางคนอาจจะใจตรงกับผู้สมัครการเมืองฝ่ายตรงข้าม เพราะที่ผ่านมาอาจจะมองแค่มุมด้านลบของเขาเท่านั้น หรือคนที่เราชอบก็ต้องลองเดาใจเขาว่าคิดเหมือนเราหรือไม่ แต่ทั้งนี้เราไม่ตั้งใจให้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือนำทางไปสู่การเลือกผู้สมัครแต่อย่างใด แต่ต้องการให้ประชาชนให้ความสนใจผู้สมัครแต่ละคนมากขึ้น
3. การจับตาการเลือกตั้ง โดยใช้โมเดลจาก Parallel Vote Tabulations โดยจะมีอาสาสมัครเฝ้าระวังการเลือกตั้ง และการทำผิดเลือกตั้ง รวมทั้งจับตาดูการจัดการเลือกตั้งว่าเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะการนับคะแนนที่มีปัญหาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ประชาชนติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งได้ โดยสามารถเลือกติดตามการเลือกตั้งตั้งแต่เปิดคูหา หรือเลือกติดตามได้แค่ช่วงนับคะแนนได้ เหมือนการนับผลคะแนนคู่ขนานของการเลือกตั้ง
และ 4. แอปพลิเคชัน Hacknakon ซึ่งจะเป็นแอปพลิเคชันเกมโลกเสมือนเพื่อเปลี่ยน กทม.ให้ดีขึ้นในโลกความเป็นจริง โดยจะคล้ายเกมจับโปเกมอน แต่จะให้ผู้เล่นจับปัญหาชี้ปัญหาของ กทม.แทน เพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆ ให้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเกิดการรับรู้และแก้ปัญหาจริงๆ ซึ่งจะสามารถใช้ได้ต่อเนื่องจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เลย

นายสติธร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ นวัตกรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่คิดและทำคนละส่วน แต่มาต่อกันเป็นจิ๊กซอว์ได้ เพราะเรามองการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ผู้สมัคร มีผุ้เลือกตั้ง มีวันเลือกตั้ง มีคูหา มีการนับคะแนน มีการประกาศผล ได้นักการเมืองมาทำงานแทนเราแล้วจบ แต่จะทำอย่างไรให้การเมืองการเลือกตั้ง กทม. อยู่กับเราเป็นวัฏจักร เป็นวงจร ไม่ใช่แค่ช่วงเวลา 60 วันเท่านั้น จึงคิดว่าน่าจะมีนวัตกรรมให้เราใช้ประโยชน์เป็นช่วงๆ โดยเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่พื้นฐานที่สำคัญของการตัดสินใจคือข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็น






กำลังโหลดความคิดเห็น