xs
xsm
sm
md
lg

ม.ราชภัฏโคราชเปิดงานวิจัยช่วยเกษตรกรโนนสูง แก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งซ้ำซากอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ม.ราชภัฏโคราชเปิดงานวิจัยการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่วิกฤตภัยแล้งนอกเขตชลประทาน กรณีพื้นที่อำเภอโนนสูง เพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เผยเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำทำการเกษตรซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรมาช้านาน

วันนี้ (22 มี.ค.) ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอโนนสูง จ.นครราชสีมา นายไพโรจน์ ปานสาคร ปลัดอาวุโสอำเภอโนนสูง ผู้แทนนายอำเภอโนนสูง พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชยา เชื้อจันทึก หัวหน้าคณะผู้ดำเนินงานวิจัยเพื่อศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาพื้นที่วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, รศ.ดร.สุวิมล ตั้งประเสริฐ นักวิชาการ มหาวิทยาราชภัฏนครราชสีมา ร่วมประชุมและเปิดการประชุมสัมมนางานวิจัยเพื่อศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาพื้นที่วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน


โดยมีหน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจกว่า 60 คน ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5 ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมา พัฒนาการอำเภอโนนสูง เกษตรอำเภอโนนสูง นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนที่สนใจในเขตพื้นที่อำเภอโนนสูง เพื่อนำเสนอข้อมูลแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง


ทั้งนี้ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในการทำการ เกษตรมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรไม่มีน้ำใช้ในการทำการเกษตร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จึงได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานวิจัยเพื่อศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาพื้นที่วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนโดยการดำเนินงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่วิกฤติภัยแล้ง นอกเขตชลประทานของจังหวัดนครราชสีมา กรณีศึกษา : พื้นที่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา”


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชยา เชื้อจันทึก หัวหน้าคณะผู้ดำเนินงานวิจัย กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำควรมีการบริหารจัดการน้ำแบบสมดุล โดยให้ความสำคัญต่อลำน้ำสาขาเทียบเท่าลำน้ำหลักเพื่อเพิ่มผลิตภาพของน้ำเชิงพื้นที่ การประเมินความเสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้งทั้งมิติเชิงกายภาพและสังคม เพื่อลดผลกระทบภายใต้มาตรการเชิงโครงสร้างและไม่ใช่โครงสร้าง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน

การนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำผลการวิจัยไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย การจัดทำแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่วิกฤตภัยแล้งนอกเขตชลประทานของจังหวัดนครราชสีมาและในพื้นที่อื่นๆ อย่างเหมาะสมต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น