ข่าวปนคน คนปนข่าว
**จากดินสู่ดาวค้างฟ้า พระเอกขวัญใจคนไทยตลอดกาล “สรพงศ์ ชาตรี”
“สรพงศ์ ชาตรี” หรือ “เอก” พระเอกรุ่นใหญ่มากฝีมือ ที่สร้างชื่อในวงการบันเทิงระดับตำนานจากไปอย่างสงบในวัย 71 ปี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ท่ามกลางความอาลัยของแฟนภาพยนตร์และคนในวงการบันเทิง
“สรพงศ์” เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายชื้น กับนางพริ้ว เทียมเศวต
ก่อนจะเป็น “ดาว” ชีวิตของสรพงศ์ เริ่มต้นจากดินก็เหมือนๆ กับเด็กบ้านนอกตามต่างจังหวัดทั่วไป ที่ฐานะทางบ้านยากจน พายเรือไปโรงเรียน และไม่มีรองเท้าใส่ บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ตกกลางคืนต้องอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงกระป๋อง หลังจากเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 จึงบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ที่วัดเทพสุวรรณ อยุธยา บ้านเกิด จนมาถึงวัดดาวดึงส์ บางยี่ขัน ธนบุรี จนกระทั่งลาสิกขาบท เมื่อ พ.ศ. 2512 และเริ่มงานในวงการบันเทิง
สรพงศ์ เดิมชื่อ “พิทยา เทียมเศวต” ภายหลังเปลี่ยนเป็น กรีพงษ์ เทียมเศวต ชื่อ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นชื่อที่ใช้ในการแสดง มีที่มาโดยผู้ตั้งให้ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และ หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา โดยคำว่า “สร” มาจาก อนุสรมงคลการ, “พงศ์” มาจาก “สุรพงศ์ โปร่งมณี” ซึ่งเป็นคอสตูมให้กับละโว้สตูดิโอ ที่ให้โอกาสสรพงศ์ เข้ามาช่วยทำงานในกองถ่าย และนำมาซึ่งการได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่ “วังละโว้” ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ แล้วฝากตัวกับ “ท่านมุ้ย” หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และ นามสกุล “ชาตรี” จึงมาจาก ชาตรีเฉลิม
“สรพงศ์” ไต่เต้าในวงการบันเทิงเมื่ออายุได้ 19 ปี ช่วงปี พ.ศ. 2512 เริ่มงานแสดงครั้งแรก จากตัวประกอบ พร้อมๆ กับรับหน้าที่เป็นเด็กยกของในกองถ่ายละครเรื่องนางไพรตานี ทางช่อง 7 และเล่นเป็นตัวประกอบในละครห้องสีชมพู และหมอผี ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นผู้กำกับในเวลาต่อมา
เรียกว่า..เริ่มเข้าวงการเส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องใช้ความเพียร และอดทน อย่างพอสมควร
จากละคร “สรพงศ์ ชาตรี” มีผลงานแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นตัวประกอบที่ไม่มีบทพูด ทำนองเดินผ่านกล้อง บทไม่มากในภาพยนตร์เรื่อง สอยดาว จากนั้นเรื่องที่ 2 ในปีเดียวกันคือเรื่อง ต้อยติ่ง เป็นตัวประกอบเช่นเดิม และเรื่องที่ 3 คือ เรื่อง ฟ้าคะนอง ยังคงรับบทเป็นตัวประกอบที่ออกมาฉากเดียว แต่เริ่มมีบทพูด
พัฒนาการของ “เอก-สรพงศ์” ในวงการมายาใช้เวลา 3 ปี ถึงยกระดับเป็นพระเอกเต็มตัวเรื่องแรก คือ มันมากับความมืด ในปี 2514 ซึ่งเป็นผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม เข่นกัน
หลังจากนั้น สรพงศ์ ได้รับบทในภาพยนตร์ของ “ท่านมุ้ย” แทบทุกเรื่อง ทั้งบทพระเอก พระรอง และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบางครั้ง มีผลงานแสดงกว่า 500 เรื่อง
ช่วงแรกของการเข้าวงการใหม่ๆ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นนักแสดงที่ถูกพูดถึงในเรื่องของภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก “จมูกโต แถมผิวคล้ำแบบนี้จะเป็นพระเอกได้เหรอ” แต่ถึงจะถูกสบประมาทอย่างไรก็ตาม สรพงศ์กลับพัฒนาฝีมือและทุ่มเทต่อการแสดงจนไม่มีใครกล้าสบประมาทได้อีก มีรางวัลการันตีความสามารถมากมาย และรางวันอันทรงเกียรติในฐานะ “ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ในปี พ.ศ. 2551”
“สรพงศ์” ได้รางวัลตุ๊กตาทองครั้งแรกจากเรื่อง ชีวิตบัดซบ และ สัตว์มนุษย์ สองปีติดต่อกัน และมีชื่อเสียงในต่างประเทศจากเรื่อง แผลเก่า (พ.ศ. 2520) กำกับโดย เชิด ทรงศรี ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด
“สรพงศ์” ยังได้รับรางวัลทางการแสดงจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง สัตว์มนุษย์ ชีวิตบัดซบ มือปืน มือปืน 2 สาละวิน เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ ดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ถ้าเธอยังมีรัก มือปืน และนักแสดงประกอบชายจากเรื่อง องค์บาก 2 ส่วนรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง นักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง มือปืน 2 สาละวิน
นอกจากบทบาทการแสดงภาพยนตร์ “สรพงศ์” ยังมีผลงานเพลงออกอัลบั้มถึง 5 อัลบั้มด้วยกันคือ หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก, เล็ดสะโก, คนกันเอง, ขาดคนอีสานแล้วจะรู้สึก, หัวใจเดาะ
นอกจากนี้ น้อยคนที่จะรู้ว่า “สรพงศ์” ยังถูกเชิญไปให้เสียงพากย์ในภาพยนตร์ต่างประเทศ เช่น พากย์เสียง “วู้ดดี้” ใน Toys Story ทุกภาคซึ่งว่ากันว่า การที่ได้รับหน้าที่นี้ ทางผู้สร้างได้เอาเสียงของสรพงศ์ไปเทียบว่าใกล้เคียงกับ “ทอม แฮงก์ส” ที่พากย์ต้นฉบับจนในที่สุดก็ได้รับหน้าที่พากย์ดังกล่าว รวมถึงผลงานพากย์เรื่องอื่นอีกเช่น เสียงของ “แซนด์แมน” ใน Spider-Man 3 เสียงของเจ้าหน้าที่เค ใน Men in Black II เป็นต้น
ชีวิตส่วนตัวของ “สรพงศ์” มีบุตรทั้งหมด 4 คน คือ พิมพ์อัปสร (ขวัญ), พิศุทธินี (เอิง), พิศรุตม์ (เอม) และ พิทธกฤต เทียมเศวต (อั้ม) ซึ่งพิมพ์อัปสร บุตรคนแรกเกิดกับ ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ส่วนบุตรคนที่สองถึงสี่ เกิดกับ แอ๊ด-พิมพ์จันทร์ ใจวงศ์ หลังจากหย่าร้างจึงมาสมรสกับ ดวงเดือน จิไธสงค์ รองมิสไทยแลนด์เวิลด์ พ.ศ. 2529 และรองนางสาวไทย พ.ศ. 2530
ชีวิตนอกจอ “สรพงศ์ ชาตรี” ตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธศาสนา ทำบุญช่วยเหลือสังคม และ ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือที่คนรู้จักกันดีในชื่อ “วัดสรพงศ์” ตั้งอยู่ที่ ริมถนนมิตรภาพ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
เรียกได้ว่าชีวิตของ “สรพงศ์ ชาตรี” เป็นชีวิตที่เริ่มจากดิน และไต่เต้ามาทีละก้าวสู่ดาวที่มาจากฝีมือความสามารถการแสดง จนคว้ารางวัลมากมาย เป็น “พระเอกคู่บุญของท่านมุ้ย” เป็นดาวค้างฟ้า ที่ยากจะหาได้ในวงการบันเทิงจวบจนสุดท้ายของชีวิตดาวลาลับ เชื่อว่า “สรพงศ์ ชาตรี” จะเป็นพระเอกขวัญใจที่จะอยู่ในใจคนไทยไปตลอดกาล
**“สกลธี” ขอลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ แต่ไม่วายถูก “ลุงกำนัน” เอายี่ห้อสลิ่ม ไปแปะให้
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมีขึ้น แม้ กกต.จะยังไม่ได้เคาะวันที่ออกมาว่าเป็นวันที่เท่าไร แต่ก็คงไม่ผิดไปจากวันที่ 21 พ.ค.หรือ 28 พ.ค.นี้
บรรดาผู้สมัครที่เปิดตัวกันออกมา ก็มีทั้งผู้สมัครในสังกัดพรรคการเมือง อย่างเช่น “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากค่ายสีส้ม พรรคก้าวไกล ที่ตัดสินใจลาออกจาก ส.ส. เพื่อลงสู้ในสนามนี้ โดยเฉพาะ
ส่วนผู้สมัครอิสระ อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่แม้จะมีความผูกพันอยู่กับพรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังยืนยันว่าจะลงสู้ศึกโดยไม่สังกัดพรรค เช่นเดียวกับ “สกลธี ภัททิยกุล” ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. เมื่อไม่กี่วันก่อน เพื่อลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องการเป็นผู้สมัครอิสระ เช่นกัน แม้จะมีความผู้กันอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ก็ตาม
“สกลธี” บอกว่า การลงสมัครในนามอิสระ จะตอบโจทย์นโยบายที่จะใช้ในการหาเสียง และการทำงานในอนาคตมากกว่า รวมทั้งยังเป็นการเปิดกว้างที่จะเชิญชวนผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมงาน โดยไม่ติดโควตาพรรค โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองที่การแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายเช่นนี้ การสังกัดพรรคการเมืองอาจกลายเป็นการตีกรอบ เป็นข้อจำกัดไปก็เป็นได้
“สกลธี” นั้น เป็นลูกชายคนโตของ “พล.อ.วินัย ภัททิยกุล” อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก่อนรับตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. เคยเป็นอดีต ส.ส.กทม.เขต 4 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แล้วลาออกมารับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และถูกส่งไปเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.
ความที่ “สกลธี” เคยเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ และได้ร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. มาก่อน “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เลยออกมาประกาศหนุน “สกลธี” แบบสุดลิ่ม
“สุเทพ” บอกว่า ตื่นเต้นที่รู้ข่าวว่า “สกลธี” จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะรู้จักกับตั้งแต่สมัยที่ตนเองเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แล้ว “สกลธี” มาสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค เสนอตัวที่จะลงสมัครเป็น ส.ส.กทม. จนได้รับความไว้วางใจได้รับเลือกเป็น ส.ส.กทม.เขต 4 จตุจักร บางซื่อ หลักสี่ ในขณะนั้น
ต่อมาในปี 2556-2557 ที่ “สุเทพ” ตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อมาร่วมขบวนการต่อสู้ กับมวลมหาประชาชน กปปส. เพื่อต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “สกลธี” ก็มาร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ นอนกลางดินกินกลางถนนร่วมกันมา 6-7 เดือน กระทั่งได้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.
“สุเทพ” บอกว่า สนับสนุนในการตัดสินใจของ “สกลธี” ในคราวนี้ และหากสามารถที่จะช่วยเหลือสนับสนุนได้ด้วยวิธีไหนก็ตาม ก็ยินดีที่จะทำ และขอบอกว่า “สกลธี” เป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับชาว กทม.ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้
การที่ “ลุงกำนัน” ออกมาเป่านกหวีด โบกธง เชียร์ “สกลธี” ในครานี้ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันที ว่า ถ้าปรารถนาดี ลุงอยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ การออกตัวอย่างนี้ เหมือนกับเอาป้ายยี่ห้อ กปปส. เอาความเป็น “สลิ่ม” ไปแปะให้ “สกลธี” ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีเท่าไร
อย่าลืมว่าบริบททางการเมืองของคนกรุงได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ยุคของ กปปส.แล้ว ทุกวันนี้คนกรุง คนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ตื่นตัวทางการเมืองกันมาก และคนกลุ่มนี้ก็ไม่ปลื้มกับฝ่ายรัฐบาล ยืนอยู่ตรงข้าม “สลิ่ม”
ดูตัวอย่างการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุด ที่ “สิระ เจนจาคะ” ส่ง “มาดามหลี” สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของตัวเองลงสมัคร ในนามพรรคพลังประชารัฐ ยังแพ้หลุดลุ่ยแบบไม่มีลุ้น... โดย “สุรชาติ เทียนทอง” พรรคเพื่อไทย ชนะไปได้ 29,416 คะแนน ...“กรุณพล เทียนสุวรรณ” พรรคก้าวไกล มาเป็นอันดับสอง ได้ 20,361 คะแนน ...“อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” พรรคกล้า ได้ 20,047 คะแนน ส่วน “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” พรรคพลังประชารัฐ ได้เพียง 7,906 คะแนนเท่านั้น
นอกจากนี้ การผูกโยง “สกลธี” ให้อยู่เป็นฝ่ายรัฐบาล ยังต้องมาแชร์คะแนนกับ “ดร.เอ้” ของประชาธิปัตย์ ที่เป็นฐานคะแนนกลุ่มเดียวกัน ...นี่ยังไม่นับ “ผู้ว่าฯ อัศวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หากลงสมัครอีกครั้ง ก็ถูกจับเข้าไปอยู่ในฟากฝั่งของรัฐบาลเช่นกัน เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า “สายผู้กองธรรมนัส” ให้การสนับสนุนอยู่
เสียงเชียร์ของลุงกำนันในครานี้ ไม่ก็ไม่รู้ว่า “สกลธี” จะปลื้มหรือไม่