การตลาด - ภาคธุรกิจท่องเที่ยวลุกสู้! รวมตัวกันถกประเด็นการเดินหน้าท่องเที่ยวไทย
ในงาน Thailand Tourism Forum 2022 (TTF 2022) สัมมนาการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในไทย
กลับมาอีกครั้งหลังวิกฤตการณ์โรคระบาดทั่วโลก สำหรับงาน Thailand Tourism Forum 2022 หรือ TTF 2022 สุดยอดการประชุมสัมมนาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในไทย ที่ดำเนินมาเป็นปีที่ 11 แล้ว โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ #ThaiTourismUnited มุ่งเน้นประเด็นความสำคัญ ปัญหา และทางออกของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการของประเทศไทยหลังการระบาด รวมถึงการลงนามร่วมกันของเหล่าผู้นำในปฏิญญาการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่อุตสาหกรรมทองเที่ยวไทยก้าวหน้าและยั่งยืน
โดยงาน TTF 2022 มีผู้แทนจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเข้าร่วมถึง 500 คน ภายใต้มาตรการการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
TTF 2022 ในปีนี้เริ่มต้นด้วย การประชุมสุดยอดผู้นำการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (Thailand Tourism Leadership Summit) ซึ่งเป็นการประชุมที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันสำหรับอนาคต พร้อมทั้งร่วมลงนามในคำมั่นสัญญาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำโดย “บิล บาร์เน็ต” กรรมการผู้จัดการ C9 Hotelworks หัวเรือใหญ่ในการจัดงาน
ร่วมด้วยเหล่าผู้นำจากองค์กรชั้นนำ ได้แก่ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB), บิล ไฮเนคกี ผู้ก่อตั้งและประธาน ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, สตีเฟ่น ฟานเดน อูวีลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบริการ แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น, พราวพุธ ลิปตพัลลภ ผู้บริหารพราวกรุ๊ป, บุน ควี ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล, เดิร์กอังเดร ลีน่า คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท, คลาเรนซ์ ตัน รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนา ฮิลตัน และ มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย
เหล่าผู้นำด้านการท่องเที่ยวได้ร่วมกันอภิปรายและแสดงความมุ่งมั่นที่จะสร้างทิศทางเชิงกลยุทธ์ใหม่ให้กับประเทศไทย ภายใต้ปฏิญญา 5 ข้อ ที่ครอบคลุมประเด็นความสำคัญของภาคส่วนการท่องเที่ยวในทุกมิติ ได้แก่ 1) การผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นแนวหน้าของเศรษฐกิจประเทศ 2) การร่วมกันจุดประกายให้การท่องเที่ยวให้เป็นหน้าตาและความภูมิใจของชาติ
3) การทำให้ภาคการบริการกลับมาทำงานได้อีกครั้งและฟื้นฟูอาชีพการโรงแรม 4) บรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืน และ 5) การต้อนรับนักท่องเที่ยวกลับมาสู่สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
โดยข้อสัญญานี้จะเป็นการวางรากฐานสำหรับการท่องเที่ยวของไทยที่สามารถสร้างขึ้นใหม่หลังหายนะจากการระบาดใหญ่ทั่วโลก นอกจากนี้ กุญแจสำคัญในการอภิปรายครั้งนี้ยังรวมถึงการเรียกร้องที่ชัดเจนจากผู้นำทุกคนว่าถึงเวลาที่ประเทศจะต้องเปิดกว้างอย่างเต็มที่แล้ว
พราวพุธ ลิปตพัลลภ ผู้บริหารพราวกรุ๊ป กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อประโยชน์ของทุกคน เราควรต้องเป็นผู้นำในการเปิดประเทศ โดยเราต้องวางแผนอย่างไรให้อย่างยั่งยืน และแสดงให้โลกเห็นได้อย่างไรว่า เราเป็นผู้นำโลกได้อย่างไร”
บิล ไฮเนคกี (Bill Heinecke) ผู้ก่อตั้งและประธาน ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ถ้าเราไม่เปิดใจ เราจะไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะนี้กฎการเข้าประเทศมีความซับซ้อนเกินไป ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ถึง 10% ของช่วงก่อนโควิด-19 และประเทศไทยจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย 10 ล้านคนในปี 2565 เรากำลังตามไม่ทัน แม้แต่เพื่อนบ้านของเราด้วยซ้ำ”
ด้าน มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า “ไม่มีทางเลือกแล้ว ประเทศไทยต้องเปิดและหยุด Test & Go! เราต้องย้ายความคิดของเราจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่น”
นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส ในฐานะหัวเรือการผู้จัดงาน กล่าวว่า “การท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของสังคม แต่เราเคยมองข้ามมันไปในอดีตหรือไม่? 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เราได้ก้าวถอยหลังและตระหนักว่า การท่องเที่ยวมีความสำคัญเพียงใด เราจำเป็นต้องอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของประเทศไทย ขับเคลื่อนผลประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับผู้มาเยือน นี่เป็นโอกาสของเราในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า เหตุผลที่เราอยู่ที่นี่ด้วยตัวเองเพราะนี่คือจุดเริ่มต้น เริ่มการเดินทางอีกครั้งในวันนี้ เราต้องเปิดประเทศและแข่งขันกับเวียดนามและมัลดีฟส์ และทำให้ภาคบริการของเรากลับมาทำงานได้
ต่อด้วยการกล่าวปาฐกถา การอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมวางแผนกลยุทธ์ในการเอาชีวิตรอดและเติบโตในยุคหลังโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็น “แจสเปอร์ ปาล์มควิส” ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ STR นักวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมโรงแรม ได้นำเสนอข้อมูลสำคัญล่าสุด เอเชียแปซิฟิก เอสทีอาร์ (STR)
ขณะที่ คลาเรนซ์ ตัน จากฮิลตัน และ ชาร์ลี บล็อกเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IC Partners กล่าวถึง “ทำไมผู้ประกอบการโรงแรมต้องเปลี่ยน” ต่อด้วย จักรพงษ์ ชินกระโท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด มุ่งเน้น เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในหัวข้อ “Green Thailand” และ วิมินตรา ราช บรรณาธิการบริหารของ Hotel Intel พูดในหัวข้อ “Behind the Mask” เพื่อหารือเกี่ยวกับประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่ ประเด็นร้อนอื่น ๆ ในวาระของ Quickfire ได้แก่ สกุลเงินดิจิทัล พื้นที่ไฮบริด ธุรกรรมโรงแรม