กลุ่มบริษัทสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เผยโฉมโครงการทั้งเส้น 250 กิโลเมตร พร้อมอุโมงค์ยาวที่สุดในไทยถึง 15 กิโลเมตร เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รอลุ้นผล EIA ก่อนเวนคืนและก่อสร้าง ใช้เวลา 3 ปี
วันนี้ (10 มี.ค.) เฟซบุ๊ก "โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์" ซึ่งเป็นงานศึกษาสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ที่ดำเนินการโดย กลุ่มบริษัท เทสโก้ จำกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ดีไซน์ คอนเซป จำกัด และ บริษัท ดอร์ช คอนซัลท์เอเชีย จำกัด เผยแพร่สรุปข้อมูลโครงการ ซึ่งมีทั้งหมด 19 ตอน สาระสำคัญก็คือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 250 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก ระยะทาง 183 กิโลเมตร ประกอบด้วย 23 สถานี ได้แก่ สถานีบึงเสนาท, สถานีบ้านมะเกลือ, สถานีมหาโพธิ, สถานีเก้าเลี้ยว, สถานีบางตาหงาย, สถานีเจริญผล (มีชานพักสินค้า หรือ CY), สถานีตาขีด, สถานีป่าพุทรา, สถานียางสูง, สถานีวังแขม, สถานีวังยาง, สถานีท่ามะเขือ, สถานีวังบัว, สถานีคณฑี, สถานีเทพนคร, สถานีกำแพงเพชร, สถานีหนองปลิง (CY), สถานีลานดอกไม้, สถานีโกสัมพี, สถานีวังเจ้า, สถานีวังหิน, สถานีหนองบัวใต้ (CY) และสถานีตาก ความกว้างเขตทางรถไฟไว้ที่ 50 เมตร จากกึ่งกลางทางคู่ และมีระยะระหว่างราง 5 เมตร
ส่วนช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด ระยะทาง 67.02 กิโลเมตร ประกอบด้วย 4 สถานี ได้แก่ สถานีด่านแม่ละเมาะ, สถานีแม่ปะ, สถานีแม่สอด และสถานีด่านแม่สอด (CY) มีอุโมงค์ 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ดอยรวก ระยะทาง 15.5 กิโลเมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่รางเดี่ยว มีทางเชื่อมระหว่างอุโมงค์ทุก 500 เมตร ผู้โดยสารสามารถอพยพหนีภัยไปยังอุโมงค์อีกด้านหนึ่งได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะถือว่าเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวมากที่สุดในประเทศไทย, อุโมงค์แม่ละเมา ระยะทาง 1.42 กิโลเมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยวรางคู่, อุโมงค์แม่ละเมา ระยะทาง 0.765 กิโลเมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยวรางคู่ และอุโมงค์ดอยพะวอ ระยะทาง 12 กิโลเมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่รางเดี่ยว มีทางเชื่อมระหว่างอุโมงค์ทุก 500 เมตร
สำหรับสถานีขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 3 สถานี ได้แก่ สถานีกำแพงเพชร ตัวสถานีตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ในเขตตัวเมืองกำแพงเพชร เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 115 (ถนนกำแพงเพชร-พิจิตร), สถานีตาก ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนในเขตตำบลเชียงเงิน ในตัวเมืองตาก เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) และสถานีแม่สอด ตัวสถานีตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ในเขตตำบลแม่สอด ทางเข้าหลักสถานีรถไฟจะอยู่ที่โครงการก่อสร้างถนนสาย ค2-1 และถนนสาย ค2-2 ของกรมทางหลวงชนบท ส่วนการเดินขบวนรถในระบบทางคู่ ความเร็วของขบวนรถโดยสารประมาณ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขบวนรถสินค้าประมาณ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวเส้นทางตลอดแนวสองข้างทางรถไฟ จุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟจะเป็นจุดตัดต่างระดับ 100% การเดินทางบนโครงข่ายถนนเดิมทุกเส้น จะเดินทางเชื่อมโยงทั้งสองฝั่งได้เหมือนเดิมในทุกจุด
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้าผู้โดยสาร และเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ สามารถลดระยะเวลาและประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสาธารณะ ทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรางให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน และนอกจากจะให้ความสำคัญต่อการขนส่งผู้โดยสารแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการบริการขนส่งสินค้า รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวตามแหล่งสถานที่ที่สำคัญในเขตภาคเหนือ และเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการขนส่งทางรถไฟ จากนี้ยังคงเหลือการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การสำรวจจัดกรรมสิทธิ์ การเวนคืนจัดกรรมสิทธิ์ และการก่อสร้างโครงการ ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายตามแผนพัฒนารถไฟทางคู่ เชื่อมแนวตะวันตก-ตะวันออกด้านบน (E-W Upper) จากแม่สอด-นครสวรรค์-บ้านไผ่-นครพนม ระยะทางรวม 902 กิโลเมตร โดยขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินค่าจ้าง 2 สัญญา รวม 55,131 ล้านบาท ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 โดยแผนก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568 ส่วนช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ ระยะทาง 291 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study หรือ FS)