ตามดู 2 เมกะโปรเจกต์ “มหาดไทย” จอแอลอีดี หน้าศาลากลาง 76 จังหวัด มูลค่า 301 ล้าน - เคเบิลใต้ดิน 4.3 พันล้าน “1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ใน 76 จังหวัด” หลัง “ปลัด มท.” แจงผ่านสื่อ เฉพาะ “ตัวจอ LED” ขนาด 5.120 X 4.096 เมตร มูลค่าเกือบ 3 ล้าน ยังไม่เปิดการใช้งาน อยู่ระหว่าง “สป.มท.” เตรียมลงพื้นที่ตรวจรับพัสดุทั่วประเทศ ส่วน “1 จังหวัด 1 ถนน” เสร็จแล้ว 7 จังหวัด เฉพาะโคราช 800 เมตร มูลค่า 45 ล้าน
วันนี้ (27 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากที่วานนี้ ( 26 มี.ค.) สื่อประชาสัมพันธ์กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ LED ขนาดใหญ่ ซึ่งได้ติดตั้งไว้ประจำจังหวัดอ่างทอง ณ ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง
จังหวัดอ่างทอง เป็น 1 ใน 8 จังหวัดแรกที่ผู้รับจ้างได้ส่งมอบป้ายประชาสัมพันธ์ โดยอยู่ระหว่างคณะกรรมการตรวจรับพัสดุของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยจะลงพื้นที่เพื่อพิจารณาตรวจรับพัสดุ
“ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการตรวจรับพัสดุ จึงยังไม่สามารถเปิดการใช้งานได้จนกว่าจะได้ตรวจรับพัสดุเสร็จสิ้น โดยได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้อง เหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนต่อไป”
การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้สู่ประชาชนด้วยป้ายประชาสัมพันธ์อัจฉริยะของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีสัญญาว่าจ้าง บริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DCORP และบริษัท ดีไลท์ติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดในนาม “กิจการร่วมค้า DCORP-DLI” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563
ระยะเวลาดำเนินการจะแล้วเสร็จตามสัญญาในวันที่ 7 สิงหาคม 2566 โดยจะติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ด้วยจอ LED ณ ศาลากลางจังหวัด 76 จังหวัด วงเงินสัญญาจ้างทั้งสิ้น 301.2500 ล้านบาท จากราคากลาง 303,882,080 บาท
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์จากส่วนกลางของทุกกระทรวง เชื่อมโยงการประชาสัมพันธ์ไปในส่วนภูมิภาค ได้ทั้ง 76 จังหวัด ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการสร้างการรับรู้สู่ชุมชนที่ได้ลงนามร่วมกันจากทุกกระทรวง
สำหรับ โครงการนี้ “กิจการร่วมค้า DCORP-DLI” ได้ยื่นข้อเสนอประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการค่าสร้างการรับรู้สู่ประชาชนด้วยป้ายประชาสัมพันธ์อัจฉริยะ ต่อสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และได้รับการคัดเลือกเนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางด้านเทคนิคถูกต้องครบถ้วนและเป็นผู้ได้คะแนนรวมสูงสุด เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563
บริษัทฯ ได้ดำเนินการลงนามสัญญาจ้างกับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 301,250,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่งค่าจดทะเบียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยมีระยะเวลาดำเนินการภายใน 1,095 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา
จากข้อมูลสัญญาจ้าง กำหนดวันส่งมอบงาน เป็น 13 งวด เช่น งวดที่ 6-9 ต้องส่งมอบและติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์อัจฉริยะ จำนวน 35 จังหวัด งวดที่ 3 ภายใน 485 วัน งวดที่ 7 ภายใน 545 วัน งวดที่ 9 ภายใน 730 วัน
งวดที่ 10-13 ส่งมอบอีกจำนวน 27 จังหวัด ถัดจากวันลงนามในสัญญา ภายใน 1,095 วัน เป็นต้น
ปี 2563 สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) ประกาศให้ “กิจการร่วมค้า DCORP-DLI” ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โครงการค่าสร้างการรับรู้สู่ประชาชนด้วย “ป้ายประชาสัมพันธ์อัจฉริยะ” ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในวงเงินงบประมาณ 301,250,000 บาท ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายอื่นใดทั้งปวงแล้ว
โครงการนี้ สป.มท. ในฐานะหน่วยรับงบประมาณ ได้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามแผนสร้างการรับรู้สู่ประชาชนด้วยป้ายประชาสัมพันธ์ “ป้ายอัจฉริยะ” วงเงิน 319.2 ล้านบาท ก่อหนี้ผูกพันระยะ 3 ปี (2563-2565)
มี ศูนยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ตามราคากลาง เมื่อเดือนเมษายน 2563 จำนวน 23 รายการ เช่น ป้ายประชาสัมพันธ์แบบดิจิทัล LED Outdoor Full. Color ขนาด 5.120 X 4.096 เมตร พร้อมอุปกรณ์ และระบบควบคุม ราคา 2,980,000 บาท จำนวน 76 ชุด ติดตั้งจังหวัดละชุด เป็นเงิน 226,480,000 บาท
รวมถึงอุปกรณ์สำนักงานสำหรับห้องคอลโทรลส่วนกลาง 200,000 บาท จำนวน 1 ชุด เป็นเงิน 200,000 บาท, สายใยแก้วนำแสง ราคา 100 บาท/เมตร จำนวน 15,000 เมตร เป็นเงิน 1,400,000 บาท ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า งานระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์
งานโครงสร้าง ฐานราก งานอะลูมิเนียมคอมโพสิต ราคา 599,500 บาท จำนวน 76 งาน เป็นเงิน 45,562,000 บาท งานระบบเสียง และการติดตั้ง ระบบเช่าใช้อินเทอร์เน็ต โปรแกรมบริหารจัดการต่างๆ
กล้องโทรทัศน์วงจรปิดชนิดเครือข่าย 152 ชุด อุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่าย 76 ชุด เครื่องสำรองไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์งานประมวลผล 78 ชุด อุปกรณ์ป้องกันเครือข่าย เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย 3 เครื่อง เครื่องละ 130,000 บาท เป็นต้น
มีข้อมูลว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารและจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2563 มีการหารือถึงโครงการสร้างการรับรู้สู่ประชาชนด้วยป้ายประชาสัมพันธ์อัจฉริยะ
โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563-2564 รวมวงเงินโครงการ 302,767,693 บาท โดยในส่วนที่เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำนวนเงิน 239,217,637 บาท มีการปรับแก้ไขลดลงเหลือจำนวนเงิน 12,683,700 บาท
นอกจากนี้ สป.มท. ยังได้ปรับแก้ไขตามข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการ รายการป้ายประชาสัมพันธ์ LED Outdoor Full Color พร้อมอุปกรณ์และระบบ ควบคุม ราคาชุดละ 2,980,710 บาท จำนวน 76 ขุด รวมเป็นเงิน 226,533,937 บาท ย้ายไปอยู่ในส่วนที่เป็นอุปกรณ์อื่นๆ ทำให้ส่วนที่เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ลดลงเหลือจำนวนเงินดังกล่าว
โครงการนี้ สป.มท. มีแนวคิดในการจัดทำโครงการติดตั้งระบบประชาสัมพันธ์แบบดิจิทัล พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพทั่วถึงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0.เชื่อมโยงประชาสัมพันธ์กิจกรรม ของ 76 จังหวัด สร้างภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลาง รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลจากกล้องวงจรปิดในระบบเครือข่ายมหาดไทย
ส่วนอีกโครงการ “งานจ้างเหมาก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ” ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
มหาดไทย ระบุว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เฉพาะ จ.อ่างทอง มีสัญญาว่าจ้าง บริษัท ฟิวเจอร์ อิเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด (FEC) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 วงเงินตามสัญญาจ้าง 133.4500 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 26 กันยายน 2565 ซึ่งเมื่อการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอ่างทองแล้วเสร็จ ก็จะไม่มีการบดบังสายตาประชาชนในการมองเห็นป้ายประชาสัมพันธ์ดังกล่าว
สำหรับ แผนงานปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ของ PEA ปี 2563-2566 เป็นไปตามมติ ครม.ที่เห็นชอบโครงการ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563
ใช้งบประมาณรวม 4,300 ล้านบาท มีเป้าหมาย ดำเนินการ ใน74 จังหวัด ระยะทางจังหวัดละประมาณ 1 กม. เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ และการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยการนำสายไฟฟ้าลงดิน และ/หรือ ปรับปรุง
เป็นโครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีการคัดเลือกถนนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนั้นๆ เพื่อดำเนินการปรับปรุงผิวถนนจรดวิถีถ่อง และพัฒนาภูมิทัศน์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด สวยงาม รวมทั้งปลูกต้นไม้ประดับให้ดูร่มรื่นสวยงามตลอด 2 ข้างทาง
ล่าสุด เมื่อเดือน ก.พ. 2565 กฟภ. รายงานผลการดำเนินงาน พบว่า 24 จังหวัด อยู่ระหว่างประกวดราคา 44 จังหวัดอยู่ระหว่างดำเนินการ และ 6 ก่อสร้างแล้วเสร็จ
ก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่ 6 จังหวัด ดังนี้ 1. ถนนปละท่า จังหวัดสงขลา ระยะทางรวม 1.20 กม. 2. ถนนสุวรรณศร จังหวัดสระแก้ว ระยะทางรวม 1.17 กม. 3. ถนนศรีโสธร และถนนเทพคุณากร จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทางรวม 1 กม.
4. ถนนพระยาสัจจา, ถนนเพสตรา, ถนนวชิรปราการ จ.ชลบุรี ระยะทางรวม 1 กม. 5. ถนนสวนรุขชาติ จ.ตราด ระยะทางรวม 1 กม. และ 6. ถนนทหาร จ.อุดรธานี ระยะทางรวม 0.7 กม
ล่าสุด พื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่ได้เลือกพื้นที่ดำเนินการเส้นถนนจอมพล ตั้งแต่สี่แยกศาลหลักเมือง ถึงทางแยกตัดประตูพลล้าน ระยะทางประมาณ 800 เมตร งบประมาณ 45,618,000 บาท