xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป้อม” พลิกเกม รั้งสามมิตร-สายลุงตู่พรึบ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - สมศักดิ์ เทพสุทิน - สุชาติ ชมกลิ่น
เมืองไทย 360 องศา

ถือว่าน่าจับตาไม่น้อย สำหรับคำสั่งล่าสุดของ “บิ๊กป้อม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตั้ง “บอร์ดยุทธศาสตร์” ของพรรค เนื่องจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาดังกล่าวเป็นการ “เกลี่ยบทบาท” ให้กับ “กลุ่มก๊วน” ต่างๆ ภายในพรรคอย่างทั่วถึง และที่สำคัญ ก็คือ เป็นการเข้ามาร่วมแชร์อำนาจของบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร ที่เริ่มกลับมามีบทบาทในพรรคมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่า นี่คือ สัญญาณที่ส่งผลไปถึง “ฐานกำลัง” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตรงอีกด้วย

เพราะท่ามกลางข่าวคราวการแตกคอของ “พี่น้องสาม ป.” โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” ที่ระยะหลังเริ่มเดินไปคนละทาง แม้ว่ายังไม่อาจบอกได้ว่าเป็นลักษณะของการขัดแย้ง แต่ภาพที่ออกมานั้น หลายคนมองเห็นว่ามันไม่แนบแน่นเหมือนเดิม เพียงแต่ว่านาทีนี้ทั้งคู่ยังต้องเดินไปด้วยกัน แต่ว่าปลายทางข้างหน้าอาจจะไม่เหมือนกัน

ที่ผ่านมา สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ที่ควบคุมโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แบบเบ็ดเสร็จ แต่อาจด้วยสถานการณ์บังคับทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะต้องมีการแชร์อำนาจให้กับกลุ่มก๊วนหลักๆ ภายในพรรคมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังเห็นสัญญาณการรุกเข้ามาของ “ทีม” ที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

น่าสนใจก็คือ บทบาทของ “กลุ่มสามมิตร” ที่มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจน นอกเหนือจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ที่ปรึกษาพรรค รวมไปถึงคณะกรรมการบริหารพรรค และล่าสุด ร่วมเป็น “บอร์ดยุทธศาสตร์” ของพรรค โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หนึ่งในแกนนำกลุ่มสามมิตร เป็นประธาน

ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการบริหารพรรค จากกลุ่มสามมิตร ที่เคยเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มาก่อน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผอ.พรรค เป็นต้น และยังมีกลุ่มอื่นๆ เช่น นายวีระกร คำประกอบ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย นายประสาน หวังรัตนปราณี เป็นกรรมการและเลขานุการ และ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับเหตุผลการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ที่อ้างถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แล้วยังมีการพูดถึงเรื่อง “ความสามัคคี” ของสมาชิกพรรคจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องว่า มีความเข้มแข็งมากพอที่จะเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องมีการแข่งขันทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย

โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินงานของพรรคพลังประชารัฐให้เป็น ความหวัง ความศรัทธา และเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน โดยมีแนวทาง ดังนี้

1. ด้านกิจกรรมสัมพันธ์ มีเป้าหมายที่จะสร้างความคุ้นเคยของเหล่าสมาชิกพรรคทุกระดับผ่านกิจกรรมที่จะทำงานกันเป็นทีม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงทัศนคติให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน หลอมรวมกลายเป็นวัฒนธรรมรวมหมู่พร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมาถึง

2. ด้านการพัฒนาพรรค มีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพรรค เช่น สถานที่ทำงาน ระบบสื่อสารภายในพรรคให้พร้อมที่จะรองรับการติดตามงานที่รัฐบาลในพื้นที่เพื่อใช้ในการเพิ่มผลงานให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคและผู้สมัครในอนาคต

3. ด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น มีหน้าที่ในการคิดค้นรูปแบบการทำกินแบบใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนให้มีอาชีพทำกินต่อได้ โดยสามารถใช้งบประมาณจากโครงการของรัฐที่มีอยู่สนับสนุน โดยให้สมาชิกของพรรคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการต่างๆ เหล่านั้น

4. ด้านการสร้างการมีส่วนร่วม มีหน้าที่ในการสร้างกิจกรรมกับบุคคลภายนอกผ่านกิจกรรมแบบจิตอาสา ให้เกิดความรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับรัฐบาล

5. ด้านสื่อประชาสัมพันธ์และการข่าว มีภารกิจในการจัดหาและจัดทำ ประเด็นข่าว มุมข่าว ที่เพิ่มความเชื่อถือในพรรคและสามารถต่อต้านข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ของพรรคได้

เรียกว่า มีภารกิจที่ครอบคลุมแทบทุกด้าน เหมือนกับว่าเป็นการจัด “กระบวนทัพใหม่” เป็นการเกลี่ยบทบาทให้กับกลุ่มก๊วนต่างๆภายในพรรคดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกัน การเพิ่มบทบาทที่ว่านี้ยังเป็นเหมือนกับว่าเป็นกำลังสนับสนุนให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอีกด้วย เพราะที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มสามมิตร ที่นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รวมไปถึง นายอนุชา นาคาศัย ที่มีท่าทีสนับสนุนอย่างชัดเจน รวมไปถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนคมาณุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากกลุ่มตะวันออก และภาคกลาง

หากพิจารณาจากรายชื่อเท่าที่เห็นมันถึงได้บอกว่า “บิ๊กป้อม” ยอมแชร์อำนาจภายในพรรค เพื่อลบภาพความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ ขณะเดียวกัน เมื่อกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แยกออกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ความขัดแย้งดังกล่าวก็เริ่มสงบลงเรื่อยๆ

อีกทั้งการปรับกระบวนใหม่ในคราวนี้ยังเหมือนกับว่า “สายของบิ๊กตู่” ได้รับบทบาทมากขึ้น ทำให้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐก็เริ่มขยับเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหม่เช่นเดียวกัน เพราะนี่คือการกระจายบทบาทให้กับทุกกลุ่ม และที่สำคัญ ยังมองเห็นอีกว่า “กลุ่มทุน” เดิมๆ น่าจะยังอยู่ครบ ทำให้น่าจับตาเหมือนกันว่ากระแสที่บอกว่า “ขาลง” นั้นลงแค่ไหน เพราะแม้จะเป็นกลยุทธ์โบราณ แต่เมื่อพิจารณาตัวบุคคลแล้ว มันก็ไม่ธรรมดา ประมาทไม่ได้ อย่างน้อยก็ “เขี้ยวลากดิน” แทบทั้งนั้น !!


กำลังโหลดความคิดเห็น