ปธ.ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เผยในสัมมนา “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” บี้รัฐปรับลดภาษีสรรพสามิต แก้น้ำมันแพง โวยนำเงินกองทุนน้ำมัน-อนุรักษ์พลังงาน ใช้ผิดวัตถุประสงค์ คนใช้คนจ่ายไม่ได้ประโยชน์ งงเตรียมกู้เพิ่ม 40,000 ล้าน สร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม แนะทำให้เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ ห้อง Convention Hall อาคารศูนย์การเรียนรู้อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 จัดสัมมนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” โดยมี นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย, นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุย
โดย นายทองอยู่ กล่าวถึงมุมมองด้านพลังงาน ว่า แบ่งเป็น 3 มุม คือ รูปแบบด้านการจัดสรรพลังงาน, รูปแบบการผลิต และ รูปแบบของผู้ใช้พลังงาน รัฐบาลควรใช้ช่วงเวลานี้ในการดูแลโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบ เพื่อทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันเกิดความเป็นธรรมกับประชาชน ไม่ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน
ปธ.ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่ราคาน้ำมันดิบที่ตลาดโลกขึ้นไปวิกฤตตอนนี้ น้ำมันดิบราคาแพงขึ้นสูง 100 เหรียญต่อบาร์เรล รัฐบาลควรปรับลดภาษีสรรพาสามิตลง อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ คือ โรงกลั่น ที่ผ่านมา ประชาชนยังคงเป็นผู้แบกภาระอยู่มากว่า 20 ปี ส่วนบทบาทของกองทุนน้ำมัน จำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีการนำเงินจากกองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีการเก็บเงินจากกลุ่มหนึ่งไปใช้อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้และเป็นผู้จ่ายกลับไม่ได้รับประโยชน์ เงินกองทุน 3 ปี จำนวน 20,000 กว่าล้าน ถูกโอนไปที่กระทรวงการคลัง
“ผมจึงตั้งคำถามว่า ทำไมเงินกองทุนที่โอนไป 20,000 กว่าล้าน ไม่โอนเงินเหล่านี้กลับมาที่กองทุนพลังงาน แต่กลับไปกู้เพิ่มเรื่อยๆ และเตรียมที่จะกู้เพิ่มอีกกว่า 40,000 ล้านบาท ที่จะต้องเป็นหนี้สาธารณะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ด้วย สิ่งที่รัฐจะแก้ไขปัญหาได้ ต้องทำให้กองทุนด้านพลังงาน ทั้ง 2 กองทุนเกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน” นายทองอยู่ กล่าว