xs
xsm
sm
md
lg

มหาดไทย แจ้งไม่พร้อมสรุป ปมรายงานสิทธิชุมชน ค้าน "เมกะโปรเจก 8 พันล้าน" ทางเลียบเจ้าพระยา แม้ถูกเบรกยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย แจ้งครม. ปมรายงานสิทธิชุมชน ค้าน "เมกะโปรเจก 8 พันล้าน" ทางเท้าเลียบเจ้าพระยา หลังศาลปค.สูงสุด มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเมื่อปี 63 ย้ำแม้ "กทม."ชะลอโครงการไปแล้ว แต่ มท.ไม่สามารถหาข้อสรุปการดำเนินการระยะต่อไปได้ เกรงข้อสรุป "สิทธิชุมชน" อาจไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปค. ยันพร้อมชี้แจง หากได้ข้อยุติบางประการ

วันนี้ ( 7 มี.ค.2565) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อแจ้งความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ประกอบวาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานผลการดำเนินการต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (อสม.)

[รายงานผลการตรวจสอบที่มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีคัดค้านโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา)

กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า จากการพิจารณา ประเด็น "สิทธิชุมชน กรณีคัดค้านโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" พบว่ากรณี "กลุ่มประชาชนผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" ขอให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

เป็นกลุ่มเดียวกันกับ "เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม" ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส.88/2561 ขอให้ศาลเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา

ให้ ครม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มท. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ กทม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด

และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ห้ามมิให้กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ซึ่งปัจจุบัน กทม.ได้ชะลอการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการไว้แล้ว

"ทั้งนี้หากจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม. ในระหว่างนี้จะไม่สามารถได้ข้อสรุปผลการพิจารณาหรือกำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปได้อย่างชัดเจน และข้อสรุปดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางหรือศาลปกครองสูงสุด"

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลปกครองกลางหรือศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่ยุติประการใดแล้ว กระทรวงมหาดไทย จักได้แจ้งให้ สลค. และ กสม. ทราบในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ

สำหรับงบประมาณที่เบิกจ่าย โครงการนี้ มท. แจ้งว่า กทม. ได้รับงบอุดหนุน "งบกลาง" ปี 2558-2559 โครงการระยะแรก เป็น ค่าเบี้ยประชุม 2 ล้านบาท ค่าดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท 120 ล้านบาท

ปี 2560 รัฐจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 247,400,000 บาท โดย กทม.และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีโครงการบ้านมั่นคง รองรับประชาชนที่รื้อย้ายออกจากพื้นที่

"สำนักการโยธา กทม. ระบุว่า จากสิ่งปลูกสร้างที่สำรวจ 282 รายการ ประมาณการค่าช่วยเหลือ 104,530,599 บาท เป็นบ้านเรือนที่รื้อย้าย 272 หลัง แต่ปัจจุบันบ้านเรือน ระหว่างสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รื้อย้ายแล้ว 165 หลัง ช่วยเหลือรวม 67,744,207.50 บาท คง เหลือบ้านเรือน 107 หลัง และสิ่งปลูกสร้าง 10 รายการ"

ปี 2560-2564 รัฐอนุมัติจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจดำเนินโครงการ จำนวน แบ็งเป็น ช่วงที่ 1 สะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน ระยะทาง 2.99 กม.จำนวน 1,770,000,000 บาท ช่วงที่ 2 กรมชลประทานสามเสนถึงคลองรอบกรุง ระยะทาง 3.26 กม.จำนวน 2,470,000,000 บาท

ช่วงที่ 3 สะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.20 กม.จำนวน 2,061,500,000 บาทและ ช่วงที่ 4 คลองบางพลัดถึงคองบางยี่ขัน ระยะทาง 2.98 กม.จำนวน 2,061,500,000 บาท

เป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง ช่วงที่ 1 จำนวน 30 ล้านบาท ช่วงที่ 2 จำนวน 44 ล้านบาท ช่วงที่ 3 จำนวน 34 ล้านบาท ช่วงที่ 4 จำนวน 34 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของโครงการ หลัง รมว.มหาดไทย เห็นชอบให้ กทม.จัดจ้าง เมื่อ 30 ม.ค.2560 ได้ดำเนินการถึงขั้นตอนเผยแพร่ ร่างขอบเขตของงาน แต่มีผู้แสดงคำวิจารณ์ 2 ครั้ง จึงไม่สามารถดำเนินการประมูลตามระเบียบได้

ปี 2561 กทม. มีหนังสือ 4 ฉบับ แจ้งรมว.มหาดไทย เพื่อขอความเห็นชอบดำเนินการจัดจ้างโครงการพัฒนาริมฝืงแม่นํ้าเจ้าพระยาช่วงที่ 1- 4 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดย กทม.ชะลอสั่งโครงการทั้งหมดไว้แล้ว

ขณะที่ผู้คัดค้าน เสนอให้รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนโครงการ โดยดำเนินการจัดทำผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA)

ควบคู่กับการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อวางแผนการพัฒนาแม่นํ้าเจ้าพระยา

โดยการศึกษาควรประเมินว่า กิจกรรมที่ดำเนินการในเขตกรุงเทพมหานคร จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อพื้นที่ตั้งแต่ด้นนํ้าจนถึงปลายนํ้าเจ้าพระยาตลอดสาย.


กำลังโหลดความคิดเห็น