ไฟเขียวดัน “สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ” เป็น องค์การมหาชนหน่วยงานรัฐ ในกำกับฝ่ายบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ่วงดัง 3 กองทุนหลัก ก.คลัง เป็น “กองทุนนิติบุคคล” ยกฐานะ “กองทุน กบข. กอช. กยศ.” เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ก.คลัง
วันนี้ (10 มี.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอ
เห็นชอบให้จำแนก “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)” เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ประเภทกองทุนที่เป็นนิติบุคคล ตามมติ ครม. 20 ต.ค. 2552 เรื่อง หลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร
โดยก่อนหน้านั้น กระทรวงการคลัง ได้หารือ กพม. เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวของผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานประเภทหน่วยธุรการขององค์การของรัฐที่เป็นอิสระ ในกำกับของกระทรวงการคลัง โดยทั้ง 3 กองทุนยังมิได้มีการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐ
ขณะที่ สำนักงาน ก.พ.ร. มีความเห็นว่า ทั้ง 3 กองทุน มีลักษณะการดำเนินภารกิจที่มีภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด
ตั้งแต่การจัดตั้ง รูปแบบการแต่งตั้งบุคลากรระดับสูง การกำกับดูแลชองรัฐ กิจกรรม การได้รับงบประมาณ/รายได้ของหน่วยงาน สถานะบุคลากร วิธีการและระบบกฎหมายที่ใช้ในการทำกิจกรรม และความเป็นเจ้าของ และการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ยังเห็นชอบให้จำแนก “สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ” เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ประเภทองค์การมหาชน ที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพา ตามมติ ครม. 20 ต.ค. 2552 เรื่อง หลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร
ภายหลังกระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมยกฐานะ “สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ” เป็นหน่วยงานกำกับของรัฐ คุ้มครองตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ..
“ให้ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากใน พ.ร.บ.ลูกเสือ พ.ศ. 2551 มาตรา 18 บัญญัติให้ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มิได้มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ”
ที่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ขณะที่ สำนักงาน ก.พ.ร. มีความเห็นว่า ลักษณะการดำเนินภารกิจของ “สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ” มีภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด
ตั้งแต่การจัดตั้ง รูปแบบ การแต่งตั้งบุคลากรระดับสูง การกำกับดูแลของรัฐ การได้รับงบประมาณ/รายได้ของหน่วยงาน สถานะบุคลากร วิธีการและระบบ กฎหมาย ที่ใช้ในการทำกิจกรรม และความเป็นเจ้าของและการบริหารจัดการ
“ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะบางอย่างที่ไม่ตรงกับลักษณะขององค์การมหาชนทั้งหมด เช่น การแต่งตั้งข้าราชการเป็นเลขาธิการสำนักงานฯ แต่ก็เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาจำแนกหน่วยงานเท่านั้น”
ในขณะที่สำนักงานฯ มีลักษณะอื่น ที่ตรงกับการเป็นหน่วยงานของรัฐทั้งหมด และมีลักษณะการดำเนินการที่จำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐฝ่ายเดียว (Unilateral Act) อันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล