ก.คลัง ถอน “ระเบียบเงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ” พ้นวาระ ครม. หลีกทาง “แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ปี 66-70” ที่คาดจะประกาศใช้ในปีนี้ หลังติดปม อำนาจ “คนร.” อนุมัติงบประมาณ เป็นเงินชดเชย “ผลขาดทุนแก่รัฐวิสาหกิจบริการสาธารณะ” ได้หรือไม่ หลังค้างในกฤษฎีกากว่า 2 ปี
วันนี้ (11 มี.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง (กค.) มีหนังสือแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)
เพื่อขอถอนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... (การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554) (ระเบียบเงินอุดหนุนฯ) ออกจากวาระ
แม้ ครม.เมื่อ 11 ก.พ. 2563 จะเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ไปแล้ว
กค. มีความเห็นว่า เนื่องจาก พระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ที่ให้กำหนดแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566-2570 มาตรา 28 กำหนดให้รัฐวิสาหกิจได้รับการชดเชยในกรณีที่ได้ ดำเนินการตามแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
“โดยคาดว่า แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจฯ จะประกาศใช้ในปี 2565 นี้ ดังนั้น จึงเห็นสมควรขอถอนเรื่องดังกล่าว
สำหรับร่างระเบียบดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554 ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะการอุดหนุนทางการเงิน หมายความว่า การจ่ายเงินชดเชยผลขาดทุนให้แก่รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะในรูปของเงินงบประมาณ ตามจำนวนส่วนต่างของราคาค่าบริการ ที่รัฐบาลกำหนด
หรือราคาค่าบริการที่รัฐวิสาหกิจกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกับต้นทุน ที่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในการผลิตสินค้า หรือให้บริการอื่นที่มิได้เป็นไปเพื่อบริการสาธารณะ และค่าใช้จ่าย อันเกิดจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดหรือไม่มีประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ
แต่ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นต่อคำนิยามคำว่า “เงินอุดหนุน” ควรระบุว่า แหล่งเงินที่ใช้ในการอุดหนุนจะมาจากแหล่งใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดทำข้อเสนอขอรับเงินอุดหนุนของรัฐวิสาหกิจต่อไป
และการปรับปรุงบทนิยามคำว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งอาจทำให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งสามารถขอรับการอุดหนุนทางการเงินได้ อาจส่งผลให้รัฐมีภาระการอุดหนุนงบประมาณ เป็นต้น ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ ควรคำนึงถึงศักยภาพและความสามารถในการบริหารของรัฐวิสาหกิจ
และควรมีการกำกับและประเมินผลการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับเงินอุดหนุนตลอดระยะเวลาของการให้เงินอุดหนุน เพื่อไม่ให้เกิดภาระงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
และควรให้รัฐวิสาหกิจจัดทำข้อเสนอแนะการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะในระยะยาว โดยพิจารณากำหนดขอบเขตของรอบระยะเวลาการขอรับเงินอุดหนุนสำหรับการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) เห็นว่า ร่างระเบียบเงินอุดหนุนฯ ยังมีประเด็นปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับหลักการของร่างระเบียบเงินอุดหนุนฯ
ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.พัฒนาฯ และได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง นำไปพิจารณาทบทวนหลักการ
โดยให้พิจารณาว่า อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้เงินชดเชยแก่รัฐวิสาหกิจเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือไม่
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง ยังมิได้แจ้งผลการพิจารณาประเด็นปัญหา โดยพิจารณาให้ถอนเรื่องดังกล่าว