xs
xsm
sm
md
lg

เคาะแล้ว 2.9 พันล้าน ผุดระบบบำบัดนํ้าเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 แผน 4 ปี “สปน.- มหาดไทย-กทม.” เร่งสำรวจด่วน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคาะแล้ว 2,902 ล้านบาท “ระบบบำบัดนํ้าเสียมีนบุรี ระยะที่ 2” แผน 4 ปี ใช้งบอุดหนุนรัฐ + งบ กทม. ตามนโยบายเร่งด่วน เจ้าภาพ “สปน.- มหาดไทย-กทม.-สทนช.” เดินหน้าสำรวจพื้นที่แล้ว เน้นป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองฝั่งตะวันออก

วันนี้ (25 เม.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมลงเรือสำรวจและติดตามการพัฒนาคลองแสนแสบตอนบน ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

พบว่า การลงพื้นที่ครั้งนั้น เน้นไปที่การติดตามโครงการระบายน้ำเสีย ตามแผนที่ กทม. เสนอให้มีการก่อสร้าง “โครงการบำบัดนํ้าเสียมีนบุรี ระยะที่ 2” ซึ่งเป็น 1 ใน 84 โครงการของแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ

โครงการนี้ ผ่านความเห็นชอบจาก คณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้ง 2 คณะแล้ว

เช่นเดียวกับที่ ครม. มีมติเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งต้องมีการก่อหนี้ผูกพันที่มีวงเงินเกิน 1,000ล้านบาท ขึ้นไปของ กทม. ซึ่งโครงการนี้ เป็น 1 ใน 9 โครงการ

โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 บรรจุเป็นโครงการลำดับที่ 8 มีองค์ประกอบของโครงการ ประกอบด้วย ก่อสร้างระบบบำบัดนํ้าเสีย ขีดความสามารถในการบำบัดบํ้าเสีย 42,000 ลบ.ม/วัน และเป็นโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย

“วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,902 ล้านบาท แยกเป็นเงินอุดหนุนรัฐบาล 50% และ งบ กทม. 50% ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 2566-2569)”

กทม. ระบุถึงผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อหักผลประโยชน์จากการจัดเก็บค่าบริหารจัดการนํ้าเสียออก พบว่า NPV = 1,714.79 ล้านบาท, B/C = 1.71 ล้านบาท, EIRR = 14.35 (อัตราคิดลดร้อยละ 9)

ขณะที่ คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) สั่งการให้ กทม. เตรียมความพร้อมโครงการให้สามารถดำเนินโครงการได้ทันที เมื่อได้รับงบประมาณ

สำหรับ โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี อยู่ในแผนระยะเร่งด่วน เป็นโครงการที่บรรจุไว้ในแผนการในการแก้ไขปัญหาและบำบัดน้ำเน่าเสียในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร

แบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระยะที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4.43 ตารางกิโลเมตร จะรับน้ำเสียในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตมีนบุรี และพื้นที่บางส่วนของเขตคลองสามวา เขตสะพานสูง และเขตคันนายาว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 โดยจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

ส่วนโครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ในระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 66-69) เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร

เช่น คลองแสนแสบ คลองสามวา และคลองสองต้นนุ่น ในเขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตคันนายาว และเขตสะพานสูง ครอบคลุมพื้นที่ 15.39 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะช่วยบำบัดน้ำเสียได้ 42,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

ขณะที่ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร อ้างว่า ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ถึง 2 ครั้ง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดเห็นด้วยถึงความจำเป็นในการก่อสร้าง

รายงานละเอียดของโครงการ ตามที่ สทนช. และ กทม. ดำเนินการ ระบุว่า เมื่อโครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แล้วเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้กรุงเทพมหานครมีระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ก่อนระบายลงคลองแสนแสบ และน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้

ทั้งยังช่วยทำให้คลองสายหลักที่สำคัญ ได้แก่ คลองแสนแสบ รวมทั้งคลองสาขาในพื้นที่บริการน้ำเสีย มีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น ลดปัญหาน้ำเน่าเสียและกลิ่นเหม็น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนต่อการป่วยเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง และโรคระบาดทางน้ำอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น