ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เผยกลางวงสัมมนา “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” ชูรัฐใช้เงินกู้ช่วยชาวไทยได้ถึง 40 ล้านคน อ้างถ้าไม่เยียวยาจะมีคนจนเพิ่ม 11 ล้าน แย้มปี 65 ยังมีงบไม่ได้จัดสรร สามารถกระตุ้น ศก.- เยียวยา แถมบรรยากาศในประเทศเริ่มดีขึ้น แต่รับปม “รัสเซีย-ยูเครน” กระทบราคาน้ำมัน
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ ห้อง Convention Hall อาคารศูนย์การเรียนรู้อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 จัดสัมมนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” โดยมี นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย, นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุย
โดย นายพิสิทธิ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องชะงักลง โดยตั้งแต่ปี 2563 รัฐบาลได้ใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มเติมปี 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เข้ามาช่วยเยียวยาด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งภาคการท่องเที่ยว มาตรการชดเชยต่างๆ การจัดหาวัคซีน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน คือ โครงการเยียวยาประชาชนต่างๆ ทั้ง คนละครึ่ง, เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 40 ล้านคน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วปี 2563 เม็ดเงินเยียวยาที่รัฐให้แก่ประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,400 บาทต่อคนต่อปี
“ต้องยอมรับว่า โควิดทำให้คนจนเพิ่มขึ้น จากก่อนโควิดที่มีคนจนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 ล้านคน แต่เมื่อเกิดโควิดเพิ่มเป็น 4.8 ล้านคน แต่ถ้าไม่มาตรการเยียวยาต่างๆจากรัฐออกมา จะมีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคน” รองโฆษก สศค.กล่าว
นอกจากนี้ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ยังกล่าวถึงทิศทางปี 2565 ว่า รัฐบาลยังมีงบประมาณที่ยังไม่ได้จัดสรรอยู่ ทำให้มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสถานการณ์บรรยากาศต่างๆ ในไทยก็เริ่มดีขึ้น มีวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับปัจจัยภายนอกที่สำคัญ อย่าง วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผลกระทบหนักที่เกิดขึ้น คือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เพราะเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นทุกส่วน ซึ่งอาจจะต้องหาจุดกึ่งกลาง หากลไกเข้ามาจัดสรร โดยกระทรวงการคลังก็เตรียมพร้อมไว้แล้ว