“ประวิตร” เป็นประธานพิธีลงนาม MOU ขับเคลื่อนบริหารน้ำ “วันน้ำโลก ปี 65” วอนทุกภาคส่วน ใช้น้ำประหยัด รู้คุณค่า ร่วมสร้างความมั่นคงน้ำ เพื่อลูกหลานไทย
วันนี้ (22 มี.ค.) เวลา 15.30 น. พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากวันนี้เป็น “วันน้ำของโลก : World Day for Water” ประจำปี 2565 ขององค์การสหประชาชาติ สทนช.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารองค์ความรู้ และการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการสร้างความร่วมมือ และพัฒนาแนวคิดของเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องน้ำใต้ดิน และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ UN จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือในวันนี้ โดยประกอบด้วย หน่วยงานที่สำคัญ คือ สทนช., ก.ยุติธรรม, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เป็นประธาน และกล่าวมอบนโยบายการสร้างความร่วมมือ ขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งกล่าวแสดงความยินดี กับความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ที่ได้มุ่งมั่นร่วมกันตลอดมาในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความมั่นคง สำหรับการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ นับว่าเป็นการยกระดับความเข้มข้น ของการดำเนินงานร่วมกันในการจัดการน้ำ อย่างเหมาะสม และให้พอเพียงสำหรับประชาชน ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนา
พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวเน้นย้ำถึงเจตนารมย์ของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม. และ รมว.กห.ที่ได้ให้ไว้ใน “วันน้ำของโลก ปี 65” ในปีนี้ ว่า ประเทศไทยจะดำเนินการบริหารจัดการ “น้ำใต้ดิน” อย่างเป็นระบบ ตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การฟื้นฟูป่า การรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศ การเติมน้ำใต้ดินและติดตาม ประเมินผล อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ลดการรุกล้ำของน้ำเค็ม การบรรเทาอุทกภัย และการใช้ประโยชน์ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง พร้อมกับการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักรู้ และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้วยการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า รวมทั้งลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำและน้ำใต้ดิน เพื่อให้ประเทศไทย บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย “ทศวรรษแห่งการร่วมมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน” ของUN ด้านน้ำ และเพื่อประโยชน์สูงสุด ในการรักษาทรัพยากรน้ำ อย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานของคนไทย สืบไป