xs
xsm
sm
md
lg

“ซิโน-ไทย-วงศ์สยามฯ” ยื่นอุทธรณ์ กปน.แล้ว หลังโดนคัดออก ปมประมูลสร้าง รง.ผลิตน้ำประปา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ซิโน-ไทย-วงศ์สยามฯ” ยื่นอุทธรณ์ กปน. แล้ว หลังโดนคัดออก ปมประมูลสร้าง รง.ผลิตน้ำประปา ทั้งที่ เสนอราคาต่ำสุด มีผลงานตรงสเปก

จากกรณีที่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเข้าร่วมการประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ มูลค่าราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564
แต่ถูกตัดสิทธิ์การประมูล เนื่องจาก คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ กปน. ระบุว่า ทั้ง 2 บริษัท ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ซึ่งระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

วันนี้ (16 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวเปิดเผยว่า ทั้ง 2 บริษัทข้างต้น ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ต่อผู้ว่าการ กปน. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา

เอกสารของ บมจ.ซิโน-ไทย ที่ใช้ในการยื่นอุทธรณ์ สรุปได้ว่า หลังจากบริษัทฯได้ยื่นข้อเสนอราคา ต่อมาปรากฏ มีการแจ้งใน TOR ระบุ ให้บริษัทต้องมีผลงานก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา ไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท โดยมีการแจ้งว่า ทางบริษัท ไม่มีหลักฐานตรงส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม บมจ.ซิโน-ไทย ได้ยื่นผลงานประกอบการประกวดราคา คือ งานก่อสร้างระบบประปา โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศนาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 และจากหนังสือรับรองระบุชัดเจนว่า บริษัทฯมีงานติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเมื่อคำนวณมูลค่างานตามสัดส่วน 80% ในกิจการร่วมค้าออกมา ก็พบว่ามีมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท สอดคล้องกับ TOR ที่กำหนดมาเบื้องต้น
แต่ต่อมา มีการชี้แจงเพิ่มเติม จาก ทางด้าน กปน.เรื่องคุณสมบัติ ที่ระบุใน TOR ว่า ผลงานการติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ กปน.ได้ตั้งคุณสมบัติไว้นั้น หมายถึงกำลังการผลิตสุทธิ ซึ่งไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย

พร้อมทั้งอ้างว่า ในชั้นออกแบบของงานโครงการเทศบาลนครนครราชสีมาดังกล่าวฯ ถูกออกแบบให้ผลิตน้ำประปาได้ 4,000 ลูกนาศก์เมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

ทำให้เข้าใจได้ว่า คำสั่งทางปกครองที่ตัดสิทธิของบริษัทฯ เกิดขึ้นจากข้ออ้างเรื่องดังกล่าว

ขณะที่หนังสืออุทธรณ์ของ บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด ระบุว่า บริษัทฯไม่ได้รับการพิจารณาในการประมูล เนื่องจาก กปน. ระบุว่า บริษัทฯ ไม่มีคุณสมบัติตาม TOR ข้อที่ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่าต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นผลงานก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 เป็นไปตามประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 แต่กลับถูก ตัดสิทธิ และคณะกรรมการฯไม่เคยเรียกบริษัทฯให้มาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม

สำหรับหนังสืออุทธรณ์ของ บริษัท วงศ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ระบุอีกว่า ในการประกวดราคาครั้งนี้ มีมูลเหตุอันควรสงสัยที่ กปน. ควรจะต้องเรียกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องด้วยบริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด การที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังในข้อดังกล่าว เป็นเหตุให้ กปน.เสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ผู้เสอนราคาต่ำสุด และมีคุณสมบัติครบถ้วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากผู้ว่าการ กปน. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง ได้รับหนังสืออุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างแล้ว กปน.จะพิจารณาข้ออุทธรณ์ของทั้ง 2 บริษัท หาก กปน. เห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้น จะมีการพิจารณายกเลิกการตัดสิทธิเอกชนในการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ แต่หาก กปน. ยืนยันที่จะตัดสิทธิตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ จะมีการส่งอุทธรณ์ไปยังกรมบัญชีกลาง ก่อนเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาต่อไป

สำหรับ การประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ของ กปน. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 มีเอกสารมายื่นเสนอราคา 5 ราย ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 6,150 ล้านบาท อันดับ 2 บมจ.ซิโน-ไทยฯ เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท และอันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และ บริษัท อาควาไทย จำกัด) เสนอราคา 6,460 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น