xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแทน “รพ.สต.- อบจ.” อดร่วมเวทีถกปม “ถ่ายโอน” กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา พบรองฯวิษณุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวแทน “ชมรม รพ.สต.-อบจ.” อดร่วมสังเกตการณ์ เวที “กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา” ถก “รองฯ วิษณุ” ชะลอเร่งถ่ายโอน รพ.สต.ให้ 49 อบจ. มอบอนุฯถ่ายโอนฯ รวบรวมประเด็นหารือไปพิจารณาเร็วที่สุด เน้นดู “ระบบการส่งต่อผู้ป่วย” จาก รพ.สต. ไปยังโรงพยาบาลอื่น พ่วงพิจารณาผลกระทบ 2 กม.ด้านสาธารณสุข

วันนี้ (25 มี.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ผลการประชุมร่วมเมื่อช่วงเช้า ตามมติคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.)

ที่นัดประชุมหารือกับสมาชิกวุฒิสภา ประเด็นการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ถ่ายโอนบุคลากร รพ.สต.จำนวน 22,264 คน ใน 3,384 แห่ง) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด 49 แห่ง ตามความสมัครใจ

ระหว่าง ตัวแทนรัฐบาล ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน และคณะกรรมการ ก.ก.ถ. บางส่วน เช่น นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานอนุกรรมการถ่ายโอนฯ ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

ขณะที่ฝ่าย ส.ว. ประกอบด้วย นายเจตน์ ศิรธนานนท์ ประธาน (กมธ.) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธาน กมธ.คนที่ 1 นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธาน กมธ.คนที่ 2 นายบุญส่ง ไข่เกษ โฆษก กมธ. และ นายพิทักษ์ ไชยเจริญ กมธ.

“จากการหารือเพียงครึ่งวัน ประธานที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ ซึ่งมี นายเลอพงศ์ รวบรวมประเด็นข้อเสนอแนะของ กมธ.วุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเร็วที่สุด”

ก่อนนำเสนอ ก.ก.ถ.ชุดใหญ่ รวมทั้ง ให้สรุปผลการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจนำรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นการเบื้องต้นก่อน

สำหรับข้อเสนอทบทวนถ่ายโอนฯ ของ กมธ.สว. เช่น พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2544 มีการกำหนดให้มี “ระบบการส่งต่อผู้ป่วย” การส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.สต. ไปยังโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลอื่นๆ หากมีการถ่ายโอน ไปยัง อปท. ซึ่งยังไม่มีความพร้อมในการส่งต่อผู้ป่วยจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความยากลำบาก

ขอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งให้มีหน้าที่และอำนาจ พิจารณาศึกษาประเด็นการถ่ายโอน รพ.สต. ที่เป็นผลมาจากพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เพื่อให้เกิดความรอบคอบ

“ยับยั้งการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสังกัด อบจ. โดยไม่ให้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี มิฉะนั้น จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม และบุคลากรด้านสาธารณสุฃที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน”

นอกจากนี้ ยังจะพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและเครือข่ายสาธารณสุขตามที่กำหนดใน พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รวมถึงระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิตาม พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อช่วงเช้า ตัวแทนชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อนโยบาย ที่ได้เดินทางมายื่นหนังสือให้รัฐบาลทบทวนร่างงบประมาณ ปี 2566 ประเด็นการถ่ายโอนฯ

“กลับไม่ได้รับอนุญาตเข้าร่วมสังเกตการณ์และให้ข้อมูลประกอบการประชุมหารือของสมาชิกวุฒิสภา แม้ประธาน กมธ.จะทำหนังสือแจ้งขอ นายวิษณุ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา”


กำลังโหลดความคิดเห็น