xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ผวาถูกแทงคว่ำ เช็กเสียงเรียงตัวทุกสัปดาห์ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ล้วนแต่มีข่าวความเคลื่อนไหวในลักษณะที่กระทบต่อสถานะของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทบต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลักๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องความเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคเล็กๆ ที่รวมกลุ่มกันที่เรียกว่า “กลุ่ม 16” มีการพบปะหารือกัน รวมไปถึงการที่พรรคเพื่อไทยเชิญพรรคพวกนี้ไปหารือ จากนั้นก็มีการปูดข่าวเรื่องการจ่ายเงินจำนวน 5-30 ล้านบาท รวมไปถึงเรื่อง “นายกฯ สำรอง” และนายกฯ รักษาการ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างผลสะเทือนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งสิ้น

เพราะอย่างที่รู้กัน ก็คือ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีการเปิดสภาสมัยสามัญ มีหลายวาระที่รออยู่ ไม่ว่าจะเป็น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะประเดิมเข้ามาเป็นวาระแรก ในต้นเดือนมิถุนายน จากนั้นก็เป็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่า จะมีการพิจารณาเป็นลำดับถัดไปหลังจากนั้น รวมไปถึงที่เป็นประเด็นสงสัยกันในเรื่อง “วาระ 8 ปี” ที่จะครบกำหนดในเดือนสิงหาคม และตามมาด้วย ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือ “ญัตติซักฟอก” ซึ่งแน่นอนว่า เป้าหมายหลัก ก็คือ ตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี นั่นเอง

ทั้งสามเรื่องดังกล่าวล้วนมีผลกระทบต่อสถานะของนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น เรื่องแรกร่างงบประมาณที่เป็นกฎหมายการเงิน หากไม่ผ่านสภา ก็ต้องลาออก หรือยุบสภา ส่วนเรื่องที่สอง คือ กฎหมายสำคัญ หากไม่ผ่าน นายกรัฐมนตรี ก็จะถูกกดดันให้ลาออกเช่นกัน และ เรื่องสุดท้ายก็คือ “ญัตติซักฟอก” ซึ่งอย่างหลังนี้ หากมีการบรรจุเข้าระเบียบวาระเมื่อใดก็ตาม ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกจับ “ขึงพืด” กลางสภาทันที เพราะไม่อาจยุบสภาได้ จนกว่าจะมีการลงมติเรียบร้อย

ดังนั้น หากพิจารณากันตามนี้ ก็ต้องถือว่า สองเรื่องแรก คือ กฎหมายงบประมาณ และร่างกฎหมายสองฉบับที่ว่านั้น ยังสามารถอยู่ในความควบคุม เพราะหากไม่ผ่าน ก็สามารถยุบสภาแทนการลาออกได้ แต่กรณีหลังที่เป็นญัตติซักฟอก หากเข้าสภาไปแล้วมันก็ล้วนมี “ความเสี่ยง” ซึ่งไม่ใช่เสี่ยงธรรมดา แต่เป็นความเสี่ยงขั้นสูงเสียด้วย นอกเสียจากเห็นท่าไม่ดีก็อาจ “ชิงลงมือก่อน” ด้วยการยุบสภาเสียก่อนก็เป็นได้

ขณะที่เรื่องที่เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ซึ่งจะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ตาม หากผลออกมาทางลบ ก็ต้องลาออกสถานเดียว หรือพ้นตำแหน่งโดยปริยายอยู่แล้ว แต่ก็ยังเชื่อว่า ในกรณีนี้คงผ่านไปได้ไม่ยาก เพราะเมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้ว ยังสามารถเป็นนายกฯ ได้จนถึงปี 2570 แต่เพื่อความสบายใจก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก็แล้วกัน

อีกทั้งหากพิจารณาจากข้อมูลประกอบก็ยังพบว่า ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึง ส.ส.ทั่วไป ยังมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้ผ่านสภาให้ได้ ทั้งงบประมาณ และร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับ อย่างแรกเรื่องงบประมาณสำหรับพรรคร่วมรัฐบาล ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ เพราะยังมีหลายโครงการที่ต้องใช้งบประมาณต่อเนื่อง รวมไปถึงยังประโยชน์ไปใช้ในการหาเสียงช่วงการเลือกตั้งที่จะมาถึงอีกด้วย

ขณะที่กฎหมายสองฉบับนั้นเล่า นาทีนี้เชื่อว่า พรรคการเมืองที่เป็นพรรคใหญ่ และพรรคขนาดกลางหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย มีความปรารถนาที่จะให้ผ่านสภาโดยเร็ว เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งที่พวกเขามั่นใจว่าจะได้เปรียบถึงขั้นคุยฟุ้งไว้ล่วงหน้า จะชนะแบบ “แลนด์สไลด์” กันเลยทีเดียว ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะ “ป่วน” เขย่าอย่างไรก็คงไม่ทำให้ถึงขั้นต้องล่มกลางคันแน่นอน เพราะมีเป้าหมายใหญ่ข้างหน้ารออยู่นั่นเอง

ดังนั้น ที่ถือว่าเป็นศึกใหญ่ที่สุด ก็คือ “ญัตติซักฟอก” นั่นเอง ทำให้นาทีนี้เกิดคำถาม และการคาดเดากันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยุบสภาก่อนที่ญัตติถูกบรรจุเข้าสภา หรือไม่

แน่นอนว่า หากมองเข้าไปในใจลึกๆ ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเชื่อว่า ต้องมีความหวั่นไหวไม่น้อย เพราะหากปล่อยให้ไปถึงการอภิปรายซักฟอกเมื่อใด เมื่อนั้นตัวเองก็จะเสียการควบคุมทันที ขณะที่อีกด้านหนึ่งเขาก็ยังมีภารกิจสำคัญในช่วงปลายปี คือการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปก ที่ถือว่าเป็นงานระดับโลกในเดือนพฤศจิกายน ที่ก่อนหน้านี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” เคยมาแจ้งไทม์ไลน์ไว้ล่วงหน้า เพื่อลดแรงกดดันว่าหลังจากนั้นจะยุบสภาปลายปี เพื่อให้มีการเลือกตั้งในช่วงปีใหม่ หรือหลังจากนั้นไม่กี่วัน

แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรับประกันอะไรได้ ดังนั้น จึงได้เห็นท่าทีและความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการ “เช็กเสียง” กันเรียงตัวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ส่วนใหญ่เป็นระดับหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อขอความมั่นใจ

มีรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ซึ่งนายกฯ อารมณ์ดี โดยในช่วงก่อนรับประทานอาหารกลางวันนายกฯได้กล่าวชักชวนรัฐมนตรีให้ร่วมรับประทานอาหารกันที่ห้องอาหาร

ทั้งนี้ มีการจัดโต๊ะรับประทานอาหารให้กับนายกรัฐมนตรี โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าในการประชุม ครม.ทุกครั้ง นายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะร่วมรับประทานอาหารกลางวันโต๊ะเดียวกัน แต่การประชุม ครม.ครั้งนี้ ทั้ง 3 ป. ไม่ได้รับประทานอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ ร่วมรับประทานอาหารกับรัฐมนตรีอีกโต๊ะ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ร่วมรับประทานอาหารด้วย

โดยนายกฯรับประทานอาหารกลางวันโต๊ะเดียวกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายวราวุธ ศิลปอาชา  รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายกฯ มีการสอบถามรัฐมนตรีหลายคนถึงประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รวมถึงเสียงที่จะสนับสนุนรัฐบาล ว่า ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง โดยรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ยืนยันว่า พรรคของตนเองพร้อมที่จะสนับสนุนนายกฯ และรัฐบาลอยู่แล้วไม่ต้องห่วง

พร้อมกันนี้ พรรคร่วมรัฐบาลหลักๆ ทั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บรรดาแกนนำก็ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ยืนยันสนับสนุนรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี “ไม่มีแทงข้างหลัง” อย่างแน่นอน ทำให้พอเบาใจได้ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการเช็กเสียงพรรคร่วมรัฐบาลแบบเรียงตัวแทบจะทุกสัปดาห์ ทางหนึ่งก็เป็นการหยั่งท่าทีให้ชัวร์ก่อนตัดสินใจเมื่อถึงเวลาสำคัญ แม้ว่าตอนนี้ยังพอมั่นใจได้ว่า น่าจะผ่านได้ เพียงแต่ว่ามันก็ “เสี่ยง” เช่นกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น