xs
xsm
sm
md
lg

ดันโละผู้ว่าฯ-นายอำเภอ สะเทือนทั้งบาง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ถวิล ไพรสณฑ์
เมืองไทย 360 องศา

มาอีกแล้ว สำหรับการผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยกเลิกรูปแบบการบริหารส่วนภูมิภาค แต่คราวนี้เป็นการเสนอและผลักดันออกมาจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และแน่นอนว่า ต้องเชื่อมโยงกับพรรคก้าวไกลแน่นอน หลักๆ ก็คือ เสนอให้มีการยุบตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วไปเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้กับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และให้ยกเลิกตำแหน่งนายอำเภอ โดยไปเพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับนายกเทศมนตรีในระดับเมือง หรือเทศบาล รวมทั้งให้เลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยให้เหลือเฉพาะนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งทุกตำแหน่งที่ว่านี้ล้วนมาจากการเลือกตั้ง

แน่นอนว่า ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจในลักษณะนี้ มีมานาน และถกเถียงกันมานาน เพียงแต่ว่าไม่เคยสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมา อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น มีการเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หรือนำร่องในบางจังหวัดที่มีความพร้อม หรือเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น

ส่วนสาเหตุที่ไม่เคยประสบความสำเร็จนั้น โดยความเป็นจริงบางครั้งก็มาจากความไม่พร้อมตามสภาพพื้นที่ รวมไปถึงประชาชน และที่สำคัญ มักจะได้รับการขัดขวางอย่างจริงจังโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ที่ถือว่าต้องสูญเสียอำนาจการควบคุมโดยตรง และที่ลืมไม่ได้ทุกครั้งหากมีการเสนอเรื่องการกระจายอำนาจแบบนี้ก็ต้องนึกถึง นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือเป็นเจ้าภาพในการผลักดันเรื่องนี้มานานหลายสิบปี และคราวนี้เขาก็ได้ย้ายเข้าสังกัดพรรคก้าวไกลเรียบร้อยแล้ว ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นการผลักดันจากเขาอย่างสำคัญ

ก่อนที่จะว่ากันในรายละเอียดและความเป็นไปได้ ก็ต้องย้อนไปพิจารณาข้อเสนอของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในเรื่องการกระจายอำนาจ ประเด็นปลดล็อกท้องถิ่น-ยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ไม่เคยไว้ใจประชาชน ว่า เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่เครื่องการรันตีว่า “ระบบรัฐราชการรวมศูนย์” จะหมดไป เพราะตราบใดที่ผู้ว่าฯนั้น ยังอยู่ในสังกัด และถูกสั่งการจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นรัฐราชการส่วนกลาง “อำนาจ” ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในท้องถิ่นก็จะยังคงเป็น “จากบนลงมาล่าง” อยู่ดี

ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเรามีการ “เลือกตั้ง” ผู้บริหารในระดับจังหวัดมานานแล้ว นั่นก็คือ ตำแหน่ง “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” หรือ “นายก อบจ.”

แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เสมือนกับว่ามีผู้บริหารที่อยู่ในระนาบเดียวกันนี้ 2 รูปแบบ คือ 1. ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง กับ 2. นายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ทว่าที่เลวร้ายและผิดหลักการกระจายอำนาจ ผิดหลักการปกครองตนเองเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดันใหญ่กว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

นายธนาธร บอกว่า “รัฐส่วนกลางไม่ไว้ใจประชาชน” และ “เป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อระเบิดศักยภาพของคน แต่ใช้สำหรับปกครองและควบคุมคน”

“ดังนั้น เมื่อกลับมาสู่หนทางที่ควรจะเป็น กับสิ่งที่เรียกว่า“ยุติรัฐราชการรวมศูนย์” จึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่เป็นการยกเลิกผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นระบบราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นแขนขาของรัฐราชการส่วนกลาง แล้วนำ “อำนาจ” นั้นไปให้กับนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้มีอำนาจในการออกแบบนโยบาย จัดเก็บภาษี จัดการทรัพยากรในจังหวัดของตนเองได้”

ขณะที่ระดับเมืองก็ยกเลิกตำแหน่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะมีนายกเทศมนตรีที่บริหารในระดับเทศบาล มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ นายก อบต. ทำหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องไปเพิ่มอำนาจ งบประมาณ และบุคลากรให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ให้ผู้บริหารแต่ละเทศบาล ให้แต่ละ อบต. สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้อย่างแท้จริง

มีรายงานว่า ขั้นตอนต่อไป “คณะก้าวหน้า” จะรณรงค์ เชิญชวนเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

อย่างไรก็ดี ก็ต้องย้ำว่า ข้อเสนอแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมา มีความพยายามผลักดันมาหลายครั้งแล้วในเรื่องการกระจายอำนาจ อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น เสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และยุบตำแหน่งที่ซ้ำซ้อน เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม กปปส. ก็เคยเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ โดยเป้าหมายหลักนอกเหนือจากการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมโดยรวมแล้ว ยังมีเรื่องการกระจายอำนาจในเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอีกด้วย เพียงแต่ว่าอาจเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เริ่มในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา เป็นต้น

แต่ข้อเสนอคราวนี้ของคณะก้าวหน้า ถือว่ามีความแข็งกร้าวมากกว่าทุกครั้ง นั่นคือ “หัก” ทั้งอำนาจส่วนกลาง ตั้งแต่รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย ไปจนถึงระดับท้องถิ่น เพราะการเสนอให้ยุบตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาก็ “เป็นเรื่อง” ทุกครั้ง เพราะจะถูกคัดค้านอยู่ตลอดเวลา และที่ผ่านมา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็มักเป็นเครื่องมือสำคัญของมหาดไทย ในการขัดขวางข้อเสนอแบบนี้ทุกครั้ง

แน่นอนว่า ข้อเสนอแบบนี้ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอาจรวมไปถึงพรรคก้าวไกลเพราะเชื่อมโยงถึงกัน จะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม ซึ่งครั้งนี้น่าจะมีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนอีกครั้ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีหลักการและเหตุผลพอๆ กัน แต่เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และความตื่นตัวแล้ว ก็น่าจะมีแนวโน้มมากกว่าทุกครั้ง

ขณะเดียวกัน ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า หากพรรคก้าวไกล หรือ กลุ่มนายธนาธร ผลักดันในสิ่งที่เป็นอารมณ์กับสังคม เช่น เรื่องการปฏิรูป การกระจายอำนาจ ก็น่าจะมาถูกทาง มากกว่าไปยุ่งวุ่นวายกับเรื่องละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเรื่อง “สถาบันฯ” ที่ห่างไกลเกินความเป็นจริง

ดังนั้น การแตะเรื่องการปฏิรูป การกระจายอำนาจแบบนี้ ถือว่าน่าจะมาถูกทาง และคงสร้างแรงกระเพื่อมในเชิงอำนาจกันไม่น้อย และหากพิจารณาถึงแนวโน้มแล้ว ถึงไม่สำเร็จ ก็น่าจะใกล้เคียงไม่น้อยก็แล้วกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น