“ศาสดาศักดิ์ เจียม-สามนิ้ว” เห็นต่างเลือกข้าง “ยูเครน” ไม่ยุ่งกับใครดีที่สุด ชี้ “นาโต” คือ ต้นเหตุ ด่า “สหรัฐฯ” หน้าไหว้หลังหลอก “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” แนะบทเรียน ผู้นำมองการเมืองเป็นเรื่องเล่นๆ ประเทศพัง!?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (16 มี.ค.) เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ลี้ภัยคดี 112 ในฝรั่งเศส ผู้มีอิทธิพลทางความคิดของขบวนการ “สามนิ้ว” โพสต์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ระบุว่า
“ในโลกสมัยใหม่นั้น “ข้อสรุป” ที่ “ตรงกัน” อาจจะมาจากเหตุผลคนละเรื่องกันเลยก็ได้ เช่น คนที่เห็นว่า “เป็นกลาง” อาจจะเกลียดปูติน ไม่ยอมรับการปกครองของเขาเลย การเถียงกันทางเน็ต ยิ่งทำให้ความ “เหมือนกัน” นี้ ขาดหายไป ง่ายต่อการ “โยน” คำกล่าวหาที่ไร้สาระนี้เข้าใส่กัน (“ทำไมไม่ย้ายไปรัสเซีย” หรือ “ยังเชื่อว่าปูตินเป็นคอมมิวนิสต์อีกหรือ” ฯลฯ)
ข้อสรุปใหญ่ของผมไม่เปลี่ยนแปลง คือ เราอย่าไปยุ่ง มองดูอยู่ห่างๆ (ซึ่งที่จริงทุกคนล้วนมองดูอยู่ห่างๆ ทั้งนั้น ผมจะกลับมาเรื่องนี้อีกข้างล่าง)
ตั้งแต่แรก บรรดาเพื่อนเรา ซึ่งปกติไม่เคยตามเรื่องรัสเซียหรือยูเครนเลย กลับกลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” กันใหญ่ แสดงความเห็นกันอย่างขนานใหญ่
ถึงตอนนี้ ผมขอตั้งสังเกตว่า พัฒนาการของเทคโนโลยี มันสร้างภาพหลอกอย่างหนึ่งว่า บัดนี้เราสามารถเข้าถึง “ข้อมูลข่าวสาร” ได้ทุกคน เราสามารถ “เข้าถึง” ตลอด 24 ชั่วโมง
อันที่จริง เรื่องนี้เป็นเรื่อง “หลอกตา” อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสงครามนั้น ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่วัน หรือไม่กี่อาทิตย์ เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่สั่งสมมานานนับปีๆ หรือหลายสิบปี ไม่ใช่พอเห็นประเทศหนึ่งยกกองทัพเข้าไปอีกประเทศหนึ่ง ก็สรุปแล้วว่า “ผิดแน่ๆ”
“ผิดแน่ๆ” น่ะ “ใช่” แต่ตรงนี้แหละสำคัญ ถ้ารัสเซียไม่ยกทัพเข้าไปในยูเครน จะเป็นอย่างไร?
ยูเครนนั้น เกิดการรัฐประหารครั้งหนึ่งเมื่อปี 2014 ทำให้ผู้นำที่โปรรัสเซียนั้นหนีออกนอกประเทศไป (พวกที่ชอบดึงเข้าสู่ประเทศไทยอยู่เรื่อย ขอให้นึกถึงกรณีทักษิณถูกเดินขบวนไล่) หลังจากนั้น ยูเครนได้เอียงเข้าหานาโตอย่างขนานใหญ่
พวกที่มี reaction เชียรร์ยูเครนเมื่อถูกบุกนั้น รีบตอบทันทีว่าก็ไม่เห็นเป็นไร จะเชียร์นาโตแล้วทำไม? ประเทศเขามีอธิปไตยของเขานิ
ปูตินนั้นทนกับการที่นาโตเข้าประชิดพรมแดนหลายแห่ง (โปแลนด์ บอลติก) แต่พอถึงยูเครนได้ขีดเส้นตายว่า ไม่มีวันเป็นอันขาด (เขตไครเมีย ช่องแคบ ฯลฯ)
นี่เป็นจุดที่รัสเซียไม่มีวันยอมเป็นอันขาด
ทีนี้เราผู้ดูทั้งหลาย ก็บอกว่า ก็ช่างปะไร ประเทศของฉัน ฉันจะเป็นพันธมิตรทางทหารกับใครก็ได้
ขอให้มองย้อนกลับที่สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯไม่มีวันยอมให้พันธมิตรทางทหารเกิดขึ้นในทวีปอเมริกาเป็นอันขาด ขอให้นึกถึงคิวบา ประเทศเล็กๆ ยังถูกอเมริกาเล่นงานแค่ไหน (คิวบามิสไซส์, การปิดล้อม ฯลฯ) สมมติว่า เม็กซิโกทำสัญญาพันธมิตรกับจีน สหรัฐฯจะไม่มีวันยอมเป็นอันขาด เรื่องนี้ไม่มีทางเถียงได้เลย
สำหรับผู้ไม่เคยคิดถึงการเมืองระหว่างประเทศมากนัก อยากให้ลองคิดให้หนักๆ สำหรับคนมาโต้แย้งง่ายๆ ว่า นาโตไม่มีอะไร บลา บลา อยากให้ลองศึกษาให้มากกว่านี้ ตลอด 20-30 ปีนี้ นาโตเคยทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศแค่ไหน ไปทิ้งระเบิดยูโก (แยกสลายประเทศหนึ่ง) ฯลฯ
ถ้ายูเครนดำเนินนโยบายเป็นกลาง เรื่องก็จะไม่เกิดขึ้น
แน่นอน กว่าจะมาถึงจุดนี้ มีข้อถกเถียง สู้รบขนาดย่อยกันมาก (ซึ่งผมขอข้ามไป)
เอาละ เพื่อนๆ ก็ยังว่า รัสเซียไม่น่าบุกยูเครน
ผมก็ว่าไม่น่าบุก
แต่ผมเป็นคนธรรมดาเล็กๆ ไม่รู้จะทำยังไง ผมนึกทางออกไม่ได้
เรื่องย้อนกลับมาที่ข้อสรุป ผมว่าเรา “โชคดี” ที่อยู่ห่างหน่อย ไม่ต้องแสดงท่าทีก็ได้ ผมจึงเสนอว่า ไม่แสดงท่าทีก็พอแล้ว
ผมเขียนมาเยอะ แบบสรุปๆ ยังไม่เอ่ยถึงท่าทีอเมริกัน ที่หน้าไหว้หลังหลอก ขอให้นึกถึงเด็กปาเลสไตน์ที่สู้ และล้มตาย (ในโรงพยาบาล นี่แหละ) อีกมากเอาก็แล้วกัน
สงครามเป็นเรื่องแย่ มีแต่ผู้คนล้มตายบาดเจ็บ
(บางคนเสนอว่า ต้องโทษที่ผู้นำอเมริกา เอาเถอะ ผมไม่โทษใคร)
อย่างไรที่น่าย้อนให้เห็นก็คือ นาโต คืออะไร
นาโต (Nato) ย่อมาจาก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 12 ประเทศ คือ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
ชาติสมาชิกได้ทำข้อตกลงในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกรณีที่สมาชิกถูกโจมตีด้วยอาวุธ
วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของนาโต คือ เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากรัสเซียที่แผ่ขยายอำนาจเข้าไปในยุโรป ช่วงหลังสงครามโลก
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ชี้ชัด บทเรียนยูเครน โลกต้องจำ ผู้นำมองการเมืองเป็นเรื่องเล่นๆ สุดท้ายประเทศพังยับเยิน!?
โดยระบุว่า หลังจากที่วิกฤตของรัสเซียและยูเครน ยืดยื้อมายาวนาน เริ่มเข้าใกล้สัปดาห์ที่ 4 แล้ว และมีมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นในรัสเซีย ทำให้นักวิชาการไทยหลายท่านมองว่า เรื่องนี้อาจจะไม่จบง่าย หรือหากจะจบได้ ต้องมีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งยอมถอย รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาก็ควรหยุดยุนานาประเทศ ให้ทำตามความต้องการที่จะคว่ำบาตรรัสเซียด้วย
ขณะที่ทางด้านสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ยืนยันว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับไทย ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และยังคงความร่วมมือระหว่างสองประเทศต่อไป รวมถึงพร้อมเข้าใจท่าทีของรัฐบาลไทย ที่จะรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
ล่าสุด นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้แสดงความคิดเห็น ต่อสถานการณ์ทั้ง 2 ประเทศ ระบุว่า “บ้านแตกสาแหรกขาด มีผู้นำที่โง่ ถูกฝรั่งหลอกว่าจะให้ของเอาไว้ขู่เพื่อนบ้านให้ตกใจกลัว นอกจากเพื่อนบ้านไม่กลัวแล้ว แถมถูกขู่กลับว่า อย่านะๆ แต่ไม่เชื่อ หลงคารมคนบ้านไกล ยุให้สู้ สู้เลยเดี๋ยวไอช่วยเอง
วันนี้ เพื่อนสักคนก็ยังไม่มา ส่งแต่กุ๊ยข้างถนนมาช่วย ถูกยิงทีเดียว วิ่งตูดแจ้น เผ่นกลับบ้านไปแล้ว ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ได้แต่กรอกปาก กรูถูกหลอก บ้านเมืองพังยับเยิน ประชาชนล้มตาย จะเอาเงินที่ไหนมาซ่อม จะเหลืออะไรไว้ให้ขายหาเงินได้อีก นี่แหละหนา ผลของการรนหาที่ การเมืองไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ใครๆ ก็เป็นผู้นำได้ คนตาย คนอพยพหนีภัยมากขนาดนี้ ยังปากดี อวดเก่ง สั่งให้อีกฝ่ายหยุดยิง ถอนทหาร
ประกาศยอมแพ้ จะไม่เข้าร่วม No Action Talk Only ขอเป็นกลาง ไม่ติดอาวุธนิวเคลียร์ จบทุกอย่าง เพื่อรักษาชีวิตประชาชนที่เหลืออยู่ ง่ายๆ แค่นี้พูดไม่เป็น ต้องให้ตายกันอีกเท่าไร
จะรอผลแซงก์ชันให้อีกฝ่ายล่มจม อดตายหรือ รอไปเถอะ ถึงจะขาดทุนเท่าไร แต่ไม่ยอมเสียหน้าแน่นอน เทหมดหน้าตัก ตบหัวลูกกระดิ้ว อวดให้ลูกพี่รู้ไว้เลย อย่ามาล้อเล่นกับข้า งานนี้เจ็บตัวฟรี คนไทยจำไว้เป็นบทเรียนเลย ไอ้คนที่พูดเป็นแต่ เอาอยู่ๆ อย่าไป เอามันอีก มีแต่ฉห.ลูกเดียว”
แน่นอน, ประเด็นที่น่าคิดอย่างมากก็คือ กรณี “สมศักดิ์ เจียม” เสนอจุดยืนและความเห็น ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ
นับแต่ “...พัฒนาการของเทคโนโลยี มันสร้างภาพหลอกอย่างหนึ่งว่า บัดนี้เราสามารถเข้าถึง “ข้อมูลข่าวสาร” ได้ทุกคน เราสามารถ “เข้าถึง” ตลอด 24 ชั่วโมง
อันที่จริง เรื่องนี้เป็นเรื่อง “หลอกตา” อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสงครามนั้น ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นภายในไม่กี่วัน หรือไม่กี่อาทิตย์ เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่สั่งสมมานานนับปีๆ...”
นั่นอาจหมายถึง สงครามนี้มีที่มาที่ไป เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะอาศัยข้อมูลชั่วไม่กี่วัน ฟันธง หรือ เลือกข้างว่าถูกต้องไม่ได้? เช่น เห็นว่า “ใครรังแกใคร” เป็นต้น
“ปูตินนั้นทนกับการที่นาโต้เข้าประชิดพรมแดนหลายแห่ง (โปแลนด์ บอลติก) แต่พอถึงยูเครนได้ขีดเส้นตายว่า ไม่มีวันเป็นอันขาด (เขตไครเมีย ช่องแคบ ฯลฯ)
นี่เป็นจุดที่รัสเซียไม่มีวันยอมเป็นอันขาด” อันนี้น่าคิดอย่างมาก
“ขอให้มองย้อนกลับที่สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯไม่มีวันยอมให้พันธมิตรทางทหารเกิดขึ้นในทวีปอเมริกาเป็นอันขาด “ขอให้นึกถึงคิวบา ประเทศเล็กๆ ยังถูกอเมริกาเล่นงานแค่ไหน (คิวบามิสไซส์, การปิดล้อม ฯลฯ) สมมติว่า เม็กซิโกทำสัญญาพันธมิตรกับจีน สหรัฐฯจะไม่มีวันยอมเป็นอันขาด เรื่องนี้ไม่มีทางเถียงได้เลย” เปรียบเทียบได้ดี
“สำหรับคนมาโต้แย้งง่ายๆ ว่า นาโตไม่มีอะไร บลา บลา อยากให้ลองศึกษาให้มากกว่านี้ ตลอด 20-30 ปีนี้ นาโตเคยทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศแค่ไหน ไปทิ้งระเบิดยูโก (แยกสลายประเทศหนึ่ง) ฯลฯ”
ทั้งหมดล้วนน่าคิดวิเคราะห์ อย่างน้อยที่สุด แม้ว่า “สมศักดิ์ เจียม” จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง และแสลงใจคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ถ้าสังเกตให้ดี กรณีที่มีความเห็นต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน เขาเลือกแสดง “จุดยืน” อย่างมีเหตุผล แม้ว่า จะเป็นการหักหน้าขบวนการ “สามนิ้ว” ก็ยอม
เหนืออื่นใด ยังเป็นตัวอย่างให้ “สามนิ้ว” คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่พวกมากลากไป หรือ กระแสพวกว่าอย่างไรว่าตามกัน ทัวร์ลงใครลงตามกัน อย่างที่ผ่านมา หรือว่าไม่จริง?