รฟท.จับมือ "ไทยเรลโลจิสติกส์-กลุ่มบุญรอด" เปิดทดลองเดินรถสินค้าสายใต้ จาก จ.สุพรรณบุรี-ชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ จ.สุราษฎร์ธานี หวังประหยัดต้นทุน เผยขนส่งสินค้าโตปี 64 เพิ่มเป็น 11.7 ล้านตัน ตั้งเป้ากลางปี 65 วิ่งขบวนสินค้าถึงปาดังเบซาร์วันละ 1 ขบวน
วันที่ 22 มี.ค. 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ร่วมมือกับบริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท บุญรอด ซัพพลายเซน จำกัด กลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า ทดลองเปิดเดินขบวนรถสินค้า จากที่หยุดรถศรีสำราญ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ไปยังเส้นทางรถไฟสายใต้ ปลายทางชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลง เนื่องจากรถไฟสามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนที่มากกว่าทางถนนหลายเท่า โดยในการทดลองเปิดเดินขบวนรถครั้งนี้ เป็นการขนส่งสินค้าของผลิตภัณฑ์สิงห์และสินค้าอุปโภคบริโภค
นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ รฟท. กล่าวว่า บริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์ฯ ได้แสดงความประสงค์ในการขนส่งผลิตภัณฑ์สินค้าของกลุ่มบุญรอดฯ และสินค้าจากแหล่งผลิตใน จ.สุพรรณบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยรถไฟไปยังพื้นที่ภาคใต้ จึงเกิดการทดลองเปิดเดินขบวนรถสินค้า จากที่หยุดรถศรีสำราญ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี-ชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 400 กม. ใช้เวลาในการขนส่งประมาณ 12-13 ชั่วโมง โดยมีสินค้าจำนวน 10 แคร่ในการขนส่งครั้งนี้หรือเปรียบเทียบเท่ากับรถพ่วง 22 ล้อ จำนวน 10 คันจะหายไปจากถนน ซึ่ง รฟท.มีลานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ หรือ CY: container yard ที่ชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ รองรับการขนถ่ายได้
โดยหลังการทดลองจะมีการรวบรวมข้อมูล ปัญหาอุปสรรคในการขนส่งสินค้าตั้งแต่โรงงาน ขั้นตอนการขนถ่าย ยกสินค้าขึ้นวางบนแคร่ ใช้ผ้าใบคลุมและผูกมัดสินค้า จนไปยังปลายทาง ซึ่งเป็นเส้นทางที่แยกจากหนองปลาดุกเข้าสุพรรณบุรี มีเพียงรถโดยสารที่ใช้เส้นทางนี้ จึงนับเป็นรถสินค้าขบวนแรกในรอบหลายปี ขณะที่ปัจจุบัน รฟท.ให้บริการขนส่งสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น ปูนซีเมนต์ น้ำมัน หรือตู้คอนเทนเนอร์สินค้านำเข้าส่งออก ได้แก่ เส้นทางหนองคาย-ท่าเรือแหลมฉบัง หรือจากคลังน้ำมันดิบบึงพระ-โรงกลั่นแหลมฉบัง หรือบางจาก เป็นต้น
นายฐากูรกล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟจะมีค่าระวาง และมีค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) ที่จะปรับไปตามช่วงราคาน้ำมันที่ผันแปร ซึ่งค่าธรรมเนียมน้ำมันในขณะนี้ถือว่ายังสูงไม่เท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ เพราะรัฐไม่ได้ตรึงเพดานราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร เหมือนครั้งนี้
“ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น โดยปี 2563 มีปริมาณสินค้า 10.5 ล้านตัน ปี 2564 เพิ่มเป็น 11.7 ล้านตัน ไตรมาส 1/65 สินค้าเติบโตขึ้น 5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น มีส่วนให้หันมาใช้ขนส่งทางรางเพิ่ม เพราะมีต้นทุนต่อ กม.ต่ำกว่าและขนส่งได้จำนวนมาก โดย รฟท.จะมีหัวรถจักรเพิ่ม 50 ภายในปี 2565 และเตรียมแผนจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต.) จำนวน 965 คันเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เริ่มทยอยแล้วเสร็จในหลายเส้นทาง เช่น เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ส่วนเส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2565 ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วของรถขนส่งสินค้า จากปัจจุบันความเร็วเฉลี่ยที่ 30 กม./ชม. เป็น 50 กม./ชม. ส่วนรถโดยสาร ความเร็วเฉลี่ยจาก 50 กม./ชม.เป็น 100-120 กม./ชม. โดยเมื่อโครงการรถไฟทางคู่แล้วเสร็จตามแผน จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขนส่งสินค้าทางรางจากปัจจุบันประมาณ 10 ล้านตัน/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านตัน/ปี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวและประหยัดการใช้พลังงาน ลดอุบัติเหตุบนถนน
@ตั้งเป้ากลางปี 65 บริการขบวนสินค้าจากศรีสำราญ ถึงปาดังเบซาร์
นางสาวณัฏฐา ธนกิจสถาพร ประธานบริหาร บริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า การทดลองการขนส่งสินค้าทางรถไฟครั้งนี้บริษัทฯ ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร และบริษัท บุญรอดชัพพลายเซน ได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจาก รฟท.ทั้งขบวนรถขนส่งสินค้าและเจ้าหน้าที่ การทดลอง จะทำให้ทราบถึงขั้นตอนการขนส่ง จากต้นทางถึงปลายทาง กระบวนการขนถ่าย การเดินทางตลอดเส้นทาง และการขนถ่ายสินค้าขึ้นลง ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายจะหารือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรค คาดว่าจะสามารถเริ่มการขนส่งสินค้าอย่างเป็นทางการได้ภายในกลางปี 2565 โดยจะมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จากที่หยุดรถศรีสำราญ จ.สุพรรณบุรี ไปสู่ภาคใต้ โดยจะขยายปลายทางไปถึงปาดังเบซาร์อย่างน้อย 1 ขบวน/วัน (ไป-กลับ)
“ในแง่ของลูกค้าที่จะใช้บริการขนส่งทางรถไฟ จะมีทั้งกลุ่มบุญรอดฯ และยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมและการเกษตร ซึ่งในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทั้งจากปทุมธานี วังน้อย อยุธยา นครปฐม นนทบุรี ซึ่งขนส่งสินค้าด้วยรถยนต์เข้ามาที่ ศรีสำราญ ได้สะดวก ซึ่งข้อดีของการขนส่งทางรถไฟในเรื่องความปลอดภัยกว่าทางถนนแล้วยังช่วยผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนน้ำมัน ใช้รถยนต์ในระยะทางสั้นลง จากเดิมที่วิ่งระยะทางทางไกล ช่วยลดค่าซ่อมบำรุงและลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ
เป็นส่วนในการสนับสนุนการใช้ระบบราง ที่ภาครัฐได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและขยายการขนส่งสินค้าทางรถไฟให้มีศักยภาพและเติบโตต่อไป
นายธนวรรธน์ ไทยอยู่ ผู้อำนวยการกลุ่มบริการและสนับสนุนลูกค้า บริษัท บุญรอดชัพพลายเซน จำกัด กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันมีผลต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าแน่นอน ซึ่งการทดลองขนส่งทางรถไฟครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อประหยัดค่าขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่บริษัทฯ ต้องการการขนส่งรูปแบบ Multimodal Transport ที่ไม่พึ่งพาทางถนนอย่างเดียว แต่จะต้องขนส่งที่หลากหลายเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและตอบโจทย์ธุรกิจมากที่สุด และลดปัญหารถติดและมลพิษสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แม้ว่ารถไฟจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากขนส่งทางถนนประมาณ 3-4 ชม. แต่มีข้อดีในด้านความปลอดภัยและสามารถขนส่งได้จำนวนมาก