“สังคมตัวใครตัวมัน”
เป็นคำอธิบายของผู้คนในบริบทวิถีชีวิตคนเมืองที่เราอยู่ในทุกวันนี้ใช่หรือไม่ เราใช้ชีวิตเพื่อตัวเองอย่างเดียวหรือเปล่า เราได้คิดถึงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันบ้างไหม ไม่ว่าจะด้วยวิถีเมือง วิถีแห่งโลกแห่งทุนนิยม หรือวิถีแห่งโลกเทคโนโลยี ที่ได้กลืนกินวิถีชีวิตคนเมืองเข้าไปสังเคราะห์ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่รักความสะดวกสบาย มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง หรือเฉพาะคนในครอบครัว ไม่ได้มองหรือแบ่งปันไปสู่ผู้อื่น
ทั้งที่เรื่องนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิทัล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเป็น Digital Native
Marc Prensky นักการศึกษาชาวอเมริกัน ผู้ให้คำนิยามคำว่า Digital Native คือผู้ที่เกิดมากับโลกดิจิทัล จะเป็นกลุ่มที่เข้าใจการใช้งานดิจิทัล และเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี หรือเรียกว่าเป็นธรรมชาติของเขา โดยไม่ต้องทำความเข้าใจหรือเรียนรู้มากเหมือนกลุ่มคนรุ่นพ่อแม่ พวกเขาเติบโตขึ้นมาโดยมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นโทรศัพท์เครื่องแรก และใช้งาน Google ตั้งแต่ยังเด็ก ประมาณว่าเกิดมากับเทคโนโลยีรอบตัว
นั่นหมายความว่า เด็กยุคนี้และนับจากนี้กำลังเติบโตขึ้นมาเป็น “พลเมืองดิจิทัล” ซึ่งต้องสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายต่อตนเอง ทำให้มีโอกาสที่จะขาดทักษะที่สำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการรู้สึกเห็นอกเห็นใจ รู้สึกผูกพัน รู้สึกอยากแบ่งปัน หรือแม้แต่การอยากช่วยเหลือผู้อื่น หรือที่เรียกว่าการมีจิตสาธารณะ
จิตสาธารณะที่อาจพัฒนาได้ 5 ขั้นตอน
หนึ่ง – รู้จักหน้าที่ตัวเอง
สอง – ฝึกรับผิดชอบในบ้าน
สาม – แบ่งปันผู้อื่น
สี่ – อาสาช่วยเหลือชุมชน
ห้า – สร้างจิตสาธารณะสู่สังคม
ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาจิตใจที่จะแบ่งปันไปสู่ผู้อื่น ถ้าได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นการพัฒนาจิตใจของตัวเองด้วย พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นแค่ไหน คนที่ได้รับการช่วยเหลือจะมีความสุขอย่างไร เพื่อให้เขาได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเกิดผลดีต่อผู้อื่นอย่างไร
เด็กเรียนรู้สิ่งรอบตัวและพฤติกรรมของคนที่อยู่ภายในครอบครัว ดังนั้นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้ลูก ต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่ก่อน ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับลูก รวมทั้งพฤติกรรมที่กระทำอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้ลูกได้เรียนรู้เป็นประจำ แม้จะมีการสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี แต่แค่เพียงคำพูดไม่สามารถสร้างจิตสำนึกที่ดีได้
การปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีงามเพื่อพัฒนาไปสู่จิตสาธารณะให้กับเด็ก ต้องเริ่มที่ผู้ดูแลเด็กต้องปรับจิตสำนึกของตนให้ดีเสียก่อน เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็ก ที่สำคัญฝึกสอนเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ และทำให้ดูเพื่อให้เด็กทำตาม
แต่ก็ต้องยอมรับว่าท่ามกลางการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งมีองค์ประกอบแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมมากมายในชีวิตจริง ทั้งแบบอย่างที่ไม่ดีทั้งคนรอบข้าง หรือแม้แต่ผ่านสื่อรอบตัว จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในครอบครัว “ต้องทำดีให้ลูกดู” อย่างต่อเนื่อง “ไม่ใช่พูดดีให้ลูกฟัง” เท่านั้น
- แบบอย่าง
จิตใต้สำนึกของลูกจะเปิดกว้างขณะอยู่กับพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่คิดดี ทำดี ลูกก็จะคิดดี ทำดีตาม อย่ามุ่งแต่พูดจาสั่งสอน โดยไม่ได้ทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง ลูกจะฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่จะต้องเกิดขึ้นจากการกระทำและคำพูดของพ่อแม่ให้ลูกได้เห็นและได้ยินอย่างสม่ำเสมอถึงจะได้ผล
- ความรัก
ความรักเป็นพลังที่ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก ไม่ใช่สมอง ถ้าพ่อแม่รักลูกและมอบความรักให้ลูกอย่างเหมาะสม ผลตอบแทนของความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก จะทำให้ลูกรักและเชื่อฟังอย่างมีเหตุผลเมื่อโตขึ้น และรู้จักมอบความรักต่อผู้อื่นเป็น
- คำพูด
การพูดกับลูกเชิงบวกทุกวัน เพื่อให้คำพูดเหล่านั้นประทับเข้าไปถึงจิตใต้สำนึกของลูก ระวังคำพูดในเชิงลบ เพราะวิธีการพูดที่แตกต่างกัน มันให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมากมาย
- สอดแทรกคุณธรรม
การพูดอย่างเดียวไม่เกิดผลดีเท่าเมื่อพูดแล้วลงมือกระทำดีให้ลูกเห็นด้วย รวมถึงหมั่นพาลูกไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ดี ที่เกิดประโยชน์และสอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรมด้วย เพื่อฝึกให้เด็ก รู้จักควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ตนเอง ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน โตขึ้นก็จะมีความสุข และสามารถส่งต่อความสุขไปสู่สังคมได้ด้วย
ว่าแล้วก็ขอเชิญชวนท่านที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมเรื่องจิตสาธารณะในเด็กวัย 8-12 ปี ผ่านกิจกรรมที่สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดทำโครงการประกวดสื่อเพื่อสร้างสำนึกพลเมืองในหัวข้อ “จิตสาธารณะ” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนอายุระหว่าง 8-12 ปี เข้าร่วมอบรมความรู้ และแสดงความคิดเชิงสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบสื่อนิทาน สมุดภาพ/ภาพการ์ตูน หรือคลิปวิดีโอ สำหรับเผยแพร่ให้แก่สถานศึกษาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนและการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะ
***ดาวโหลดรายละเอียดโครงการและใบสมัครได้ที่ : https://kpi.ac.th/news/news/data/1349