xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนรัฐ ทำยังไง? แก้ยากจน ให้จบปีนี้ ผ่านหนังสือ “มท.” จี้ ผู้ว่าฯ ปิดจ๊อบเป้าคนจน 1 ล้าน เปราะบาง 10 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดหนังสือ “มหาดไทย” เวียนสนองนโยบายแก้จน ขยับเป้าหมายคนจนในระบบ 1,025,782 คน กลุ่มเปราะบาง 10 ล้านคน ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ขีดเส้น 76 ผู้ว่าฯ 878 อำเภอ จัด “ทีมพี่เลี้ยง” เป็นรูปธรรมก่อน 30 ก.ย. 65 ให้ฐานข้อมูลทุกระบบขับเคลื่อน ด้าน “สภาพัฒน์” เร่งสำรวจความเห็น “ตัวอย่างเมนูแก้จน” จัดเป็นความลับ คาดปีนี้คิกออฟ “มหกรรมแก้จน” 1.9 หมื่นโครงการ คาดใช้งบขับเคลื่อนปี 250 ล้าน

วันนี้ (9 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (8 มี.ค.) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

แจ้งให้เร่งขับเคลื่อน ตามแนวทางการดำเนินงาน “ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่” นโยบายขจัดความยากจนของรัฐบาล ตามข้อสั่งการของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

“เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565”

เนื้อความในหนังสือ ระบุให้สนองนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการขจัดความยากจน ตามเป้าหมายคือ การแก้ปัญหาความยากจน แบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว

ให้จังหวัดใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform - TPMAP) เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน ที่ล่าสุด มี.ค. 65 มีคนยากจนเป้าหมายอยู่ในระบบ จำนวน 1,025,782 คน เพิ่มขึ้น 42,466 คน จากปี 2562 ที่อยู่ที่ 983,316 คน

ขณะที่ กลุ่มครัวเรือน/เปราะบาง ในปี 2562 มีจำนวนครัวเรือน/คนเปราะบางทั้งประเทศ 4,104,450 ครัวเรือน 10,754,205 คน

หนังสือระบุว่า ในระดับพื้นที่ให้ “นายอำเภอ” เข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหา ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เน้นนโยบายอยู่รอด พอเพียง และ ยั่งยืน

“ให้จังหวัดจัดตั้ง ศจพ.จังหวัด และจัดทำแผนครัวเรือน ตั้งทีมพี่เลี้ยงร่วมกับครัวเรือน ให้เป็นรูปธรรม มีส่วนร่วมนำวิเคราะห์ทัศนคติทักษะ ทรัพยากร ทางออก โดยกำกับและติดตามการรายงานผลการดำเนินงานของ ศจพ.ทุกระดับ และบันทึกข้อมูลลงใน“แฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย” Logbook ของระบบ TPMAP

หนังสือยัง ระบุถึงข้อสั่งการของปลัด มท. ที่ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ สร้างความเข้าใจกับ ศพจ. โดยเน้นเรื่องเร่งด่วนคือสำรวจคนจน กลุ่มเป้าหมายให้ครบ ด้วยระบบ Thai QM ของกรมการปกครอง

“โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอ ร่วมสำรวจปัญหาทุกมติ ทั้งบ้านที่อยู่อาศัยไม่มีทะเบียนบ้าน ปัญหายาเสพติด เงินกู้นอกระบบ การไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน หรือ ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น”

กระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของ มหาเถรสมาคม ซึ่งมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธาน และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เป็นกรอบแนวทางเพื่อวัดจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน

ตอนท้ายหนังสือระบุว่าได้ มอบหมายศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สายด่วน 1567 รับปัญหาเพื่อส่งต่อข้อมูลให้ ศพจ.

สำหรับนโยบายดังกล่าว มท. และปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่มอบนโยบาย กับทุกภูมิภาคตลอดเดือน ก.พ.และ มี.ค. โดยวันที่ 11 มี.ค.นี้ เป็นเวทีสุดท้าย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจัดที่ จ.ขอนแก่น

ข้อมูลของ สภาพัฒน์ ฝ่ายเลขานุการนโยบาย และกระทรวงงหมดเาไทย ระบุว่า ปัจจุบัน มีการจัดตั้ง ศจพ.จังหวัด 76 ศูนย์ และ กทม. 1 ศูนย์ มีผู้ว่าฯเป็นประธาน, ศจพ.อำเภอ 878 ศูนย์ ศจพ.เขต 50 ศูนย์ และ ศจพ.เขตเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง/เมืองพัทยา มีนายอำเภอเป็นประธาน

ขณะที่ ระดับตำบล มีปลัดอำเภอเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติ 7,245 ทีม แบ่งเป็น ระดับตำบล 7,079 ทีม และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 166 ทีม

ยังมีทีมพี่เลี้ยง ระดับพื้นที่ (ข้าราชการ นักศึกษา) 1 ทีม 3-5 คน ดูแล 10-15 ครัวเรือน ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือน ที่เข้าไปไปเคาะประตูทุกบ้าน-รายครัวเรือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดย ศจพ.ทุกระดับ จะใช้งบประมาณปีละ 250 ล้านบาท หรือมีค่าใช้จ่ายแห่งละ 30,000 บาท//ปี ลงในระดับตำบล

ล่าสุด สภาพัฒน์ ทำหนังสือสำรวจข้อมูล “เมนูแก้จน” เก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ เก็บข้อมูลเข้าระบบ TPMAP สอบถามเป้าหมายแล้ว

เช่น อุดหนุนค่าเช่าบ้านผู้มีรายได้น้อย โดยได้รับส่วนลดค่าเช่าบ้าน (คูปอง) เหมือนสหรัฐและเนเธอร์แลนด์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในหมู่บ้านยากจนและห่างไกล เช่นเดียวกับจีน และสามารถนำไปขายได้ โดยรัฐช่วยลงทุนและเป็นหุ้นส่วน

การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี การหาเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นให้กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย กรณีศึกษาของอินเดีย แจกจ่ายสินค้า/คูปองแลกสินค้าบริโภคพื้นฐาน

ตัวอย่างเช่น “โครงการแสตมป์อาหาร” ของสหรัฐอเมริกา อุดหนุนราคาสินค้าที่ครัวเรือนยากจนมักบริโภค เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เหมือนตูนิเซีย ที่อุดหนุนสินค้าด้อย คือ ขนมปังและธัญพืชบางประเภท

สภาพัฒน์ ยังสำรวจครัวเรือนในระบบ “แฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย” (logbook) 477,324 ครัวเรือน จากทั้งหมด 12,208,913 ครัวเรือน

สำรวจปัญหาของครัวเรือน 126,759 ครัวเรือน เพิ่มเติมปัญหาลงในระบบ logbook และแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 54,079 คน

รวมถึงการเพิ่มเติมครัวเรือนใหม่ในระบบ logbook จำนวน 7,205 ครัวเรือน ใน 5 จังหวัด

ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า โครงการแก้จน จะทยอยออกไปลงสู่เป้าหมายรายหัว-รายครัวเรือน ในปี’2565-66 จำนวน 19,822 โครงการ รวมกับ “มหกรรมแก้จน” ที่สภาพัฒน์จัดในทุกภูมิภาค


กำลังโหลดความคิดเห็น