xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเคียฟถูกรัสเซียถล่มโจมตีหนักหน่วง ต้องประกาศเคอร์ฟิว 35 ชั่วโมง ด้าน ‘เซเลนสกี’ พูดอีกยอมรับความจริงว่า ‘ยูเครน’ เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พนักงานดับเพลิงปฏิบัติงานที่ด้านนอกอาคารที่พักอาศัยซึ่งเสียหายมากหลังหนึ่ง ภายหลังถูกถล่มโจมตีและเกิดไฟไหม้ในย่านที่อยู่อาศัยย่านหนึ่งของกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันอังคาร (15 มี.ค.)
รัสเซียเพิ่มการถล่มโจมตีกรุงเคียฟในวันอังคาร (15 มี.ค.) สร้างความเสียหายยับเยินให้แก่อาคารที่พักอาศัยหลายหลังและสถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่ง นายกเทศมนตรีเมืองหลวงยูเครนตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวเป็นเวลา 35 ชั่วโมง ส่วนที่เมืองมาริอูโปล พลเรือนในรถยนต์ 2,000 คันเดินทางหลบหนีออกมาตามเส้นทางระเบียงมนุษยธรรม โดยที่เชื่อกันว่าเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดจากเมืองท่าสำคัญในภาคใต้ของยูเครนแห่งนี้ซึ่งถูกปิดล้อมมา 1 สัปดาห์ และอยู่ในสภาพเลวร้าย

ส่วนด้านแนวรบทางการทูต มีการเจรจากันอีกรอบระหว่างรัสเซียกับยูเครนผ่านทางวิดีโอลิงก์ ขณะที่ผู้นำของ 3 ชาติสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ในยุโรปตะวันออก ได้แก่ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และสโลวีเนีย มีแผนการไปเยือนกรุงเคียฟ เพื่อเป็นการโชว์ความสนับสนุน เวลาเดียวกันทำเนียบขาวประกาศในวันอังคารว่า “ไบเดน” จะไปเยือนกรุงบรัสเซลส์สัปดาห์หน้าเพื่อหารือผู้นำของนาโต้และอียู เกี่ยวกับสงครามยูเครน

ขณะที่ผู้คนในยูเครนซึ่งถูกผลักดันให้อพยพหนีภัยสงครามออกไปนอกประเทศเพิ่มจำนวนขึ้นจนทะลุหลัก 3 ล้านคนแล้ว ในช่วงก่อนรุ่งสางวันอังคาร (15) เกิดเสียงระเบิดดังสนั่นกึกก้องไปทั่วทั้งกรุงเคียฟ โดยพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของยูเครนระบุว่า เป็นเสียงโจมตีด้วยปืนใหญ่ และเวลานี้การโจมตีของรัสเซียใส่เมืองหลวงยูเครนดูจะมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น มุ่งสู่บริเวณศูนย์กลางของเมือง

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนบอกว่า เป้าหมายหนึ่งที่ถูกโจมตีคราวนี้ได้แก่อาคารหลายชั้นรวม 4 อาคารในกรุงเคียฟ ทำให้มีผู้ถูกสังหารไปหลายสิบคน โดยที่การระดมโจมตีเข้ามาคราวนี้ยังทำให้เกิดไฟไหม้ใหญ่ในอาคารที่พักอาศัยสูง 15 ชั้นหลังหนึ่ง จนต้องใช้ความพยายามเข้าไปกู้ภัยอย่างอลหม่าน

การโจมตีคราวนี้ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 20 ของการบุกยูเครนของรัสเซีย พุ่งเป้าที่เขตทางตะวันตกของเคียฟ เป็นการยุติช่วงเวลาค่อนข้างเงียบสงบภายหลังการบุกระยะแรกๆ ของกองทัพฝายมอสโกได้ซาลงไปในวันต้นๆ ของสงคราม

ทางด้าน วิตาลี คลิตชโก อดีตนักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวตที่ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีเคียฟ ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านในเขตเมืองหลวงเป็นเวลา 35 ชั่วโมง นั่นคือจนกระทั่งถึงเช้าวันพฤหัสบดี (17) พร้อมกับเตือนว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและอันตราย

นอกจากนี้ ยังมีเสียงไซเรนเตือนภัยการโจมตีทางอากาศดังกึกก้องในอีกหลายเมือง เช่น โอเดสซา เชอร์นิฮิฟ เชอร์กาซี และสมิลา ขณะที่วิตาลี โควาล ผู้ว่าการเขตเรฟเวนทางเหนือของยูเครน ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 คนจากการโจมตีทางอากาศต่อหอส่งสัญญาณทีวี

สหประชาชาติรายงานว่ามีพลเรือนอย่างน้อย 636 คนถูกสังหาร และบาดเจ็บ 1,125 คนจากการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ โดยที่ตัวเลขจริงๆ น่าจะสูงกว่านี้มาก

รัฐบาลยูเครนแถลงว่า ความพยายามครั้งใหม่ในการให้ความช่วยเหลือและอพยพผู้คนออกไปจากเมืองใหญ่ๆ ที่ถูกรัสเซียปิดล้อม จะเริ่มต้นขึ้นอีกในวันอังคาร (15) ตามเส้นทางระเบียบมนุษยธรรม 9 เส้นทางรอบๆ ประเทศ รวมทั้งในภูมิภาคเคียฟด้วย หลังจากความพยายามหลายครั้งก่อนหน้านี้ต้องล้มเหลวอยู่เรื่อยเนื่องจากเกิดการสู้รบไม่หยุดหย่อน โดยที่ทั้งสองฝ่ายที่สู้รบกันต่างกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง

กาชาดสากลรายงานว่า กำลังดำเนินการจัดรถบัสประมาณ 70 คัน ไปอพยพผู้คน
ออกมาจากเมืองซูมี ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนใกล้ๆ พรมแดนรัสเซีย

แต่หนึ่งในจุดที่สถานการณ์ย่ำแย่เลวร้ายที่สุดได้แก่เมืองมาริอูโปล เมืองท่าซึ่งมีประชากร 430,000 คน และพวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประมาณการว่าการถูกปิดล้อมซึ่งดำเนินมาราว 1 สัปดาห์แล้ว ทำให้มีผู้คนถูกสังหารไปกว่า 2,300 คน ขณะที่ชาวเมืองซึ่งยังเหลืออยู่ก็ต้องการทั้งอาหาร น้ำ ความร้อนสำหรับสู้อากาศหนาว และหยูกยา

มีรายงานว่าเวลานี้ยังมีประชาชนนับแสนคนหลบอยู่ในตึกและซากอาคารในมาริอูโปลโดยไม่มีน้ำหรือไฟฟ้ามานานกว่าสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ข่าวดีเริ่มปรากฏให้เห็นกันบ้าง เมื่อสภาเมืองมาริอูโปลรายงานว่า ผู้อพยพในรถยนต์พลเรือนราว 2,000 คัน สามารถเดินทางออกจากเมืองไปตามเส้นทางระเบียบมนุษยธรรม ซึ่งมุ่งไปทางตะวันตกยาวเหยียดกว่า 260 กิโลเมตร จนถึงเมืองซาปอริซเซีย แล้ว ยังมีผู้อพยพในรถยนต์ 2,000 คันถัดไป กำลังรอที่จะออกเดินทางตามเส้นทางสายนี้เช่นกัน

ในส่วนการเจรจารอบล่าสุดในวันอังคาร (15) ระหว่างตัวแทนของยูเครนและรัสเซียเพื่อคลี่คลายวิกฤต ซึ่งเป็นการพูดจาทางออนไลน์ มีคาอีโล โปโดลีอัค ผู้ช่วยประธานาธิบดียูเครน แถลงว่า มีการเจรจากันเรื่องหยุดยิง และการถอนทหารรัสเซียออกไป ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซียแถลงว่า มอสโกจะกดดันเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเรียกร้อง ได้แก่ ยูเครนต้องยกเลิกไม่สมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ยอมรับฐานะการเป็นชาติเป็นกลาง และดำเนินกระบวนการ “ถอยออกจากการเป็นรัฐทหาร”

ด้านเซเลนสกี บอกกับพวกผู้นำยุโรปซึ่งไปชุมนุมกันที่กรุงลอนดอนว่า ประเทศของเขาตระหนักถึงความเป็นจริงแล้วว่าไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ได้

“เราได้ยินได้ฟังมาหลายปีเกี่ยวกับเรื่องที่จะมีการเปิดประตู ทว่าเราก็ได้ยินเช่นกันว่าเราไม่สามารถก้าวเข้าประตูพวกนั้นได้” เขาบอก “นี่คือความจริง และเราก็เพียงแค่ต้องยอมรับมันอย่างที่มันเป็น”

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วในช่วงไม่กี่วันมานี้ ซึ่งเซเลนสกีพูดเช่นนี้ในที่สาธารณะ

ในอีกทางหนึ่ง เมื่อวันจันทร์ (14) เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ ได้เจรจาหารืออย่างเคร่งเครียดเป็นเวลา 7 ชั่วโมงที่กรุงโรม อิตาลี กับหยาง เจียฉือ สมาชิกกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสที่สุดทางด้านการทูตของจีน โดยที่ฝ่ายสหรัฐฯ ออกข่าวว่า ได้เตือนจีนอย่าช่วยเหลือเข้าข้างรัสเซียในสงครามยูเครน โดยเฉพาะในเรื่องอาวุธและการเงิน ตามที่ฝ่ายสหรัฐฯ ระบุว่ารัสเซียร้องขอ ถึงแม้ทั้งปักกิ่งและมอสโกตอบโต้ว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงก็ตาม

นอกจากนั้น กระทรวงกลาโหมอังกฤษระบุโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่า รัสเซียอาจจัดฉากว่า กองกำลังของตนถูกโจมตีเพื่อเป็นข้ออ้างใช้อาวุธเคมีหรือชีวภาพในยูเครน ซึ่งก่อนหน้านี้อเมริกาก็เคยออกมาแถลงคล้ายๆ กัน

ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวแถลงในวันจันทร์ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำหนดเดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ในวันที่ 23 ที่จะถึงนี้ เพื่อหารือกับผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ตลอดจนพวกผู้นำของอียู เกี่ยวกับสงครามยูเครน อย่างไรก็ดี แผนการนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากสถานการณ์ในยูเครนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แหล่งข่าวคนหนึ่งระบุว่า ไบเดนยังอาจเดินทางไปโปแลนด์ ซึ่งกำลังกังวลมากขึ้นหลังจากเมื่อไม่กี่วันก่อนรัสเซียโจมตีฐานทัพขนาดใหญ่ของยูเครนที่อยู่ห่างจากชายแดนโปแลนด์ไม่ไกลนัก และมีผู้เสียชีวิต 35 คน

สมาชิกนาโต้ต่างกังวลว่า จะถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งทางทหารกับรัสเซียที่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ ส่วนไบเดนนั้นย้ำหลายครั้งว่า อเมริกาจะไม่ส่งทหารไปยูเครน แต่จะปกป้องดินแดนนาโต้ทุกตารางนิ้ว

เกี่ยวกับเรื่องสงครามนิวเคลียร์นั้น ในวันจันทร์ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น เตือนเกี่ยวกับแนวโน้มความขัดแย้งด้านนิวเคลียร์ซึ่งเคยคิดกันว่าเป็นไปไม่ได้ หลังจากรัสเซียยกระดับการเตรียมพร้อมกองกำลังนิวเคลียร์ภายหลังการบุกยูเครน

ในวันอังคาร ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป อนุมัติมาตรการแซงก์ชันรัสเซียชุดที่ 4 โดยมีผลทันที ครอบคลุมการลงทุนในภาคพลังงานของรัสเซีย การส่งออกสินค้าหรู และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าจากรัสเซีย รวมทั้งอายัดทรัพย์สินของผู้นำทางธุรกิจที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งรวมถึงโรมัน อับราโมวิช เจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซีในอังกฤษ

เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ประกาศเมื่อวันอังคารอายัดทรัพย์สินชาวรัสเซีย 17 คน ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา 11 คน สมาชิกครอบครัวนายแบงก์ ยูริ โควัลชุก 5 คน และมหาเศรษฐีวิกเตอร์ เวคเซลเบิร์ก

(ที่มา : เอพี, รอยเตอร์, บีบีซี, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น