ตั้งเงื่อนไขล็อกสเปก เอื้อประโยชน์บางเจ้า ? เอาล่ะสิ ! “ซิโน-ไทย-วงษ์สยามฯ” เปิด 4 ข้อโต้แย้ง 1 ข้อสงสัย ยื่น กปน. ปมถูกตัดสิทธิประมูลขยายโรงผลิตน้ำประปา
จากกรณีที่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเข้าร่วมการประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ มูลค่าราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 แต่ถูกตัดสิทธิการประมูล เนื่องจาก คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ กปน. ระบุว่า ทั้ง 2 บริษัท ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ซึ่งระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัท ได้ ยื่นหนังสืออุทธรณ์ จ้าง ต่อผู้ว่าการ กปน. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว รายละเอียดเบื้องต้น จากทางบริษัท ซิโน-ไทย คือ บริษัทมีผลงานก่อสร้างระบบประปา โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศนาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 และจากหนังสือรับรองระบุชัดเจนว่า บริษัทมีงานติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเมื่อคำนวณมูลค่างานตามสัดส่วน 80% ในกิจการร่วมค้าออกมา ก็พบว่า มีมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท สอดคล้องกับ TOR ที่กำหนดมา ในประเด็นดังกล่าว กปน. มาให้เหตุผลภายหลังว่า ผลงานการติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ กปน.ได้ตั้งคุณสมบัติไว้นั้น หมายถึงกำลังการผลิตสุทธิ ซึ่งไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย
ขณะที่ ขณะที่หนังสืออุทธรณ์ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ระบุว่า ได้ยื่นผลงานก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2556 เป็นไปตามประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 แต่กลับถูก ตัดสิทธิ และคณะกรรมการไม่เคยเรียกบริษัทให้มาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม
ล่าสุด 17 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวเปิดเผยว่า รายละเอียดของหนังสืออุทธรณ์ฉบับเต็มจากทั้ง 2 บริษัท ซึ่งมีข้อสงสัยว่า อาจมีความไม่ชอบมาพากล ในการตัดสิทธิบางบริษัท เพื่อเอื้อประโยชน์ ให้กับบางบริษัท สำหรับหนังสืออุทธรณ์ของบริษัท ซิโน-ไทย ให้เหตุผลว่า การตัดสิทธิผู้เข้าร่วมประมูล เรื่องขาดคุฯสมบัติ ยังตกหล่นข้อเท็จจริง ที่เป็นสาระสำคัญ ทั้งยังขาดข้อพิจารณา ที่น่าเชื่อถือในการตีความการขาดคุณสมบัติ ถึงขั้นระบุว่า การกำหนดคุณสมบัติ เพิ่มเข้ามาภายหลังนั้น “เพื่อหวังจะตัดสิทธิผู้เข้าประกาดราคาบางราย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
ข้อโต้แย้ง ของบริษัท ซิโน-ไทย มี 4 ข้อสำคัญ ประกอบไปด้วย 1. ตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ถูกอ้างถึง และถูกถือเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ไม่ได้มีการกำหนดไว้ถึงเรื่องการ “รวมหรือไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย” ไว้ด้วยแต่ประการใด
หาก กปน.จะหยิบยกเรื่องการรวมหรือไม่ รวมปริมาณน้ำสูญเสีย มาเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมขึ้นอีก เพื่อตีความคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ก็ย่อมเป็นการผิดแผกไปจากเนื้อความแห่งประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 เพราะถือเป็นการตั้งเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดนิยามไว้ตั้งแต่แรก เพื่อหวังจะตัดสิทธิผู้เข้าประกาดราคาบางราย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
2. การนำ “กำลังการผลิตสุทธิที่ 800,000 ลูกบาศก์เมตร” อันเป็นความต้องการของงานที่จะจัดจ้าง มาตีความ “ผลงาน 100,000 ลูกนาศก์เมตรต่อวัน” ที่บริษัท ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ถือเป็นการหลงประเด็น จากการนำสเปกงานที่ต้องการจัดจ้างในอนาคตของตนเอง มาปะปนกับคุณสมบัติทางด้านประสบการณ์ที่ตนเองตั้งเงื่อนไขไว้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 กำหนดไว้แต่เพียงว่า “มีผลงานก่อสร้าง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน”
ประเด็นพิจารณาในที่นี้ จึงต้องดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยไม่นำลักษณะความต้องการของผลงานที่จะจัดจ้างมาปะปนกัน การใช้ความต้องการในอนาคตของตนเองมาตีความผลงานที่บริษัทใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติเช่นนี้ จึงไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเนื้องต้นในเอกสารประกาดราคา เล่ม 3/8 ที่กำหนดเพียงว่า “ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน” เช่นกัน
3. หลังจากรับทราบคำกล่าวอ้างของ กปน. ที่อ้างว่า มีหนังสือจากเทศบาลนครนครราชสีมามาชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องนี้ไว้ บริษัทได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเทศบาลนครนครราชสีมา มีหนังสือแจ้งข้อมูลเรื่องนี้ไว้ 2 ฉบับ ซึ่งทั้งสองฉบับมีเนื้อความไปในทางสนับสนุน ว่า
ผลงานก่อสร้างโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เทศบาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 ที่ถูกนำมาใช้ยื่นเป็นประสบการณ์มีความสอดคล้องกับประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 แล้ว
กล่าวคือ หนังสือชี้แจงข้อมูลจากเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/418 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565 ชี้แจงว่าเป็นปริมาณซึ่ง “มีกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วยตามข้อกำหนดไว้ในสัญญา” อันหมายความว่า หลังจากผ่านการคิดคำนวณเรื่องน้ำสูญเสียเสร็จแล้ว ปริมาณการผลิตจริงที่ทำได้ ก็ยังเป็น 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างที่ออกให้
และหนังสือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมจากเทศนาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/550 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2565 ก็ได้แจกแจงเพิ่มเติมว่า “ไม่ปรากฏข้อมูลว่าขนาดกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลบ.ม./ชม. เป็นขนาดกำลังการผลิตน้ำประปาที่จ่ายออกจวกโรงงานผลิตน้ำประปาหรือกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วย”
ซึ่งหมายความว่า หากจะวัดกันโดยลงไปดูรายละเอียดถึงหน่วยชั่วโมงตามสัญญา จะสามารถทำได้ถึง 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (มาจาก 4,400 x 24) และตามสัญญาก็ไม่ได้บอกด้วยว่ามีปริมาณน้ำสูญเสียแต่อย่างใด
กปน. ซึ่งมิใช่เจ้าของโครงการงานแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคนริโภคเทศบาลนครนครราชสีมา จึงไม่มีอำนาจบิดเบือนข้อความในเอกสารราชการ หรืออนุมานเอาเองว่า โครงการของเทศบาลนครนครราชสีมาที่ถูกใช้ยื่นเป็นคุณสมบัตินี้ มีปริมาณน้ำสูญเสียเกิดขึ้นเท่าใด
และไม่ว่าจะมีปริมาณน้ำสูญเสียเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องรับฟังว่า ผลงานก่อสร้างโครงการของเทศบาลนครนครราชสีมา สามารถทำกำลังผลิตได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามหนังสือรับรองผลงาน มิฉะนั้น ก็จะเป็นการตีความที่ผิดแผกไปจากเอกสารโดยสิ้นเชิง
4. ที่ กปน.อ้างว่า ในชั้นออกแบบ ถูกออกแนบให้ผลิตน้ำประปาได้ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เป็นการรับฟังจากเอกสารที่เก่าเก็บ ล้าสมัย เนื่องจากถูกทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2542 และเป็นเอกสารระหว่างผู้ออกแบบกับกรมโยธาธิการ จึงไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างตามโครงการที่บริษัทใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ
โดยโครงการจากเทศบาลนครนครราชสีมานี้ ได้ถูกนำมาทำสัญญาจัดจ้างในปี พ.ศ. 2550 และดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2559 คิดเป็นระยะเวลาห่างจากขั้นตอนออกแบบถึง 17 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบบก่อสร้างจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีปริมาณการผลิตมากขึ้น ซึ่งผู้รับจ้างก็ได้ทำงานอย่างถูกต้องตามสัญญา จนงานมีกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลบ.ม./ชม. แล้ว ถึงผ่านการตรวจรับงานแล้วเสร็จมาได้
กปน.จึงต้องรับฟังจากหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างของเทศบาลนครนครราชสีมา และเอกสารมาตรฐานการก่อสร้างเล่ม 1/2 โครงการของเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นเอกสารจากหน่วยงานของรัฐที่ใหม่กว่า และถูกจัดทำขึ้นภายหลังขั้นตอนการออกแบบแล้วเสร็จ โดยเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการและเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะผู้ตรวจรับงานก่อสร้างได้จัดทำขึ้นเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ผู้ออกแบบ (บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด) ในโครงการที่บริษัทใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ก็มีการนำเสนอผลงานอยู่บนเว็บไซต์ http://progress.co.th/html.th.MWTP/references_30WTP.html ของตนเอง โดยระบุว่า “ระบบผลิตบ้านใหม่หนองบอน : ระบบกรองเร็ว ขนาดกำลังผลิต 4,4000 ลบ.ม./ชม.”
แสดงให้เห็นว่า โครงการดังกล่าวผ่านการปรับปรุงแก้ไขแบบใหม่ เพื่อให้ผลงานก่อสร้างมีความสามารถในการผลิตน้ำมากขึ้นกว่าแบบในช่วงปี พ.ศ. 2542 แล้ว อันส่งผลให้ผลงานที่สร้างแล้วเสร็จและส่งมอบแก่เทศนาลนครนครราชสีมา สามารถทำการผลิตน้ำประปาได้ถึง 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว หากการประปานครหลวง ยังคงดึงดันจะรับฟังว่า ผลงานนี้ผลิตน้ำประปาได้ไม่ถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็จะขัดแย้งกับบรรดาเอกสารทั้งปวงที่บริษัท ได้นำเสนอให้ท่านได้พิจารณามา ณ ที่นี้ และเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
บริษัทจำต้องขออุทธรณ์ผลการพิจารณาดังกล่าว ขอท่านโปรดดำเนินการพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว และแจ้งผลการพิจารณากลับมายังบริษัทด้วย
ขณะที่ หนังสืออุทธรณ์ของทาง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ชี้แจง 2 ประเด็น คือ 1. บริษัทเป็นผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติ ตามประกาศประกวดราคาจ้างของ กปน. มีผลงานการก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่มีขนาดตั้งแต่ 500-5,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง
และผลงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2556 ซึ่งเป็นผลงานประเภทเดียวกันกับผลงานที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 ตามข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในหนังสือรับรอง
โดยทางบริษัทมีข้อสงสัยว่า “ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 55(2) กำหนดหลักกฎหมายไว้ว่า ในกระบวนการพิจารณาผลการประกวดราคา คณะกรรมการพิจารณาฯ อาจสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดก็ได้ ดังนั้น หาก กปน. พิจารณาเอกสารแล้ว เกิดข้อสงสัย ควรต้องเรียกให้บริษัทนำส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม
“ในการประกวดราคาครั้งนี้ มีมูลเหตุอันควรสงสัยที่ กปน. ควรจะต้องเรียกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องด้วยบริษัทเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด การที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังในข้อดังกล่าว เป็นเหตุให้ กปน.เสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ผู้เสอนราคาต่ำสุด และมีคุณสมบัติครบถ้วน”
สำหรับการประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ของ กปน. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 มีเอกสารมายื่นเสนอราคา 5 ราย ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 6,150 ล้านบาท อันดับ 2 บมจ.ซิโน-ไทย เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท และอันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และ บริษัท อาควาไทย จำกัด) เสนอราคา 6,460 ล้านบาท