xs
xsm
sm
md
lg

กทท.เซ็นจ้างเหมาเอกชนกว่า 897.5 ล้าน บริการเคลื่อนย้ายตู้สินค้า "SRTO" คาดเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางเป็น 15%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.อนุมัติเซ็นสัญญา “บ.ที ไอ พี เอส” กว่า 897.5 ล้านบาท จ้างเหมาบริหารจัดการตู้สินค้าในโครงการ SRTO ระยะเวลา 5 ปี (65-70) เพิ่มศักยภาพบริการเคลื่อนย้ายตู้สินค้า คาดเพิ่มสัดส่วนปริมาณขนส่งทางรางที่ ทลฉ.จาก 7 % เป็น 15% ในอนาคต ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศ

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.ได้จ้างเหมาบริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด ให้บริหารจัดการตู้สินค้าและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ภายในโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation : SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ในราคา รวมภาษีมูลค่าเพิ่มต่อหน่วย 333 บาท ต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ ระยะเวลาการจ้าง 5 ปี (เม.ย. 2565-มี.ค. 2570) ในวงเงินงบประมาณทำการที่ได้รับอนุมัติทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงินรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 897,544,890 บาท โดย กทท.ได้ดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในการหาผู้รับจ้างงานจ้างเหมา ดำเนินการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าภายในโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟและท่าเทียบเรือ และจ้างเหมาบริหารจัดการตู้สินค้า รวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) นั้น มีผู้รับเอกสารประกวดราคาฯ จำนวน 5 ราย แต่มีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 ราย คือ บริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด และ บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบเอกสารด้านคุณสมบัติผู้เสนอราคา หลักฐานการเสนอราคา และรายละเอียดตามข้อกำหนดในขอบเขตของงาน (TOR) ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 แห่งแล้ว มีเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง เป็นไปตามข้อกำหนดเอกสารด้านหลักฐานการเสนอราคาของงานจ้างเหมา และได้ตรวจสอบแล้วไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงได้อนุมัติจ้างบริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด เป็นผู้รับจ้างงานจ้างเหมาให้บริหารจัดการตู้สินค้า รวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ภายในโครงการ SRTO

สำหรับโครงการ SRTO มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ อยู่ระหว่างท่าเทียบเรือ ชุด B และชุด C ลักษณะของ Rail Yard ซึ่ง กทท. เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด รวมถึงด้านการบริหารและประกอบการ ในส่วนของเครื่องมือ กทท. ได้ติดตั้งรางรถไฟลักษณะเป็นพวงราง จำนวน 6 ราง แต่ละรางมีความยาวในช่วง 1,224-1,434 เมตร สามารถจอดขบวนรถไฟได้รางละ 2 ขบวน รวมเป็น 8 ขบวน ในเวลาเดียวกัน โดยติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ที่สามารถทำงานคร่อมรางรถไฟได้ทั้ง 6 ราง ในเวลาเดียวกัน

ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) จากทางถนนเป็นทางราง และพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น ลดมลภาวะ รวมทั้งลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้ต่ำลง คาดการณ์ว่าสัดส่วนในการขนส่งตู้สินค้าทางบกมาสู่ทางรางที่ ทลฉ. จะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ทีอียูต่อปี จะทำให้สัดส่วนในการขนส่งตู้สินค้าทางบกมาสู่ระบบการขนส่งทางรางที่ ทลฉ. เพิ่มขึ้นจากเดิม 7% มาเป็น 15% ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น