กมธ.สาธารณสุข วุฒิฯ ถกเข้ม “รมช.สาธิต” 3 ปมถ่ายโอน รพ.สต. แนะชะลอก่อนกระทบประชาชน ชงทุกฝ่ายร่วมหารือ ชู สูตรปฏิรูปนำ เล็งชงนายกฯทบทวนใหม่
วันนี้ (25 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 401 (ฝั่ง ส.ว.) รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ที่มี นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ ในฐานะประธานการประชุม ได้มีวาระการพิจารณาแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในด้านการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อาทิ การบริหารจัดการภารกิจงบประมาณ และบุคลากร รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.ว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมหารือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุว่า ไม่ได้ขัดขวางการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. แต่เล็งเห็นว่า การดำเนินการถ่ายโอนโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา 3 ประเด็น ดังนี้ 1) การตีความการดำเนินการตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด อาจเข้าข่ายตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในหลายประเด็น เช่น การถ่ายโอนได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่ การดำเนินการตาม พ.ร.บ.เมื่อปี 2542 ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการวางกรอบให้การดำเนินการต้องสอดคล้องกับหมวดปฏิรูปประเทศ หรือไม่
2) ด้านการบริหารจัดการงบประมาณให้ รพ.สต. จะเบิกจากผ่านหน่วยงานใด เนื่องจากเดิมผู้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้บุคลากรในสังกัด รพ.สต. จะมาจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งคำนวณรวมค่าใช้จ่ายด้านการรักษารายหัวของประชาชนรวมอยู่ด้วย ทำให้ยังมีความซับซ้อนด้านการเบิกจ่าย ทั้งนี้ ยังมีประเด็นด้านค่าใช้จ่ายจากความก้าวหน้าในวิชาชีพ และเงินสนับสนุนที่ถูกนำมาใช้สร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. แจ้งความประสงค์ขอโอนย้าย ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า การจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไปลงที่ส่วนราชราชการใด เพียงพอหรือไม่ในอนาคต และ 3) ด้านทรัพยากรบุคคลสังกัด รพ.สต. ที่ประสงค์โอนย้ายและไม่ย้าย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ควรให้ข้อมูลและความมั่นใจต่อบุคลากรที่ไม่ประสงค์โอนย้าย และ ทางผู้รับโอนก็ต้องให้หลักประกัน ว่า มีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งเชื่อว่า สำหรับ อบจ.ที่มีศักยภาพไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าหากเป็น อบจ. ขนาดเล็ก ยังไม่พบความชัดเจน ซึ่งหากโอนย้ายไปแล้วเกิดปัญหากับบุคลากรเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ หากปัญหาข้างต้นยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนก็จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในที่สุด
ด้าน นายสาธิต กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. เป็นการกระจายอำนาจที่ตนเห็นด้วยในหลักการ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีข้อห่วงกังวลต่อการถ่ายโอนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจเกิดอุปสรรคด้านการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากต้องเป็นแนวปฏิบัติเดียวกันทั้งประเทศ โดยถ่ายทอดการสั่งการจากกระทรวงลงไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอรับทราบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ยังได้มีมติเห็นควรให้ดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการถ่ายโอน รพ.สต. โดยรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจาการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง การจัดสัมมนา และการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนชะลอการถ่ายโอนโดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือและออกแบบระบบการให้บริการ โดยอาจให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปเขตสุขภาพนำร่องให้เกิดความเชื่อมโยงกันในลักษณะเครือข่ายบริการในแต่ละเขตสุขภาพ