ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI เผยในวงสัมมนา “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” ชี้ ไทยยังมีโอกาสเพิ่มหนี้สาธารณะได้อีก 10% ราว 2 ล้านล้านบาท แนะควรใช้ แม้หนี้สูง แต่ ศก.เดินต่อได้ จี้รัฐสร้างเศรษฐกิจให้ดีด้วย ชูปีนี้มีโอกาสเติบโต แต่อัตราตายจากโควิด-19 ต้องน้อย เร่งฉีดเข็มกระตุ้น ไม่ใช่แค่เยียวยา แต่ต้องเติมสภาพคล่องสู่การปรับตัว ให้สินเชื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ ห้อง Convention Hall อาคารศูนย์การเรียนรู้อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 จัดสัมมนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” โดยมี นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย, นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุย
โดย นายสมชัย กล่าวในวงสัมมนาว่า ปัจจุบันเพดานหนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่ที่ 70% หรือคิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศ ดังนั้น มีโอกาสเพิ่มหนี้ได้อีก 10% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท แต่ขึ้นอยู่ว่าจะนำเงินไปใช้อะไร แต่ถ้าไม่ใช้ สถานการณ์อาจจะแย่ลง เพราะเศรษฐกิจจะโตช้ามาก ถ้าไม่ช่วยตอนนี้ จะทำให้อีก 5 ปีจากนี้ เศรษฐกิจก็จะเดินต่อไม่ได้ แม้หนี้อาจจะสูงแต่เศรษฐกิจก็เดินต่อได้ และอีกสิ่งที่จำเป็นในอนาคต ที่รัฐบาลต้องทำ คือ การสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีด้วย ไม่ได้ซ่อม หรือ แค่บรรเทาผลกระทบอย่างเดียว
ส่วนทิศทางปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่นั้น ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI มองว่า ก็มีความเป็นไป ยังมีโอกาสเติบโต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดโควิด-19 หากอัตราการตายมีสัดส่วนที่น้อย และเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนผู้สูงอายุ อาจจะทำให้รัฐไม่ต้องปิดเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น
“สิ่งที่รัฐต้องทำ ไม่ใช่แค่เยียวยาต่อลมหายใจอย่างเดียว แต่ต้องเติมสภาพคล่องที่นำไปสู่การปรับตัว ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ทำให้กระบวนการปรับเปลี่ยนมีต้นทุนน้อยที่สุดและเร็วที่สุด หนึ่งในนั้นคือ การให้สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ รัฐบาลต้องทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์และภาคการเงินดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งมีหลายเรื่องที่ภาครัฐสามารถทำได้ รวมถึงการอัพสกิล รีสกิล เพื่อเกิดแรงทางใหม่ รองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทยในรูปแบบใหม่” นายสมชัย กล่าว