xs
xsm
sm
md
lg

“สูตรใหม่” ใครได้สิทธิใช้เงินบำนาญชราภาพ “3 ขอ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รองเลขาฯ ประกันสังคม” เผยรายละเอียดแนวทาง 3 ขอ กรณี “ขอเลือก” ผู้ประกันตนต้องส่งสมทบครบ 180 เดือน อายุครบ 55 ปี “ขอคืน” จะใช้เฉพาะช่วงวิกฤต ส่วน “ขอกู้” ผู้ประกันตนจะใช้เงินบำนาญชราภาพเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ พร้อมแจงข้อดี-ข้อเสีย ยันไม่กระทบเสถียรภาพกองทุนประกันสังคม ชี้ควรขยายอายุเกษียณ และขยายฐานเงินเดือนในการส่งสมทบ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น

กรณีที่กระทรวงแรงงานเตรียมแก้ไขกฎหมายให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินชราภาพที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้ก่อนครบกำหนดเกษียณอายุ ตามแนวทาง 3 ขอ คือ ขอเลือก ขอคืน และขอกู้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น หลายฝ่ายจึงอยากทราบถึงรายละเอียดของแต่ละแนวทางว่าเป็นอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมหรือไม่?

น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงรายละเอียดของแต่ละแนวทางว่า สำหรับแนวทางการ “ขอเลือก” นั้น มีหลักเกณฑ์ว่าผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน อายุครบ 55 ปี และออกจากงาน จึงจะสามารถขอเลือกได้ว่าจะขอรับบำเหน็จหรือรับบำนาญชราภาพ

ส่วนแนวทางการ “ขอคืน” นั้นผู้ประกันตนจะขอเงินที่ส่งสมทบไปแล้วคืนบางส่วนได้ โดยจะมีรายละเอียดในกฎกระทรวงว่าผู้ประกันตนจะขอเงินคืนได้เท่าไหร่เพื่อไม่ให้กระทบเสถียรภาพของกองทุน ทั้งนี้ ต้องมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องขอคืน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ โรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นทั้งประเทศ อย่างกรณีผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งผู้ประกันตนสามารถขอคืนเงินที่ส่งสมทบไปแล้วบางส่วนเพื่อนำมาใช้ในสิ่งจำเป็น โดยเงินที่ขอคืนจะไปหักจากเงินที่ผู้ประกันตนส่งสะสมมา หากขอคืนไปแล้วเมื่อเกษียณก็จะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญในส่วนที่เหลืออยู่ คือส่วนที่ส่งสะสมมารวมกับเงินที่ส่งสะสมในอนาคตหักด้วยเงินขอคืน ซึ่งแนวทางการขอคืนนั้นจะมีเฉพาะช่วงวิกฤตของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้ประกันตนเท่านั้น เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโรคระบาด


ขณะที่แนวทางการ “ขอกู้” นั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียด โดยหลักการคือจะให้ผู้ประกันตนใช้เงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งในการยื่นค้ำประกันการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมจะออกหลักฐานยืนยันว่า ณ เวลานั้นผู้ประกันตนมีเงินบำเหน็จบำนาญอยู่เท่าไหร่ ถ้ากู้ไปแล้วไม่ใช้คืน สถาบันการเงินจะมาเรียกเงินส่วนนี้จากประกันสังคม ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมจะต้องไปหารือกับสถาบันการเงินต่างๆ ว่าธนาคารใดจะเข้าร่วมโครงการบ้าง ซึ่งจะออกเป็นกฎกระทรวงอีกครั้งเพื่อเป็นแนวทางว่าจะขอกู้อย่างไร มีรายละเอียดเช่นไร เช่น ผู้กู้ต้องส่งสมทบมาแล้วกี่ปี โดยจะออกเป็นกฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้ต่อไป

“กรณีขอคืน ถ้าลูกจ้างยังเหลืออายุงานอีกนานก็ไม่มีปัญหา เพราะยังมีเงินเหลืออีกเยอะ แต่ถ้าขอคืนตอนใกล้เกษียณอาจจะลำบากได้ เพราะอาจจะเหลือเงินหลังเกษียณไม่มาก ทำให้ดำรงชีวิตลำบาก ส่วนกรณีที่ขอกู้โดยใช้บำนาญชราภาพค้ำประกันนั้นผู้ประกันตนที่อายุน้อยกับอายุมากจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบและระยะเวลาเกษียณ แต่ละคนเงินเดือนไม่เท่ากัน ส่งสมทบไม่เท่ากัน อายุงานไม่เท่ากัน ซึ่งในการยื่นกู้ผู้ประกันตนอาจจะเอาหลักฐานอื่นๆ มาค้ำประกันร่วมด้วย ซึ่งหากมีฐานเงินเดือนสูง มีบำนาญชราภาพของประกันสังคม และมีหลักทรัพย์อื่นด้วย ธนาคารอาจจะพิจารณาปล่อยกู้ง่ายขึ้น ส่วนกรณีที่ผู้กู้ออกจากงานไปพร้อมทั้งไม่ใช้คืนเงินกู้ก็ไม่มีปัญหา เพราะวงเงินชราภาพที่ใช้ค้ำประกันจะมีมูลค่าเท่ากับเงินประกันสังคมส่วนที่ตัดเข้ากองทุนชราภาพก่อนที่จะมีการกู้เงิน ซึ่งจะทำให้กองทุนไม่มีความเสี่ยง” รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว


รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาประมาณปี 2546-2547 สำนักงานประกันสังคมเคยออกระเบียบกรณีขอกู้ โดยครั้งนั้นกองทุนประกันสังคมได้ฝากเงินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยเสนอว่าจะรับดอกเบี้ยจากธนาคารในอัตราต่ำ แต่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ต้องปล่อยกู้ในผู้ประกันตนในอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน เช่น ปกติถ้าคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 2 บาท ก็คิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้ประกันตนแค่ร้อยละ 1.50 บาท โดยสำนักงานประกันสังคมจะออกใบรับรองให้ผู้ประกันตนที่ต้องการขอสินเชื่อจากธนาคารอาคารสงเคราะห์เพื่อให้ได้รับการพิจารณาดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ

ซึ่งวัตถุประสงค์ในขณะนั้นคือต้องการให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมีโอกาสในการกู้ซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยประกันสังคมเป็นหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่สถาบันการเงินจะนำไปประกอบในการพิจารณาในการกู้ซื้อบ้าน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินว่าผู้กู้มีความน่าเชื่อถือ มีงานทำ มีรายได้ มีการส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ธนาคารจะเป็นผู้กำหนด โดยธนาคารตั้งเงื่อนไขว่าผู้กู้ต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท และหากขาดส่งจะปรับดอกเบี้ยขึ้นเท่ากับอัตราดอกเบี้ยปกติ โครงการดังกล่าวใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1-2 ปี ซึ่งถือว่ามีผลตอบรับที่ดี

อย่างไรก็ดี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า ด้านสำนักนโยบายการออมและการลงทุน กระทรวงการคลัง ทำหนังสือแย้งมาว่า นโยบายดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนประกันสังคมหรือไม่ ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมตอบไปว่าไม่ได้ผิดวัตถุประสงค์ และไม่ได้เปลี่ยนเจตนารมณ์ของกองทุนประกันสังคม แค่เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการที่จะให้ผู้ประกันตนนำเงินกองทุนชราภาพไปใช้อะไรนั้นทางสำนักงานประกันสังคมมีคณะกรรมการพิจารณา และหากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ครม.จะถามไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีความเห็นอย่างไรกับการแก้ไขกฎหมายของประกันสังคม หน่วยงานใดมีข้อสงสัยจะสอบถามมา ทางประกันสังคมจะชี้แจงไป ซึ่งถือเป็นขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย


สำหรับข้อดีข้อเสียของนโยบาย “3 ขอ” นั้น น.ส.ลัดดา ชี้แจงว่า ในส่วนของแนวทาง "ขอเลือก" นั้นผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ว่าหลังจากเกษียณอายุแล้วอยากได้เป็นบำเหน็จหรือบำนาญ ซึ่งบางคนอยากได้เงินก้อน บางคนอยากได้บำนาญไปตลอดชีวิต ซึ่งข้อดีคือผู้ประกันตนสามารถใช้เงินได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ส่วนข้อเสียคือ เราเป็นห่วงผู้ประกันตนที่รับเงินก้อนเป็นบำเหน็จ เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนขึ้น ซึ่งดูจากสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ประกันตนที่รับบำนาญประมาณ 400,000 ราย โดยมีผู้ที่เสียชีวิตก่อน 60 เดือน (5 ปี) หลังรับบำนาญแค่ 3,000 รายเท่านั้น ดังนั้น หากรับเป็นบำนาญแนวโน้มที่จะได้รับเงินรายเดือนจะยาวนานมาก แต่หากรับเป็นบำเหน็จ แล้วนำเงินก้อนไปลงทุนแต่ลงทุนไม่เป็นหลักประกันในชีวิตก็จะหายไป อาจเป็นภาระสังคมต่อไปในอนาคต เนื่องจากหากไม่มีเงินดำรงชีพ รัฐบาลต้องซัปพอร์ตต่อ

ขณะที่แนวทาง “ขอคืน” นั้น ข้อดีคือจะเป็นประโยชน์ในช่วงวิกฤตโควิด หากลูกจ้างถูกออกจากงาน เขาจะสามารถนำเงินที่ขอคืนบางส่วนไปลงทุนค้าขาย เปิดโอกาสให้เขาได้ประกอบอาชีพและมีรายได้ โดยจำนวนเงินส่งสมทบที่ขอคืนอาจจะอยู่ที่ 20,000-30,000 ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่าวงเงินที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ ส่วนข้อเสียคือเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพที่ลูกจ้างจะได้รับหลังเกษียณจะลดลง อย่างไรก็ดี เนื่องจากแนวทางการขอคืนจะใช้เฉพาะช่วงวิกฤตของประเทศเท่านั้น ไม่ได้ใช้ตลอดไป ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินของกองทุนประกันสังคมมากนัก

ส่วนแนวทางการ “ขอกู้” นั้น ข้อดีคือผู้ประกันตนสามารถนำเงินก้อนไปใช้ทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้ ส่วนข้อเสียคืออาจเกิดภาระในระยะยาว ส่วนแนวทางนี้จะมีตลอดไป หรือมีเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้องรอรายละเอียดในกฎหมายลูกก่อน ซึ่งส่วนตัวมองว่าต้องให้ผู้ประกันตนมีวินัยการเงิน หากให้กู้ไปเรื่อยๆ ที่สุดแล้วเงินบำนาญชราภาพจะไม่พอใช้เนื่องจากมีภาระในการชำระหนี้

ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงว่าการนำเงินประกันสังคมออกมาใช้ก่อนตามแนวคิด 3 ขอ อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมนั้น รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า ไม่กระทบอย่างแน่นอนเนื่องจากมีนักเศรษฐศาสตร์คอยดูแลและบริหารกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว ซึ่งเงินกองทุนประกันสังคมนั้นจะแบ่งเป็นหลายกอง มีกองที่คอยดูแลกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต กองที่ดูแลเงินสงเคราะห์บุตรและชราภาพ กองทุนที่ดูแลกรณีว่างงาน ซึ่งกรณี 3 ขอ นั้นเรานำเงินเฉพาะในส่วนของกองทุนชราภาพมาใช้ ซึ่งการนำเงินดักล่าวออกมาใช้นั้นจะมีการออกกฎหมายกำกับเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม


สำหรับการหารายได้ของกองทุนประกันสังคมนั้น น.ส.ลัดดา ชี้แจงว่า กองทุนประกันสังคมได้ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายกลุ่มทั้งที่มีความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงสูง โดยหลักในการลงทุนของกองทุนประกันสังคมจะเน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง จึงลงทุนในกลุ่มนี้มากหน่อย ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะลงทุนน้อยหน่อยและลงทุนในระยะสั้น ซึ่งเรามีนักวิเคราะห์ที่ดูแลตรงนี้อยู่ เช่น กองทุนนี้ให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยง เราจะลงทุนในกองนี้แค่ระยะสั้นๆ มีกำไรนิดหน่อยก็ขาย อีกทั้งหากการจะลงทุนในธุรกิจใดนั้จะต้องขอความเห็นชอบจากบอร์ดประสังคมเสียก่อน

อย่างไรก็ดี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เห็นว่า ควรมีการขยายอายุเกษียณของผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพื่อให้ผู้ประกันตนมีโอกาสส่งเงินสมทบมากขึ้นและได้รับเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศอื่นๆ กำหนดอายุเกษียณที่ 60 ปี หรือมากกว่านั้น เช่น เยอรมนี กำหนดอายุเกษียณที่ 65 ปี ขณะที่คนไทยเองมีแนวโน้มจะมีอายุยืนขึ้น และกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น หากมีการขยายอายุเกษียณ ลูกจ้างมีโอกาสได้รับการจ้างงานนานขึ้น สามารถหารายได้ได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีบางบริษัทที่อาศัยข้อกำหนดของสำนักงานประกันสังคมที่ระบุอายุเกษียณที่ 55 ปีเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างพนักงานที่อายุเกิน 55 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฐานเงินเดือนสูง

นอกจากนั้น สำนักงานประกันสังคมยังเห็นว่าควรขยายฐานเงินเดือนในการส่งสมทบ จากปัจจุบันฐานเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จบำนาญและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการดำเนินการของประกันสังคมนั้นเราจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนก่อนเสมอ โดยจากที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ilo สำรวจพบว่าอย่างน้อยเงินบำนาญชราภาพที่ผู้ประกันตนได้รับหลังเกษียณต้องเท่ากับ 41% ของค่าจ้างเฉลี่ยขึ้นไปจึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ปัจจุบันเงินบำนาญชราภาพที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายให้ผู้ประกันตนของไทยอยู่ที่ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ยเท่านั้น ซึ่งหากหลังเกษียณ 55 ปี ผู้ประกันตนยังทำงานต่อและส่งสมทบอีก 1 ปี เงินบำนาญชราภาพจะเพิ่มอีก 1.5% ถ้าทำต่ออีก 1 ปี จะเพิ่มอีก 1.5% ไปเรื่อยๆ แต่ยังห่างจากค่าเฉลี่ยมาตรฐาน

“สำนักงานประกันสังคมคิดมานานแล้วว่าจะขยายอายุเกษียณในการส่งเงินสมทบ แต่พอเสนอแนวคิดนี้ออกมาลูกจ้างมักจะคัดค้านไว้ก่อน เลยต้องถอนเรื่องออกมา จริงๆ แล้วการขยายอายุเกษียณไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะเกษียณเร็วๆ นี้แต่อย่างใด อีกทั้งคนที่เงินเดือนสูงก็อยากขยายฐานเงินเดือนในการส่งสมทบเพราะจะทำให้เขาได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น กรณีเจ็บป่วยและไม่ได้รับค่าจ้าง จะได้รับเงินชดเชยรายได้จากประกันสังคม 50% ซึ่งหากคิดจากฐานเงินเดือนที่ 15,000 บาท จะได้รับเงินเท่ากับ 7,500 บาท แต่หากคิดจากฐานเงินเดือนที่ 20,000 บาท จะได้เงินชดเชยรายได้ถึง 10,000 บาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมก็เห็นด้วย โดยจะค่อยๆ ขยายฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 บาท จนถึงฐานเงินเดือน 20,000 บาท แต่แนวคิดนี้ยังทำไม่สำเร็จ” รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น