หวั่น!กระบวนการตั้ง “กองทุนร่วม อปท. & สสส” เป็นทุนหมุนเวียนท้องถิ่น ผิดกฎหมายซ้ำรอย “บอร์ด สกลค.” ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลตั้งกองทุนใช้จ่ายกันเอง ไม่มีบัญญัติในกฎหมาย เหตุระเบียบมหาดไทยตั้งงบประมาณ (ฉบับ 2) ปี 63 - พ.ร.บ.กองทุน สสส. ปี 44 ไม่ได้ระบุไว้ “มหาดไทย” สบช่องสั่งแก้ระเบียบฯรองรับแผนตั้งกองทุนท้องถิ่นในพื้นที่ ที่สมทบกองทุน
วันนี้ (27 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เตรียมแก้ไขร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการตั้งงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสมทบกองทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ..
โดยมีวัตถุประสงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ สามารถร่วมทุนกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดตั้ง “กองทุนหรือทุนหมุนเวียนท้องถิ่น” ในอนาคต
ให้ตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมทบกองทุน
ภายหลัง คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย มหาดไทย เห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะทำงานศึกษาเพื่อปรับปรุงอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่และอำนาจของ อปท.
ต่อแนวทางการร่วมทุนกับ อปท. ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 และการแก้ไขข้อติดขัดที่เกี่ยวข้องกับการร่วมทุนของ อปท.
ร่างฉบับดังกล่าว ผ่านการยกร่างฯจาก สถ. สสส. และ คณะทำงานฯ และผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้ว
ที่ผ่านมา คณะทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการหารือกับหลายครั้ง ถึงแนวทางการร่วมทุน ยังมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายของ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการตั้งงบประมาณของ อปท.เพื่อสมทบกองทุน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2563
เนื่องจากยังไม่รองรับการให้อปท.สมทบงบประมาณดำเนินการในลักษณะจัดตั้งเป็น “กองทุน” ร่วมกับ สสส. ตาม พ.ร.บ.กองทุน สสส. พ.ศ. 2544
“กรณีกองทุน สสส. ตามมาตรา 5(4) และ มาตรา 21(3) แห่ง พ.ร.บ.กองทุน สสส. พ.ศ. 2544 ได้บัญญัติให้มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินที่จะให้เพื่อสนับสนุน แต่มิได้มีอำนาจในการจัดตั้งกองทุนร่วมกับอปท.ในระดับพื้นที่เพื่อให้ อปท.สมทบเงินเข้ากองทุน”
ซึ่งแตกต่างกับมาตรา 18(8) และมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2544 ที่ให้อำนาจสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถจัดตั้งกองทุนร่วมกับ อปท.ได้
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ ได้ยกข้อสังเกตของ คณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง เสร็จที่ 1625/2564 เรื่อง การดำเนินการความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัย และอยู่ระหว่างการดำเนินการส่วนแพ่งในคดีอาญา ว่าด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นของ สำนักงานคณะกรรมการ สกลค. ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทองค์การมหาชน ได้มีการจัดตั้งกองทุนเป็นการภายในขึ้น ทั้งๆ ที่มิได้มีการบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในกฎหมายแต่ประการใด
“มีการนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546”
รวมทั้งขาดการควบคุมกำกับดูแลโดยคณะกรรรมการบริหารหรือ คณะกรรมการที่มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐนั้นหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้การ ต่าง ๆ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบริหารงานของสำนักงาน สกลค. ตามมาตรา 62 ประกอบ กับมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
ข้อสังเกตดังกล่าว เห็นควรให้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติไม่ให้ หน่วยงานตั้งกองทุนภายใน ที่ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้อำนาจไว้
รวมทั้งมีมติให้การบริหารจัดการกองทุน ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องดำเนินการให้เป็นไป ตามวัตถุประสงค์และหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ในการจัดตั้งกองทุนนั้น
รวมทั้งต้องมีหลักเกณฑ์การควบคุมหรือกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อมิให้เกิดการทุจริตเบียดบังในการใช้จ่ายเงิน จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเช่นนี้ขึ้นอีก