xs
xsm
sm
md
lg

"จิ๊บ ใส่ใจ"ย้ำ คุณภาพชีวิต สวัสดิการครูกทม.ต้องดีขึ้น เด็กต้องมีทักษะที่ใช้ได้จริงเป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(8 เม.ย.)น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 16 กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสไปนั่งรับฟังข้อมูลจากผู้ช่วยศาสตราจารย์สุคนธ์ อักษรชู รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและบริหารทรัพยากรบุคคล โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ เรื่องปัญหาด้านการศึกษาของกทม.พบว่าเป็นประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศ จากสถิติการศึกษา ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 437 โรงเรียน โดยมีนักเรียนกว่า 261,160 คน เด็กนักเรียนเหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานที่หลากหลาย ส่วนมากเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ผู้ปกครองเข้า มาประกอบอาชีพในกทม. เช่น คนงานก่อสร้าง  ดังนั้น เราต้องมีวิธีการการเรียนการสอนที่เหมาะกับเด็กเหล่านี้ ให้มีความรู้เพียงพอ และจบไปเป็นที่ยอมรับของสังคม

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวต่อว่า โรงเรียนที่สังกัดกทม.โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐ ติดปัญหาหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกครู ที่ไม่ได้จบตรงสาขา ครูจึงไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพโรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีจุดเด่นในเรื่องการเรียนการสอนต่างกัน เช่น บางโรงเรียนเด่นเรื่องภาษาไทย สอนให้เด็กอ่านควบกล้ำดี บางโรงเรียนเด่นด้านกีฬา เป็นต้น

“เด็กดีเก่งได้ แต่ เด็กเก่งไม่รู้จะดีได้หรือไม่ ดังนั้นต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กตั้งแต่เล็กครูต้องถ่ายทอดความรู้รวมถึงวิธีคิดต่างๆ ไปยังเด็กทั้งเรื่องคุณธรรม ความมีวินัย สิ่งต่างๆเหล่านี้ ต้องเริ่มตั้งแต่ ป. หนึ่ง – ป. สาม ทั้งความรู้ และ  ทักษะต่างๆจะต้องแน่น เด็กในโรงเรียนสังกัดกทม. ต้องมีสิ่งเหล่านี้ทัดเทียมกับเด็กจากที่อื่นๆปัญหาหลักที่พบตอนนี้คือเด็กที่มาจากโรงเรียนสังกัดในกทม. ความรู้ไม่แน่น พื้นฐานไม่เพียงพอ ทำให้เด็กเรียนต่อแบบไม่เข้าใจ ต่อยอดความรู้ไม่ได้ ทำให้เด็กไม่อยากเรียนต่อจนในที่สุดก็ขาดโอกาสในอนาคต ในขณะที่เด็กที่เรียนต่อ ป.ตรี จะสอบได้คณะที่คะแนนไม่สูงนักหรือมีทักษะไม่ตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการคุณภาพการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สิ่งที่โรงเรียนประสบอยู่ตอนนี้คือปัญหาด้านบุคลากรผู้สอนหรือครูที่ขาดความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และงบประมาณ"

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวต่อว่า วันนี้เราจะร่วมกันสร้างภาพใหม่ขึ้นมาอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาช่วยกันคิด
สิ่งที่สามารถทำและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของแรงงานในตลาดคือการเปิดหลักสูตรเพิ่มเติมเฉพาะสาขา เพื่อรองรับ นักเรียนมีโอกาสในการตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาชีพตามความถนัดและความสนใจของตนมากขึ้น เช่น ทักษะด้านช่าง  ด้านไอที ด้านการค้าขายออนไลน์ ด้านโค้ดดิ้ง หรือ ส่งเสริมด้านอีสปอร์ต ทั้งยังเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้แก่โรงเรียน เราต้องสร้างพื้นฐานการศึกษาให้เด็กที่มีโอกาสเรียนต่อ และเด็กที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อ เราต้องสร้างคนให้มีทักษะเฉพาะทางที่จะประกอบอาชีพให้ได้ เพราะเด็กสมัยนี้  อายุไม่ใช่ปัจจัย  ถ้าเก่ง และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางก็สามารถเอาตัวรอดได้

"จิ๊บเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะมาร่วมมือกัน ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษา ของเยาวชนไทย โดยการปรับปรุงระบบการศึกษาที่ใกล้ตัวที่สุด นั่นก็คือ โรงเรียน เราอาจจะสร้างโรงเรียนให้เหมือนกันทุกแห่งไม่ได้ แต่เราสามารถดึงจุดเด่นของแต่ละโรงเรียน เช่น โรงเรียนบางแห่งอาจเด่นเรื่องโซเชียลมีเดีย  เรื่องอาหารและการโรงแรม  เรื่องกีฬา เรื่องดนตรี   เราจะช่วยต่อยอดแต่ละโรงเรียนให้ไปให้เร็วขึ้น เพื่อการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น สอดรับกับความต้องการจริงในตลาดได้ดีขึ้น เด็กจบไปเป็นบุคลากรคุณภาพ เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมโดยสิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการเพิ่มสวัสดิการของครูผู้สอน รวมถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ เพราะปัญหาที่พบคือการที่ครูผู้สอนไม่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่สอน ฉะนั้นการจัดการศึกษาต้องปรับใหม่ ต้องรับครูที่จบตรงสาขา เพื่อให้สามารถถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้ดี โดยอาจมีการเชิญบุคลาการที่มีความรู้โดยเฉพาะมาสอนเด็กเพื่อให้เด็กเห็นแนวคิดและการนำไปใช้จริง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี"น.ส.ศศิกานต์ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น