รอง ปธ.สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย เผยในวงสัมมนา “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” ชี้ ไทยเผชิญ 2 วิกฤต โควิด-19 และ รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อ ศก. กระทบตลาดแรงงาน คาดฟื้นตัวเร็วสุด ครึ่งปี 66 เชื่ออัตราว่างงานเพิ่มสูง ชี้ โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ผู้ประกอบการจะใช้เครื่องจักรแทนมนุษย์ลดเสี่ยงติดเชื้อ
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ ห้อง Convention Hall อาคารศูนย์การเรียนรู้อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 จัดสัมมนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง?” โดยมี นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย, นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ร่วมพูดคุย
โดย นายธนิต กล่าวว่า เรากำลังเผชิญกับ 2 วิกฤตซ้อนกันอยู่ ทั้งวิกฤตโรคระบาดและวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน นับว่ามีผลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งกระทบต่อตลาดแรงงานโดยตรงด้วยพอโรคโควิด-19 เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เศรษฐกิจแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด จีดีพีติดลบ 6.1 แนวโน้มที่จะฟื้นตัวมีการประเมินแล้วว่า เร็วที่สุดคือช่วงครึ่งปีหน้า (2566) ส่วนเรื่องรัสเซีย-ยูเครน แม้จะอยู่ไกลจากไทย แต่ทว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อในหลายประเทศอีกด้วย และยังไม่รู้ว่าสงครามนี้ยืดยาวไปถึงเมื่อไหร่ จากการเจอวิกฤติซ้อนกัน ก่อให้เกิดซัปพลายช็อต ราคาสินค้านำเข้าก็พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
รอง ปธ.สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย กล่าวต่อว่า ขณะที่ภาคแรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง กระทบกับแรงงานท่องเที่ยว 3 ล้านกว่า ขณะที่คนว่างงานประมาณ 6.3 แสนคน ยังมีคนว่างงานแฝงที่ทำงานไม่ถึงชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกประมาณ 6 แสนคน ในขณะเดียวกันยังจะมีนักศึกษาจบใหม่ออกมาแย่งงานทำอีก จึงส่งผลให้อัตราว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังวิกฤตครั้งนี้ โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีแนวโน้มสูงที่การจ้างงานจะต้องเปลี่ยน ผู้ประกอบการจะใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนมนุษย์มากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ